“ลุยไฟ” เนื้อย่างเดลิเวอรี่ ธุรกิจที่เกิดจากความไม่ยอมแพ้ แต่สร้างรายได้กว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน
Text : flymetothemoon
หากร้านอาหารที่หมายมั่นกำลังขายดิบขายดี เพราะอยู่ย่านนักท่องเที่ยวพลุกพล่านอย่างถนนข้าวสาร กลับต้องเจอวิกฤตโควิด-19 รายได้หดหาย จะทำอย่างไร?
หลายคนอาจท้อถอย ยอมแพ้ หรือเลือกที่จะอยู่เฉยๆ เพื่อรอเวลา แต่สำหรับ บอส-จักรพันธ์ ตั้งกุญแจทอง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาฮึดที่จะสู้ต่อไป ปรับตัวตามสถานการณ์เปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ที่เป็นเดลิเวอรี่และเน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทย เชื่อหรือไม่ การพยายามในครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้ได้ “ลุยไฟ” ร้านเนื้อย่างที่ผสมผสานความเป็นเอเซียและยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน จะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเท่านั้น หากยังมีรายได้เกินความคาดหมายอีกด้วย
เพราะไม่ยอมแพ้ จึงได้ผลเกินคาด
“เรามองว่าอาหารไทยมีโปรไฟล์ที่ชัดเจนมากในตลาดโลก ทำให้มีความตั้งใจเปิดร้านอาหารชื่อทศกัณฐ์ขึ้นบนถนนข้าวสาร เพราะกลุ่มเป้าหมายของร้านคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งหลังจากเปิดร้านได้ 3 เดือน ร้านทศกัณฐ์ก็มีรายได้เติบโตขึ้นมาก แต่พอต้องมาเจอกับวิกฤตโควิด 19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เราเลยต้องปิดหน้าร้านทศกัณฐ์เป็นการชั่วคราวและเปิดเดลิเวอรี่แทน แต่ด้วยเมนูอาหารในร้านทศกัณฐ์ถูกปรับเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะ จึงทำให้ไม่ตอบโจทย์คนไทยส่วนใหญ่” บอส เล่าถึงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ
เมื่อความพยายามแก้ปัญหาในครั้งแรกไม่สำเร็จ บอสก็ยังไม่ยอมแพ้ เขาเล่าต่อว่าจึงคิดทำร้านอาหารใหม่ขึ้นมาที่คิดค้นสูตรเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ นั่นคือร้านลุยไฟ โดยใช้เนื้อที่ยังมีอยู่จากร้านทศกัณฐ์นำมาใช้ในร้านลุยไฟ และปรับสูตรอาหารใหม่เพื่อให้เข้ากับคนไทย โดยร้านอาหารลุยไฟ มีจุดเด่นอยู่ตรงที่มีการปรุงเนื้อที่มีขั้นตอนทั้งย่างและเบิร์นไฟ ทำให้เนื้อมีรสชาติที่แตกต่างและเข้มข้นมากขึ้น มีกลิ่นหอมชัดเจน ลูกค้าสามารถเลือกระดับความสุกได้ โดยมีเมนูยอดฮิตคือเนื้อวากิวและเนื้อหมูซูวี สะดวกพร้อมทานในราคาหลักร้อย ที่สำคัญฯมีน้ำจิ้มให้เลือกกว่า 19 รสชาติ
บอส บอกว่าในแง่รายได้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด จนถึงวันนี้ ลุยไฟ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีสร้างรายได้กว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน
ทำให้คนรู้จักผ่านโซเชียลมีเดีย
แน่นอนว่าการทำการตลาดที่ได้ผลและรวดเร็วในยุคนี้หนีไม่พ้นช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ร้านลุยไฟก็เช่นกัน โดยบอส จะเน้นการตลาดออนไลนผ่าน ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ TikTok
“ลุยไฟให้ความสำคัญในการทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คนบนโซเชียลมีเดียเห็นแบรนด์ การลงรูปที่ให้เห็นสีและปริมาณที่แท้จริงของอาหาร การใช้เพลงประกอบคลิปที่กำลังนิยมรวมถึงคอนเทนต์ที่สื่อสารอย่างเป็นกันเอง เข้าใจง่าย เพื่อเข้าถึงลูกค้า ให้ข้อมูลในการสั่งน้ำจิ้มไหนเหมาะกับเนื้อแบบไหน คอนเทนต์กลุ่มนี้เป็นคอนเทนต์ที่ทำให้ลุยไฟปิดการขายได้เร็วที่สุด”
มากไปกว่านั้น บอสบอกว่า ในช่วงเริ่มเปิดร้านลุยไฟเขายังส่งอาหารให้อินฟลูเอนเซอร์หลากหลายกลุ่มช่วยรีวิวด้วย ทำให้ลุยไฟเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น “
อย่างไรก็ตาม บอสมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในปีนี้ ลุยไฟได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับการบริหารแบรนด์ ช่วยให้แบรนด์รู้ช่องทางในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ทำให้หาอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับกลุ่มลูกค้า รวมถึงความรู้อื่นๆ ที่สำคัญในการทำธุรกิจเช่น ระบบแฟรนไชส์ แนวโน้มความต้องการอาหารของลูกค้าต่างชาติในอนาคตและการถ่ายรูปสินค้าให้น่าสนใจ
“เดลิเวอรี่เเละโซเชียลมีเดียเป็น 2 ช่องทางที่สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีเพราะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและทำให้ยอดขายมากขึ้น”
นอกจากร้านอาหารเดลิเวอรี่ลุยไฟแล้ว อันที่จริงบอสและครอบครัว ยังมีร้านอาหารออนไลน์ลีนไฟ และร้านอาหารที่มีทั้งเดลิเวอรี่และหน้าร้านอย่าง The Jungle Bar Salad และร้านทศกัณฑ์ที่กำลังจะกลับมาเปิด รวมถึงร้านอื่น ๆ ที่รวมทำกับพาร์ทเนอร์อีกด้วย
“สำหรับการจัดการเรามีทีมที่แบ่งส่วนกันอย่างชัดเจนอย่างทีม Production, Marketing และทีม Operation ที่มีอยู่ 2 ทีม ทำให้การจัดการร้านอาหารต่างๆ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ในส่วนเดลิเวอรี่ลุยไฟมีกระแสตอบรับที่ดีแต่เมื่อเปลี่ยนมาทำในรูปแบบเดลิเวอรี่ เราก็ได้พบความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่ได้เจอในตอนทำร้านออฟไลน์ นั่นคือระดับความสุกของเนื้อที่เพิ่มขึ้นเองจากขนส่ง เราได้แก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมพนักงานและเพิ่มเวลาในการพักเนื้อเพื่อไม่ให้เนื้อสุกเพิ่มขึ้น”
สำหรับเป้าหมายในอนาคต บอสบอกว่า เขายังมีแผนเพิ่มคลาวด์คิทเช่นเพื่อการบริการที่เร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าถ้าทุกคนมีความตั้งใจ เรียนรู้และพัฒนาจะต้องประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเหมือนกับลุยไฟอย่างแน่นอน
FB : LUI FIRE - ลุยไฟ
ผู้ประกอบการจาก“กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup