Starting a Business

“Island Kid” ร้านขนมสุดปังในทวิตเตอร์ของอดีตพนักงานราชการที่ผันตัวมาเปิดร้านจนรายได้แซงเงินเดือน!

 

Text : Yuwadi.s


Main Idea

-จากข้าราชการที่ชอบกินขนมและอยากลองทำขาย ศิตา ธิติธางกูร จึงตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนฝีมือจนพัฒนาสูตรความอร่อยขึ้นมา โดยมีบัตเตอร์เค้กเป็นจุดเปลี่ยน

 

-วันนี้ร้านขนม Island Kid ของศิตา กลายเป็นร้านขนมตัวตึงบนทวิตเตอร์ ชนิดที่เมื่อเปิดพรีออร์เดอร์ปุ๊บก็ขายหมดภายใน 10 นาที!


   

     ด้วยความชอบกินขนมและอยากลองทำขาย เลยหาสูตรทำ แม้ว่าช่วงแรกจะกินไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าไม่อร่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ ศิตา ธิติธางกูร ย่อท้อ เธอตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนฝีมือจนกระทั่งในที่สุดความอร่อยก็บังเกิด จนกลายเป็นร้านขนมชื่อ Island Kid ร้านขนมตัวตึงในทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามครึ่งหมื่นพร้อมด้วยแฮชแท็กรีวิวขนมของตัวเองชื่อ #islandkidreview ซึ่งเต็มไปด้วยลูกค้ามารีวิวให้

     แต่กว่าจะมาเป็นร้านขายดี รายได้แตะหลักแสนบาทนั้นต้องใช้เวลา โดยเธอเล่าว่าในช่วงแรกเธอยังทำขนมควบคู่กับงานประจำนั่นคือพนักงานราชการ

     “เราเป็นพนักงานราชการ ตอนนั้นยังทำงานอยู่ ส่วนแฟนกำลังหางานใหม่ เราเป็นคนชอบกินบราวนี่แล้วก็อยากทำกินเอง ให้แม่ช่วยซื้อเตาอบเล็กๆ ก็ดูสูตรในยูทูป ในกลุ่มเบเกอรี่ แล้วก็ลองทำไปเรื่อยๆ เราเองเป็นคนชอบขายของด้วย ก็เลยลองทำขายดู แรกๆ จะขายบราวนี่ คุ้กกี้ แต่ก็ขายแค่เสาร์อาทิตย์ ขายแค่คนใกล้ตัวก่อน การตลาดก็ยังทำไม่เป็น ตอนนั้นเราขายแค่ใน Instagram กับ Facebook ลองยิงแอดดูบ้างแต่ก็ทำไม่ค่อยเป็น”

     โดยในช่วงแรกๆ ศิตาเล่าว่าเธอฝึกทำขนมอยู่นานกว่าที่จะอร่อย ทั้งทำแจก ทำกินเอง สรรหาสูตร ปรับปรุงจนถูกใจและถูกปากทั้งตัวเธอและคนรอบข้าง

     “ทำขนมยากนะคะ ตอนแรกที่เราทำมันไม่อร่อยเลย ทำแล้วก็พลาด แล้วก็ไม่มีพื้นฐานการทำขนมเลย การทำมันค่อนข้างละเอียด ต้องชั่งตวง ความสะอาด เรายังไม่ค่อยเก่ง แรกๆ ก็ทำกินเอง ทำแจก ตัวแรกที่ทำคือบราวนี่ ทดลองประมาณ 3 เดือน ทำถี่มาก ทุกอาทิตย์ ให้คนรอบตัวชิมก่อนว่าโอเคยัง พอโอเคก็ค่อยทำขาย ส่วนตัวที่เป็นจุดเปลี่ยนของร้านที่ทำให้ลูกค้ามาซื้อเยอะคือบัตเตอร์เค้ก มีคนมาซื้อแล้วมันอร่อย เขาก็กลับมาซ้ำ ตัวนี้จะดังในร้าน ขายดีที่สุดในร้านเลย”

 

 

     นอกจากที่จะมีบัตเตอร์เค้กเป็นจุดเปลี่ยนของร้าน อีกหนึ่งอย่างที่เป็นจุดพลิกผันทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือการพาตัวเองเข้าไปขายในแพลตฟอร์มใหม่นั่นคือ Twitter ทำให้เธอเริ่มขายดีและมองเห็นโอกาสจนตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำร้านขนมเต็มตัว

     “ช่วงปีที่ 2-3 เราลองเข้าทวิตเตอร์เพราะเราเล่นอยู่แล้ว ก็ลองไปขายในนั้น พอมีลูกค้าคนแรกซื้อไป เขามารีวิวในทวิตเตอร์ เราก็สร้างแฮชแท็กขึ้น ลูกค้าก็เริ่มรีวิว คนก็ทวีตไปเรื่อยๆ ลูกค้าก็เริ่มเยอะขึ้นจากในทวิตเตอร์ จริงๆ ตอนแรกเราขายใน Facebook กับใน Instagram ก่อน บอกตรงๆ ว่าลูกค้าไม่ค่อยมี ใน Instagram จุดอ่อนเราอาจจะอยู่ที่การถ่ายรูป ยังสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ในทวิตเตอร์ที่เราคิดว่าลูกค้าเยอะ น่าจะเพราะว่าลูกค้าชอบความเรียลมากกว่า ชอบสตอรี่ในการเล่าเรื่อง เวลาที่เราจะทำขนมอะไรสักตัว เราจะถ่ายวิธีทำ ถ่ายวัตถุดิบมาให้ลูกค้าดู คนที่ผ่านมาจะได้เห็นได้อ่าน รับรู้ว่าเราใช้อะไร มีส่วนผสมอะไรบ้าง เขาค่อนข้างที่จะให้ค่ากับวิธีการทำและสตอรี่ของเค้กตัวนั้นๆ แต่ถ้าแพลตฟอร์มอื่นอาจจะเน้นการขายทั่วไป เล่าเรื่องไปคนอาจจะไม่ได้อ่านหรือดูรูปภาพมากกว่า”

     สำหรับจุดเด่นของขนมร้าน Island Kid ที่แม้จะไม่ได้มีเมนูให้เลือกเป็นสิบเมนู แต่ว่าเมนูที่มีก็อร่อยโดนใจลูกค้า ถึงขนาดว่าเปิดให้จองก็หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

     “จริงๆ ทุกเมนูของเรา ลูกค้าก็ชอบหมด เพราะเราไม่ได้ขายเยอะ มีแค่ 5-6 เมนู แต่บัตเตอร์เค้กจะมีทุกรอบ ตัวบัตเตอร์เค้กจะมีความเนื้อแน่น เวลาแช่ตู้เย็นจะได้ฟีลแน่นหนึบ ถ้าอยู่ข้างนอกก็จะนุ่มๆ แล้วก็จะหอมเนยมากเพราะเราใช้ส่วนผสมของเนยเยอะมาก เป็นเนยแท้ ไม่ใช่เนยเบลนหรือเนยเทียม เราเน้นส่วนผสมที่ดี พอลูกค้าได้ชิมเขาก็ชอบ เราทำสดใหม่ทุกครั้ง ไม่ได้ทำค้างไว้ก่อนส่งหลายวัน ส่วนคุ้กกี้ ลูกค้าก็แย่งกันจอง แม้ว่ามันจะเป็นคุ้กกี้เนยสดที่เบสิกมาก ใครก็ขาย แต่รสชาติที่เราทำจะเป็นแบบในสมัยก่อนที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เราเคยกินแต่เด็กๆ เราได้สูตรที่นานกว่า 40 ปีมาแล้ว เรานำมาปรับเปลี่ยน มีการใช้วัตถุดิบที่ดี ใช้เนยแท้ คุ้กกี้เลยอร่อยมากขึ้น”

     ส่วนรูปแบบการขายของทางร้านจะเป็นการเปิดให้จองเป็นรอบ โดยทางร้านจะประกาศให้จองผ่าน Line Official และหน้าทวิตเตอร์ ศิตาเล่าว่าอีกวิธีที่จะช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำคือการเก็บพวกเขาเอาไว้ใน Line Official จะได้เห็นเวลาเปิดให้จองในแต่ละรอบ สามารถกดจองผ่านไลน์ได้เลยทันที

 

 

     “วิธีการขายเราจะเปิดรอบ เมื่อก่อนจะประกาศเดือนละครั้งว่า เสาอาทิตย์นี้ขายอะไร ส่งวันไหน แต่ตอนนี้เราทำฟูลไทม์ เราจะประกาศอาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์หนึ่งจะส่ง 2 รอบ ส่วนใหญ่ประกาศปุ๊บก็หมดภายใน 10 นาทีเลย เพราะลูกค้าเก่าที่เขาอยู่ในไลน์จะรู้อยู่แล้วว่าเราจะประกาศผ่านไลน์ เขาก็กดสั่งเลย ตอนนี้เรามีลูกค้าในไลน์ 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ลูกค้าเราตอนนี้มาจากในทวิตเตอร์หมด เราก็จะเก็บเขาไว้ใน Line Official เพราะเขาอาจจะไม่ได้เห็นหน้าทวิตเตอร์เราตลอดว่าขายอะไรบ้าง แต่ในไลน์จะเห็นเวลาเรา Broadcast ทุกครั้งที่เปิดรอบ”

     อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น มีลูกค้ามากขึ้นจากในทวิตเตอร์จากประสบการณ์ของศิตานั่นคือการมีแฮชแท็กรีวิวของร้าน โดยในปัจจุบันเธอเล่าว่ายอดขายหลังจากที่ออกจากงานมาทำเต็มตัวจะอยู่ที่หลักแสนบาทซึ่งแซงรายได้ตอนที่ทำงานประจำไปแล้ว

     “การที่เราทำแฮชแท็กรีวิวของเรา ใครๆ ก็กดเข้าไป ในนั้นก็จะมีรีวิวขนมร้านเราอย่างเดียว ทุกคนได้อ่าน มันสำคัญตรงเรื่องการรีวิวของลูกค้า ถ้าเราไม่มีรีวิวเลย เล่าสตอรี่อย่างเดียว บางทีเขาก็นึกไม่ออกรสชาติเราจะเป็นยังไง เราก็ขาย อธิบายคนเดียว แต่พอมีลูกค้ามารีวิว เขาอธิบายในแบบของเขา ก็ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น”

     โดยศิตาได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำร้านขนมโฮมเมดเล็กๆ ที่ชื่อว่า Island Kid ให้ฟังว่าต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ตรงต่อเวลา ถึงจะทำให้สามารถรักษาลูกค้าเอาไว้ได้นานๆ

     “เราว่าน่าจะเป็นความซื่อสัตย์ บางทีเราทำขนมออกมาไม่ดี ถ้าไม่ทันจริงๆ เราจะแจ้งลูกค้าก่อน ขอยกเลิกหรือเลื่อนส่ง เราจะไม่ส่งให้ทั้งที่มันไม่ดี บางทีเขาไม่รู้หรอก แต่เรารู้ เรื่องของรสชาติ ถ้าเปลี่ยนนิดหนึ่ง ลูกค้าสามารถหายไปได้เลย อีกเรื่องคือการขนส่ง เนื่องจากเราเป็นออนไลน์ เรื่องขนส่งจะมีเวลาส่ง ถ้าส่งวันนี้จะต้องไม่เกินกี่โมง ไม่งั้นไม่ทันรอบส่ง พอไปถึงลูกค้า ขนมเสียแล้ว เราจึงต้องทำงานกับเวลาให้ดีด้วย”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup