Starting a Business

จากคนรักเกาหลีสู่ผู้ก่อตั้งแบรนด์คิมบับไส้ทะลัก เริ่มต้นบนครัวคอนโดจนรายได้แตะหลักแสนบาท

 

Text : Yuwadi.s

     ธุรกิจที่เริ่มต้นจากความรักมักไปได้ดีเสมอ เพราะมีแพสชั่นเป็นตัวขับเคลื่อนให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุดเหมือนแบรนด์อาหารเกาหลีแบรนด์นี้ คิมบับไส้ทะลักที่เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อช่วงโควิด โดยผู้ก่อตั้งคือ เอิง-สุชาดา ช่วยเอียด ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกาหลีมากว่า 15 ปี ตั้งแต่เรียนจบภาษาเกาหลี ทำงานบริษัทเกาหลี กินอาหารเกาหลี ดูซีรี่ย์เกาหลี เรียกได้เป็นคนรักเกาหลีตัวจริงเสียงจริง เอิงมองเห็นโอกาสในช่วงโควิดที่มีเวลาว่างมากขึ้นประกอบกับเทรนด์ธุรกิจอาหารที่ขายในบ้าน ในคอนโดกำลังมาแรง เธอจึงตัดสินใจเริ่มธุรกิจโฮมเมดเล็กๆ จากสิ่งที่ถนัดจนสุดท้ายไปได้ดี สร้างรายได้แตะหลักแสนบาทเลยทีเดียว

 

 

เริ่มต้นบนครัวคอนโด

     เอิงได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่าช่วงที่มีเวลาว่างตอนโควิด ได้ชวนเพื่อนมาทำอาหารเกาหลีกินกัน เลยเกิดไอเดียลองทำขาย เริ่มต้นจากในคอนโดก่อน แต่ผลปรากฏว่าการขายในคอนโดไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักคิมบับ เธอจึงขยายตลาดสู่โลกออนไลน์ ใช้โมเดลให้ลูกค้าพรีออเดอร์

     “เราเป็นพนักงานบริษัททั่วไป เรียนจบภาษาเกาหลี ทำงานบริษัทเกาหลี แล้วเรากับเพื่อนๆ ชอบทำอาหารกินกันอยู่แล้ว ทั้งคิมบับ ปิ้งย่าง จนช่วงโควิด เราไม่ได้ไปทำงานที่บริษัท มีเวลาว่าง เลยชวนเพื่อนๆ มาทำอาหารกิน  ตอนนั้นเทรนด์อาหารเกาหลีเริ่มมา คิมบับเริ่มมีคนขายมากขึ้น งั้นเราลองทำดูไหม จุดเริ่มแค่ขายในคอนโด แต่มันขายไม่ได้ เหมือนคนไม่รู้จักว่าเป็นแบบไหน เราเลยลองเปิดพรีออเดอร์ ใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ โปรโมตไปว่าเราขายคิมบับ คนเริ่มรู้จักก็สั่งเข้ามา เราก็ตั้งรอบเลยว่าเดือนหนึ่งจะส่งกี่รอบๆ ให้ลูกค้าสั่งล่วงหน้า แล้วเราก็ทำตามลูกค้าสั่ง”

     โดยเอิงเล่าว่าในช่วงแรกยังเป็นช่วงเวลาที่เธอจับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะไม่เคยขายอาหารส่งแบบเดลิเวอรีมาก่อน เธอจึงเริ่มต้นจากการหาข้อมูลว่าร้านทั่วไปทำแบบไหน จนในที่สุดเธอก็เรียนรู้และใช้การขายแบบพรีออเดอร์ในจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะเริ่มขยายตลาดเข้าสู่แอปพลิเคชั่นเดลิเวอรีและออกบูธ

     “เราก็หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่าร้านต่างๆ ที่ทำกันในเดลิเวอรีทำยังไง ส่งแบบไหน คิมบับของเรา ไม่ได้ทำให้ลูกค้ากินเลย เราทำเสร็จแล้วต้องส่งให้ลูกค้าแต่ละที่ ครั้งแรกที่ส่ง เราจองแมสเซ็นเจอร์ของแอปฯ เดลิเวอรี เขาก็จะมีการตั้งรูท จัดส่งสถานที่แบบ 1 2 3 4 เราก็จะจัดเรียงเส้นทางว่าลูกค้า 4 รายนี้จะอยู่ตรงไหน เขาก็จะไล่ส่ง แต่อาหารเรามันเป็นอาหารที่ทำขึ้นมาสดใหม่ ไม่ได้ใส่สารกันบูด เก็บไว้ข้างนอกไม่ได้นาน ต้องรีบส่งแต่เช้า ช่วงแรกส่งเช้ามาก เริ่ม 7-8 โมงเพื่อให้เสร็จก่อนเที่ยง เป็นลักษณะนี้”

 

 

มัดใจลูกค้าด้วยวัตถุดิบพรีเมี่ยมและไส้แน่นแบบจุกๆ

     ท่ามกลางร้านอาหารเกาหลีเกิดใหม่มากมาย หนึ่งในจุดเด่นของร้านคิมบับไส้ทะลักที่ทำให้มัดใจลูกค้าได้อยู่หมัดนั่นคือเรื่องของรสชาติที่อร่อย ใช้วัตถุดิบพรีเมี่ยม นำเข้าจากเกาหลี นอกจากนี้ยังให้ไส้แน่นแบบจุกๆ สมชื่อร้านคิมบับไส้ทะลัก

     “จุดเด่นของเรา เราจะใช้วัตถุดิบหลักๆ เป็นสินค้านำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด เช่น ซอส สาหร่าย แฮม ข้าวก็ใช้ข้าวญี่ปุ่น 100% บางตัวมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่ต้นทุนของคิมบับค่อนข้างสูง เราเคยพยายามที่จะลองเลือกใช้ตัวอื่นแทน เพื่อปรับให้ต้นทุนมันพอเหมาะ แต่ในที่สุดคือมันไม่ได้ จุดเด่นเราเลยอยู่ที่วัตถุดิบพรีเมี่ยมจริงๆ ดีที่สุด เราจะไม่มีการลดต้นทุนวัตถุดิบเลย ส่วนเมนูที่ลูกค้าชอบจะเป็นมาม่าไก่เผ็ดชีส เราคิดขึ้นมาเอง มีความแปลกใหม่ อีกอันที่ขายดีคือไส้พุลโกกิ ใช้เนื้อสะโพกหมักกับซอสเข้มข้น ม้วนกับวัตถุดิบอื่นๆ เราไม่หวงไส้ข้างใน ไส้คิมบับของเราจะแน่นมากๆ แล้วข้าวจะน้อย นี่คือจุดเด่นหลักๆ”

     สำหรับการทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก เอิงเล่าว่าเริ่มต้นจากทวิตเตอร์ก่อนจะขยายไปช่องทางอื่นๆ แต่ทวิตเตอร์ก็ยังเป็นช่องทางหลักเพราะกลุ่มลูกค้าเหมาะกับตัวสินค้า

     “ตอนเราเริ่ม เราไม่ได้ยิงแอดเลย แต่จะเน้นการโปรโมผ่านอินฟลูฯ ชื่อดัง เริ่มต้นจากการฝากร้านแล้วก็มีการส่งให้อินฟลูฯ รีวิว แต่เป็นการให้เขารีวิวตามจริง มีลูกค้าเริ่มมากรีวิวให้ เลยเกิดการรีวิวเยอะขึ้นมากๆ ในทวิตเตอร์ ทำให้ร้านเราเป็นที่รู้จักในทวิตเตอร์และไปได้ดีกว่าในแพลตฟอร์มอื่น ด้วยความที่กลุ่มลูกค้ามันตรงกัน ความเป็นเกาหลีมันค่อนข้างบูมในทวิตเตอร์ด้วย”

 

 

     โดยในปัจจุบัน ธุรกิจเริ่มมีการเติบโตและมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 3.5 -5 แสนบาทต่อเดือน โดยเอิงเล่าว่าธุรกิจมีการขยายตัว จากที่เริ่มต้นจากการพรีออเดอร์อย่างเดียว ในตอนนี้มีการเข้าสู่แอปฯ เดลิเวอรีและออกบูธ

     “พรีออเดอร์มันมีข้อจำกัด ความต้องการในการรอของลูกค้ามันซาลง เราเลยต้องรองรับลูกค้ามากขึ้นและช่วงหลังคนไม่ได้ทำงานที่บ้านแล้ว คนก็จะไปที่ต่างๆ มากขึ้น เราเลยเริ่มออกบูธ เรารู้สึกว่าการไปออกบูธมันเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ไม่ได้เล่นแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เข้ามาเห็น หรือคนสูงอายุที่สั่งไม่เป็นก็ได้เจอหน้าร้านเราที่ต่างๆ เขาได้ลองกิน เปิดโอกาสให้ร้านเรามากขึ้น”

     เอิงได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจให้ฟังว่าเป็นเพราะเธอทำธุรกิจแบบไม่ได้โฟกัสที่ผลกำไรเป็นหลัก แต่มองไปถึงเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายให้คนอื่นด้วย

     “เราไม่ได้โฟกัสในผลกำไร ว่าเราต้องได้รับกำไรกลับมาเท่าไหร่ ตอนเราเริ่มทำ ผลประโยชน์มันไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่มันเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้อีกหลายคนทั้งที่เราเป็นแค่ธุรกิจโฮมเมดเล็กๆ เช่น ไรเดอร์ที่ได้ออเดอร์ หรือเพื่อนๆ ที่โดนลดเงินเดือนช่วงโควิดก็มาช่วยเรา ญาติเรา น้องเรามาช่วยเราก็มีรายได้ เรารู้สึกว่าธุรกิจของเราคือการแบ่งปันและการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า เราได้ คุณได้ ลูกค้าก็ได้ความพึงพอใจสูงสุดเพราะทุกคนมีใจในการทำธุรกิจร่วมกัน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup