ทำยังไงให้กระเป๋ารักษ์โลกเป็น It Bag! aNYbag แบรนด์กระเป๋าที่ทอจากขยะพลาสติก 2 ปี โต 3 เท่า
Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
หากพูดถึงแฟชั่นกระเป๋าประเภท “It Bag” ซึ่งหมายถึงกระเป๋าที่ได้รับการยอมรับว่าควรค่าแก่การมีไว้ในครอบครอง It Bag โดยส่วนใหญ่มักเป็นกระเป๋าแบรนด์หรูราคาแพงที่ได้รับความนิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยไม่เสื่อมคลาย คำถามก็คือกระเป๋ารักษ์โลกที่ทำจากขยะพลาสติกมีสิทธิ์จะเป็น It Bag หรือ “ของที่ต้องมี” ได้หรือไม่
ดูเหมือน อเล็กซ์ ดาแบกห์ เจ้าของโรงงานเครื่องหนังในนิวยอร์กรุ่นที่สอง ผู้สืบทอดธุรกิจจากบิดาจะต้องการให้เป็นเช่นนั้น ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิด เขาใช้เวลารวบรวมวัสดุที่เป็นถุงและพลาสติกทั้งหลาย และนำมาแปรรูปเป็นกระเป๋าถือ และกระเป๋าสะพายที่ขายได้ราคาตั้งแต่ 98-248 ดอลลาร์ฯ ทั้งยังได้รับความนิยม แม้กระทั่งนางแบบชื่อดังอย่าง มิแรนด้า เคอร์ ยังอุดหนุน และแบรนด์สินค้า เช่น อาดิดาส และราล์ฟ ลอเรน ก็ให้ความสนใจ
เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นกระเป๋า aNYbag
อเล็กซ์เล่าถึงที่มาของธุรกิจครอบครัวว่าปิแอร์ ดาแบกห์ บิดาของเขาลี้ภัยสงครามกลางเมืองในเลบานอนเดินทางมายังนิวยอร์ก สหรัฐฯ ช่วงปลายทศวรรษ 1970 พร้อมเงินติดตัว 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ และได้ทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องหนังซึ่งดำเนินกิจการโดยครอบครัวชาวเกาหลี หลังจากเรียนรู้งานจนช่ำชอง ปิแอร์ก็ได้ออกมาทำธุรกิจเองเมื่อปี 2525 โรงงานของครอบครัวดาแบกห์มีชื่อว่า พาร์ค เอเวนิว อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันบนพื้นที่ 6,000 ตารางฟุต พวกเขารับจ้างผลิตกระเป๋าให้กับแบรนด์ต่างๆ
หลังจากที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา อเล็กซ์สังเกตว่าที่โรงงานของเขามีขยะที่เกิดจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก พลาสติกเหล่านี้ไม่ย่อยสลายและสามารถตกค้างในธรรมชาติได้นาน 400-1,000 ปีเลยทีเดียว เขาจึงคิดจะเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นสินค้าแฟชั่นที่ใช้งานได้
อเล็กซ์เริ่มรวบรวมขยะพลาสติกประเภทถุงใส่อาหาร ถุงซิปล็อก ถุงขนมปัง และพลาสติกกันกระแทกในกล่องพัสดุ โดยเก็บจากบ้านตัวเอง จากคนในชุมชน จากร้านของชำ และตามโรงเรียนต่างๆ จนสามารถรวบรวมได้ 1,600 ปอนด์ หรือราว 725 กิโลกรัม จากนั้นก็คิดว่าหากเขาสานหนังให้เป็นกระเป๋าได้ ทำไมเขาจะสานพลาสติกไม่ได้
เมื่อคิดได้เช่นนั้น อเล็กซ์ก็ลองผิดลองถูก ใช้เวลา 3 เดือนจึงได้วิธีที่ลงตัว นั่นคือนำพลาสติกที่ล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้วมาตัดเป็นแถบ รีดด้วยความร้อนให้ติดกันเป็นเส้นยาวและม้วนไว้เพื่อนำไปทอด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กี่” ทอผ้า พลาสติกที่ถูกทอเป็นผืน อเล็กซ์นำไปเย็บเป็นกระเป๋าต้นแบบภายใต้แบรนด์ “เอนี่แบ็ก” (aNYbag) และจัดแสดงในงาน ReFashion Week NYC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐนิวยอร์กประกาศแบนถุงพลาสติกพอดี
2 ปี aNYbag ยอดขายเติบโต 3 เท่า
อเล็กซ์รู้ว่าแม้จะมีกฎหมายจำกัดการใช้ถุงพลาสติก และขยะประเภทนี้ก็ยังหมุนเวียนมากมายอยู่ดีเพราะถุงพลาสติกรีไซเคิลยาก ก่อปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานรีไซเคิล ครั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจผลิตกระเป๋าหนังและโรงงานของอเล็กซ์ได้รับผลกระทบจากยอดการผลิตที่ลดลง
เขาจึงตัดสินใจเบนเข็มไปผลิตกระเป๋าที่ทำจากขยะพลาสติกโดยเริ่มฝึกคนงาน 40 คนให้รู้จักใช้กี่ทอผ้าเพื่อทอพลาสติก จากนั้นก็เพิ่มกำลังการผลิตกระเป๋า aNYbag ผลปรากฏว่าในระยะเวลา 2 ปี aNYbag ยอดขายเติบโต 3 เท่า สร้างรายได้คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดให้กับบริษัท อเล็กซ์ต้องสั่งกี่ทอผ้าแบบพิเศษเพื่อใช้ทอแถบพลาสติกโดยเฉพาะ และจากที่ใช้แรงงานคนในการทอมือ ก็เปลี่ยนมาทอด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ แต่การตัดเย็บกระเป๋ายังคงเป็นงานทำมือเช่นเดิม
กระเป๋า aNYbag แต่ละใบผลิตโดยใช้ถุงพลาสติกประมาณ 95 ใบ สามารถรับน้ำหนักได้ 22-35 กิโลกรัม ที่สำคัญเป็นกระเป๋าที่มีอายุใช้งานยืนยาวตลอดชีพ หากกระเป๋าที่ซื้อไปชำรุดเสียหาย ลูกค้าสามารถส่งคืนบริษัทเพื่อซ่อมแซมฟรี aNYbag จำหน่ายทางเว็บไซต์ของบริษัท มี 3 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รุ่นคลาสสิก รุ่นมินิ และรุ่นวีคเอนเดอร์ สองรุ่นแรกเป็นกระเป๋าทรงถุงผ้าธรรมดา ส่วนรุ่นวีคเอนเดอร์เป็นกระเป๋าช้อปปิงทรงเดียวกับกระเป๋าของแบรนด์อิเกีย
อเล็กซ์เผยว่าปี 2564 ที่ผ่านมา โรงงานของเรากำจัดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากถึง 12,000 ปอนด์ หรือประมาณ 588,000 ใบ นอกจากมุ่งมั่นกำจัดขยะถุงพลาสติก บริษัทของเขายังรับผลิตกระเป๋าจากขยะพลาสติกให้กับแบรนด์ต่างๆ เนื่องในงานอีเวนต์ เช่น อาดิดาส ราล์ฟ ลอเรน บียอนด์มีท และแบรนด์เครื่องสำอางโคร่า ออร์แกนิกของมิแรนด้า เคอร์
“เหมือนว่าเราจะค่อยๆ กลายเป็นบริษัทแปรรูปขยะไปแล้ว” อเล็กซ์กล่าวพร้อมกับบอกเป้าหมายว่าต้องการลงทุนมากขึ้นในสเกลที่ใหญ่ขึ้น aNYbag เป็นกระเป๋าทำมือทั้งหมดโดยใช้วัสดุที่นำมาแปรรูปอย่างละเมียดที่สุด ในสายแฟชั่นยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม aNYbag นี่แหละที่เรียกได้ว่าเป็น It Bag หรือกระเป๋าที่ต้องมีในครอบครอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup