Starting a Business

ทิ้งเงินเดือนหลักแสนมาขายต้นไม้! เปิดเคล็ดลับหนีตายช่วงต้นไม้ขาลงของ Treeno.9 สู่ยอดขายหลักล้าน

 

Text : Yuwadi.s

     ถ้าเป็นคุณจะเสี่ยงทิ้งเงินเดือนหลักแสนในเมืองกรุงฯ มาขายต้นไม้ไหม? เพราะโอกาสไม่เคยรอใคร หากพลาดไปอาจจะไม่ย้อนกลับมา จึงทำให้อดีตมนุษย์เงินเดือนที่มีอาชีพการงานมั่นคง ทำงานเป็นโบรกเกอร์เงินเดือนหลักแสนยอมทิ้งเงินเดือนมาขายต้นไม้ เธอคือ นิว - อรวรรณ แจ่มในจิตต์ โดยนิวเล่าว่าเธอจบทางด้านเศรษฐศาสตร์และทำงานด้านนี้มาตลอด แต่ในช่วงโควิดระบาด ลูกค้าส่วนใหญ่เซฟเงินในกระเป๋า ผู้คนลดจำนวนในการลงทุนลงประจวบเหมาะกับเธอปิ๊งไอเดียการขายต้นไม้ตอนไปบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ ทำให้เธอเห็นช่องทางที่จะสามารถทำกำไรได้ เธอจึงเริ่มต้นขายต้นไม้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

 

 

จากโบรกเกอร์ทิ้งเงินเดือนหลักแสนสู่แม่ค้าต้นไม้

     เธอเล่าย้อนไปในช่วงก่อนที่จะตัดสินใจลาออกว่า ตอนนั้นตลาดต้นไม้กำลังบูมมาก มีดาราหลายคนกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ หลังจากเธอลองขายดูประมาณ 6 เดือน ปรากฏว่ายอดขายดีมาก ทำให้เธอลองเสี่ยงออกจากงานท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรอบข้าง

     “ตอนนั้นไปบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ แล้วเพื่อนเขาขายต้นไม้ เราก็รู้สึกว่าต้นไม้ ราคามันแตกต่างกับราคาที่ขายในแพลตฟอร์มหรือว่าในตลาดที่ขายค่อนข้างเยอะ มองว่าตรงนี้มันเป็นกำไรได้นะ เลยลองขายดู เราทำร้านต้นไม้ได้ไม่ถึง 6 เดือน รายได้ค่อนข้างดี เลยลองเสี่ยงที่จะออกจากงานประจำ ตอนนั้นเงินเดือนค่อนข้างสูงเลย หลักแสนต่อเดือน ลาออกไปจะคุ้มไหม มีแต่คนเสียดาย แต่คิดว่ามันเป็นโอกาส ณ เวลานั้นที่เราอยากลองเสี่ยงดู”

     โดยในช่วงแรกเธอเน้นขายในแพลตฟอร์มอย่าง Shopee, Lazada โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยขายออนไลน์มาก่อนมาทดลองในการขายต้นไม้ เน้นการขายแบบรับมาขายไปและใช้จุดแข็งที่เจ้าอื่นยังขาดมาสร้างความแกร่งให้กับร้านของเธอนั่นคือเรื่องของการบริการและการขนส่ง

     “เราลองผิดลองถูกกับต้นไม้ค่อนข้างเยอะในช่วงแรก ไม่ได้โตมาในสายเกษตร รับมาขายไป โชคดีที่เราเข้าตลาดแรกๆ เลยทำให้มีฐานลูกค้า เรามองว่าเวลาซื้อต้นไม้ ความเสี่ยงมันคือการขนส่งและการบริการ แต่ถ้าลูกค้าชอบร้านเรา ส่วนใหญ่จะไม่กล้าไปซื้อร้านอื่น เพราะไม่รู้จะรับผิดชอบเรื่องการขนส่งไหม ต้นไม้ตรงปกไหม เลยยึดจุดนี้ว่าเป็นจุดแข็ง ยินดีการันตีคุณภาพ มันจะมีกรณีที่ขนส่งต้นไม้ไปถึงแล้วเสียหาย เราจะเน้นว่าเราโอนคืนไว ถ้าเสียหายจริงๆ เราโอนให้ลูกค้าเลย ไม่รอขนส่งมาเคลม เดี๋ยวเราค่อยติดตามขนส่งเอง เพราะมองว่าตอนที่ลูกค้าอยากได้ เขาจ่ายเงินเลย แต่พอเสียหาย รอขนส่งเคลมมันล่าช้า เราจะรับผิดชอบทันที เน้นความไวเป็นหลัก”

 

 

มองตลาดต้นไม้เหมือนตลาดหุ้น ทำให้ไหวตัวทันก่อนตลาดวาย

     อีกหนึ่งความได้เปรียบของ Treeno.9 นั่นคือสายตาที่เฉียบคมของนิวในการมองตลาดต้นไม้เหมือนตลาดหุ้น จากประสบการณ์ที่เธออยู่ในตลาดหุ้นมาก่อน ช่วงที่ต้นไม้สายแรร์ ไม้ด่าง ไม้หายากกำลังมาแรง เป็นช่วงที่พีคที่สุดของวงการต้นไม้แต่หลังจากนั้นกลับเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก หลายคนซื้อไม้มาในราคาแพงแต่ขายไม่ออก

     “มันมีช่วงที่พีคมากๆ ของธุรกิจต้นไม้ เราเล่นในกลุ่มไม้แรร์บ้าง ไม้อื่นบ้างเพื่อกระจายความเสี่ยง ช่วงที่ธุรกิจไม้แรร์ขาขึ้น โชคดีที่เราไม่ได้ลงไป 100% ตอนนั้นตลาดต้นไม้บูมมาก ทุกคนแห่มา เล่นไม้แรร์ สะสมและเอามาขาย แต่ก่อนขายใบละหมื่น เรารู้เลยว่าเดี๋ยวมันก็ลง เราเจอสภาวะนี้มาก่อนในตลาดหุ้น สุดท้ายฟองสบู่แตก แต่ตัวเราได้กำไรแม่พันธุ์ในรอบแรก รอบสองเราไม่ลงทุนเพิ่ม ที่เหลือเราปล่อย ได้กำไรทั้งหมด ตลาดต้นไม้มันไม่ต่างจากในตลาดหุ้นแต่ที่ทดแทนได้คือเขาจะปลูกได้เรื่อยๆ”

 

 

สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจด้วยการมองหาลูกค้าตัวจริง ตอบโจทย์ด้วยสินค้าที่หลากหลาย

     หลังจากในปีแรกที่เธอกระโดดเข้าไปเล่นวงการไม้แรร์ก่อนที่จะไหวตัวทัน หลังจากฟองสบู่แตก ทำให้เธอเริ่มมองหาความยั่งยืนให้ธุรกิจด้วยการมองหากลุ่มลูกค้าที่แท้จริงและเบนเข็มไปสู่การเพิ่มสินค้าที่หลากหลายให้สวน พร้อมทั้งเริ่มปลูกเอง ทำให้ในช่วงปีที่ 2 เป็นต้นไม้ Treeno.9 ขยายกิจการ จากการรับมาขายไปสู่การลงเป็นชาวสวนเต็มตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นการทำตลาดใน Facebook, Instagram จนค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

     “พอจบช่วงที่ตลาดต้นไม้บูมแล้ว คำถามคือบริษัทที่ทำขึ้นมาแล้ว ทำยังไงให้ลูกน้องอยู่ต่อได้ เราไม่อยากทำธุรกิจกระแส ถ้าจะยั่งยืนต้องทำยังไง เราเลยเน้นบุคลากรที่มีความสามารถในแต่ละแผนกที่ต่างกัน ตอนนั้นกำไรยังมีไม่มาก แต่เราลงทุนเรื่องนี้ มีทั้งด้านการตลาด ฝ่ายขาย คอนเทนต์ มาบรีฟรวมกัน มาแชร์ว่าจะทำยังไงให้ตอบโจทย์ในตลาดต้นไม้ปีต่อๆ ไป เราเลยมองเรื่องกลุ่มฐานลูกค้า ชัดเจนไปที่ 30-60 ปีขึ้นไป เขาจะเอนจอยกับการปลูกต้นไม้มากๆ เราลงไปเล่นไม้ใบ ไม้ดอก ดอกไม้กินได้และสมุนไพร เรามองเรื่องการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เราพัฒนาจนรู้ว่าฟอร์มประมาณนี้ ทรงประมาณนี้ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี เราคัดทั้งหมด ทำให้ต้นไม้เราแข็งแรงกว่ามาตรฐานทั่วไป เราเริ่มปลูกเองด้วย 50% ของต้นไม้ที่สวนจะเป็นผลผลิตของเราเอง”

 

 

     โดยนิวได้แชร์เคล็ดลับของการขายต้นไม้ให้ได้หลักล้านและทำธุรกิจต้นไม้ให้ไปต่อได้แม้ว่ากระแสจะลงว่าเธอทุ่มเทและทำงานเต็มที่ มองช่องว่างที่มีในตลาด พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับบุคลากร

     “นิวทำงาน 24 ชั่วโมง เรามองว่าธุรกิจที่เรากำลังทำ ทำเงินให้เราได้ ต้องเต็มที่กับมัน ศึกษาว่าจะเรียนรู้กับมัน ในช่วงที่ธุรกิจต้นไม้ซบเซา เราไม่เคยคิดว่ามันซบเซา แต่มีความคิดว่าธุรกิจต้องไปต่อ แล้วจะไปยังไง ก็ศึกษาสายพันธุ์ต้นไม้เพิ่มขึ้น ดูว่ามีธุรกิจไหนบ้างที่ต้องใช้ต้นไม้ในการดำเนินงาน เพราะฐานลูกค้าเราคือขายปลีกและขายส่ง ดูคนที่อยู่ในธุรกิจต้นไม้มา 40-50 ปีเขาบริหารงานกันยังไง ไปเป็นคู่ค้ากับเขา ที่สำคัญเรามองบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราอยากให้เขาทำงานให้เราได้ 100% เราต้องใช้ใจแลกใจ และให้จำนวนเงินที่เขาอยู่ได้”

     เธอได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของความคิด ต้องมาพร้อมกับความขยัน ไม่หยุดเรียนรู้และซื่อตรง

     “นิสัยเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานมาก่อนแบบนิว ถ้าเราอยากมีอิสรภาพทางการเงิน เราต้องมีเป้าหมายที่จะไปตรงนั้น เราโชคดีที่เคยพบปะกับลูกค้าที่เขามีเงิน ทำให้รู้ว่ายังมีอะไรอีกมากที่จะทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นถ้าเรามีเงิน ทำให้เรารู้ว่ายังมีช่องทางหาเงินได้แม้ว่าเราจะเป็นตัวเล็กๆ แต่เราต้องมีความขยัน ไม่หยุดเรียนรู้และซื่อสัตย์ด้วย ถ้าเราไม่มี เวลาเจอทางตันก็จะท้อง่าย แต่ถ้าเราไม่ท้อกับมัน ยังไงก็จะสำเร็จเข้าสักวัน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup