Starting a Business

Force for Good กลยุทธ์สุดเจ๋งจากแบรนด์แฟชั่นที่เปิดชื่อคนงานบนป้ายให้ลูกค้าได้ฟินกับพลังความดี

 

Text : Vim Viva


Main Idea

- โดยทั่วไป สินค้าแฟชั่นจะระบุเพียงประเทศต้นทางที่ผลิต จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการกดขี่แรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยธรรม แต่สินค้าจากแบรนด์ Known Supply ทุกชิ้นที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเปรู อูกันดา กลับมีลายมือชื่อของคนงานที่ผลิตงานชิ้นนั้นๆ ด้วย

- Known Supply ถือเป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจแบบ force for good หรือใช้พลังสร้างความดีโดยเปิดเผยและโปร่งใสตั้งแต้ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีที่ได้สนับสนุนสินค้าเพื่อสังคม แต่ยังส่งผลดีต่อองค์กรอีกด้วย


 

     ต้องยอมรับว่าการแข่งขันอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นนั้นสูงมากโดยเฉพะกับแบรนด์ที่ยังไม่แข็งแกร่งหรือเป็นที่รู้จักพอ ผู้ผลิตหลายรายจึงพยายามคิดค้นกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง Known Supply” สตาร์ทอัพด้านแฟชั่นจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ก็เป็นอีกรายที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอสินค้าด้วยเทคนิคง่ายๆ นั่นคือการเปิดเผยชื่อของแรงงานผู้ถักทอหรือตัดเย็บสินค้านั้นๆ ทั้งนี้ คนงานจะเขียนชื่อด้วยลายมือตัวเองลงบนป้ายที่เย็บติดบนสินค้าแต่ละชิ้น ทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าคนงานที่ทำสินค้าชิ้นที่ซื้อมานั้นชื่ออะไร มาจากประเทศไหน

     โดยทั่วไป สินค้าแฟชั่นจะระบุเพียงประเทศต้นทางที่ผลิต และที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นหลายรายถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกดขี่แรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมเนื่องเพราะแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นเหล่านั้นโดยมากมาจากประเทศโลกที่ 3 ที่ไม่มีระบบหรือกลไกในการปกป้อง ทำให้ถูกมองข้ามจนนำไปสู่การเรียกร้องของผู้บริโภคให้เปิดเผยข้อมูลการผลิตอย่างโปร่งใส

     ที่ผ่านมา มีบางแบรนด์โดยมากเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นหรูที่ให้เครดิตผู้อยู่เบื้องหลังสินค้าแต่ละคอลเลคชั่นซึ่งโดยมากเป็นการเปิดเผยชื่อของดีไซเนอร์ผู้ออกแบบเท่านั้น ในขณะที่บรรดานายแบบนางแบบซึ่งนำเสนอสินค้าได้รับการบันทึกภาพและเผยแพร่ไปทั่ว แต่ผู้ชมผู้บริโภคแทบไม่รับรู้เบื้องหลังการผลิต ในหลายประเทศที่เป็นแหล่งรับผลิตสินค้าแฟชั่น อาทิ เวียดนาม จีน และบังคลาเทศ แรงงานโดยมากเป็นผู้หญิงมีสภาพการทำงานอย่างไร ถูกเอาเปรียบหรือไม่ หรือมีแรงงานเด็กปะปนอยู่ด้วยหรือเปล่า ไม่เป็นที่รับรู้   

    โคห์ล เครเซเลียส ผู้ร่วมก่อตั้ง ”Known Supply” มองเห็นประเด็นนี้ เขาจึงกำหนดให้สินค้าทุกชิ้นที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเปรู อูกันดา และอีกหลายโรงงานที่กระจายในอินเดียต้องมีลายมือชื่อของคนงานที่ผลิตงานชิ้นนั้นๆ โคห์ลชี้ให้เห็นหมวกบีนนี่กันหนาวสีแดงที่เขาใส่อยู่มาจากโรงงานในเปรู เมื่อพลิกดูป้ายด้านในจะเห็นชื่อมาริเบล เมริโนซึ่งเป็นคนงานที่ถักหมวกใบนี้  

 

 

      โคห์ลให้สัมภาษณ์ว่าการให้แรงงานเขียนชื่อลงบนสินค้าแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจว่า Known Supply พร้อมเปิดเผยทุกกระบวนการผลิตและมั่นใจว่าบริษัทปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และการกระทำของ Known Supply ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ รีเมค (Remake) องค์กรเอกชนระดับโลกที่ต่อสู้กับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่แสดงความชื่นชม Known Supply โดยระบุว่า “ความโปร่งใสเป็นก้าวย่างแรกในการเปลี่ยนแฟชั่นให้เป็นพลังในการทำความดี”   

     โคห์ลซึ่งนั่งเก้าอี้ซีอีโอเล่าว่าเขาไม่คิดวจะมาไกลขนาดที่ต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นการปฏิบัติต่อแรงงาน ก่อนที่จะมาเป็น Known Supply  สมัยเรียนมัธยมที่เมือง รัฐวอชิงตัน เขาและเพื่อนอีก 2 คนได้แก่ทราวิส ฮาร์ทานอฟ และสจ๊วต แรมซีย์รวมกลุ่มกันถักหมวกโครเชต์ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เด็กผู้ชายไม่ทำกันสักเท่าไร ด้วยดีไซน์ที่คิดค้นขึ้นมาทำให้หมวกสำหรับใส่เล่นกีฬาช่วงฤดูหนาวกลายเป็นสินค้าขายได้และฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

     กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กหนุ่มทั้ง 3 ก็ยังถักโครเชต์ขายและได้ขยับขยายเป็นสินค้าหลากหลายชนิดขึ้น ถึงช่วงปิดเทอม โคห์ล ทราวิส และสจ๊วตจะออกเดินทางไปประเทศที่สามเพื่อหาประสบการณ์ในการทำงานเป็นอาสาสมัคร  ช่วงปิดภาคฤดูร้อนหนึ่ง สจ๊วตไปเป็นอาสาสมัครที่ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองทางตอนเหนือของอูกันดาและได้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ลี้ภัยที่ต้องการมีอาชีพมีรายได้ไม่มัวแต่พึ่งพารัฐบาล สจ๊วตกลับมาเล่าให้เพื่อนอีก 2 คนฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้

     ทั้ง 3 จึงมีความคิดจะสร้างงานสร้างอาชีพโดยการสอนให้ผู้หญิงเหล่านั้นรู้จักถักโครเชต์ กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในปี 2007 พร้อมกับการก่อตั้งองค์กรเอกชนชื่อ Krochet Kids (KK) ชายหนุ่มทั้งสามช่วยฝึกอาชีพและสอนวิธีการขายสินค้าออนไลน์จนกลายเป็นอาชีพยั่งยืนโดยมีผู้หญิงเข้าร่วมกว่า 150 คน

 

 

     ปี 2017 หรือ 10 ปีต่อมา โคห์ล ทราวิส และสจ๊วตก็ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Known Supply ซึ่งสังกัด Krochet Kids เพื่อผลิตสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายออกสู่ตลาด เป้าหมายเพื่อทำธุรกิจแฟชั่นแบบมีมนุษยธรรมโดยผ่านการเชื่อมโยงผู้บริโภคไปยังผู้รังสรรค์ชิ้นงาน นั่นจึงเป็นที่มาของการระบุชื่อผู้ทำผลงานลงบนสินค้าและเชิญชวนให้ลูกค้าทำความรู้จักปูมหลังของแรงงานเหล่านั้นมากขึ้น ผลคือมีลูกค้าไม่น้อยเมื่อซื้อสินค้าไปแล้วเห็นชื่อคนทำก็ได้ส่งข้อความผ่านเว็บไซต์ของบริษัทไปยังผู้ผลิตผลงานเพื่อขอบคุณและให้กำลังใจ

     ปัจจุบัน ฐานการผลิตของ Known Supply  อยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ เปรู อูกันดา และอินเดีย โดยมากเป็นแรงงานยากจน และสินค้าถูกจำหน่ายตรงถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ผ่านคนกลาง Known Supply ถือเป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจแบบ force for good หรือใช้พลังสร้างความดีโดยเปิดเผยและโปร่งใสตั้งแต้ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทคาดหวังจะเห็นเพื่อนร่วมอาชีพในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ดำเนินรอยตาม

     การดำเนินธุรกิจตามแบบ force for good ไม่เพียงทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีที่ได้สนับสนุนสินค้าเพื่อสังคม แต่ยังส่งผลดีต่อองค์กรอีกด้วย เป็นต้นว่า สร้างความภักดีในกลุ่มลูกค้า ผู้บริโภครุ่นใหม่ใส่ใจมากขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอมีผลต่อโลก ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อไปจนถึงการสนับสนุนและภักดีต่อแบรนด์

นอกจากนั้น ยังตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์ เพราะภาพลักษณ์ที่ดีย่อมทำให้ได้รับการจดจำ ทำให้แบรนด์ถูกนึกถึงเมื่อลูกค้าต้องการสินค้า ส่งผลให้ยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นความรู้สึกความภาคภูมิใจให้กับพนักงานที่ได้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม วัฒนธรรมองค์กรเช่นนี้มักทำให้ลูกจ้างอยากร่วมงานและพันธมิตรต้องการสนับสนุน

              
ที่มา :

- https://fivemedia.com/articles/your-next-favourite-accessory-signed-by-the-person-who-stitched-it/
- https://brevity.marketing/being-a-force-for-good/
- https://www.forbes.com/sites/michellemartin/2018/04/23/how-this-apparel-brand-is-using-tech-to-humanize-fashion-and-empower-women/?sh=649d6f4914a3

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup