Starting a Business

พาไปส่อง 4 สตาร์ทอัพรักษ์โลก “Refill Store“ ร้านค้าติดล้อแบบเติมไม่เพิ่มขยะ

 

Text : Vim Viva

     เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมาระยะหนึ่งแล้วกับกระแส zero waste หรือการลดขยะให้เหลือศูนย์จนนำไปสู่โมเดลธุรกิจต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ Refill Store ซึ่งเป็นร้านค้าที่ลูกค้าสามารถนำภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่และใช้ซ้ำได้ไม่ว่าจะเป็นขวด กระปุก กล่องคอนเทนเนอร์ ถุงผ้า หรืออื่นๆ มาเติมสินค้าที่ร้านเพื่อเป็นการลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมโลก

     ข้อมูลระบุในแต่ละปี ทั่วโลกมีการสร้างขยะพลาสติกมากถึง 300 ล้านตันซึ่งเทียบเท่าน้ำหนักของประชากรโลกทั้งหมดรวมกัน โดยที่ขยะพลาสติกส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง พลาสติกห่ออาหาร และซองบรรจุภัณฑ์ต่างๆ สินค้าเกือบทุกชนิด ตั้งแต่อาหารไปจนถึงของใช้ในบ้านล้วนแล้วแต่หีบห่อที่แกะแล้วทิ้งเป็นขยะ แม้จะมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเติบโตแบบความยั่งยืน แต่ดูเหมือนทางเลือกต่างๆ ที่มีให้จะไม่เป็นที่นิยมนัก หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการติดอยู่กับความสะดวกสบายนั่นเอง  

     อย่างไรก็ตาม ยังมีสตาร์ทอัพหลายรายที่พยายามสกัดกั้นปัญหานี้ด้วยการเปิดธุรกิจ Refill Store แบบบริการถึงที่โดยใช้จักรยานหรือยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยหวังว่าการอำนวยความสะดวกในทุกด้านจะทำให้ผู้บริโภคหมดข้ออ้างในการใช้บริการและคาดหวังจะโมเดลนี้จะกลายเป็นต้นแบบของร้านค้าของชำในอนาคต ภายใต้หลักการ RRR- Reduce, Reuse และRecycle ไปดูกันว่ามีสตาร์ทอัพเจ้าไหนที่ทำบ้าง และพวกเขาดำเนินการอย่างไร    

 

 

     “รีฟิลเอเบิ้ล” (Refillable) สตาร์ทอัพที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองมุมไบ อินเดีย ก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยใช้โมเดลเดียวกับการส่งนมตามบ้าน แต่เปลี่ยนจากนมเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน สบู่เหลวล้างมือ และอื่นๆ รีฟิลเอเบิ้ลได้ดัดแปลงรถสามล้อตุ๊กๆ ให้เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ตระเวนไปตามชุมชนให้ลูกค้าสามารถนำขวดหรือแกลลอนมาเติมน้ำยาทำความสะอาดไปใช้

     ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นได้ รีฟิลเอเบิ้ลจะไปบริการถึงบ้านภายใน 48 ชั่วโมง สร้างความสะดวกและราคาสินค้ายังถูกกว่าทั่วไป 10-20 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะในมุมไบเมืองเดียว มีลูกค้าใช้บริการเดือนละมากว่า 2,000 ราย จนมีการขยายไปเมืองเบงกาลูรู และเตรียมเพิ่มบริการอีก 4 เมืองในอนาคต    

 

 

     อัลกราโม (Algramo) ก่อตั้งที่ซานเตียโก ประเทศชิลี โมเดลของอัลกราโมที่แปลว่า ”ชั่งเป็นกรัม” คือให้บริการของใช้จำเป็นตั้งแต่น้ำยาซักผ้า อาหารแห้ง ไปจนถึงอาหารสัตว์โดยเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่อย่างยูนิลีเวอร์ โดยลูกค้าสามารถสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท จากนั้นจะมีรถไปบริการถึงหน้าบ้าน หรือลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์ไปเติมได้ตามตู้รีฟิลที่ตั้งตามจุดต่างๆ กลุ่มเป้าหมายของอัลกราโมคือชนชั้นระดับล่างหรือยากจนในสังคม เพราะกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าได้คราวละน้อยทำให้ราคาแพงกว่าปกติราว 40 เปอร์เซ็นต์

     โมเดลนี้นอกจากอำนวยความสะดวกยังทำให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการลดขยะไปด้วย แม้จะไม่ใช่รูปแบบบริการที่ใหม่แต่ก็ได้รับการตอบรับดีจนล่าสุดขยายบริการไปยังสหรัฐฯ แล้ว โดยอัลกราโมได้จับมือเป็นพันธมิตรกับคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ และคลอร็อกซ์ซึ่งผลิตน้ำยาทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ประเดิมติดตั้งตู้รีฟิลสินค้าตามพื้นที่ต่างๆ ในนครนิวยอร์ก เชื่อว่าได้รับการตอบรับดีเช่นกันเพราะทั้งสะดวก ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   

 

 

     ซิคลัส (Siklus) สตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซียที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ อินโดนีเซียเป็นที่สร้างมลภาวะด้านขยะพลาสติกในท้องทะเลมากเป็นอันดับสองของโลก ทุก 20 วินาทีจะมีขยะปริมาณ 1 รถบรรทุกถูกปล่อยสู่ทะเล โดยมากเป็นบรรจุภัณฑ์และซองพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อบวกกับข้อมูลที่ว่าพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์

     ซิคลัสก่อตั้งเมื่อปี 2019 บริการสินค้าแบบปลอดบรรจุภัณฑ์มีทั้งแชมพู สบู่ ผงซักฟอก น้ำมันพืช ชา และกาแฟลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียอื่นๆ โดยจะมีรถจักรยานยนต์หรือรถสามล้อไปบริการถึงบ้าน บริการดังกล่าวเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางไปจนถึงระดับล่างเนื่องจากทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลา และเปลืองน้ำมันรถในการเดินทางไปซื้อสินค้าในห้าง

 

 

     รีฟิลแวน (Refill Van) รถจำหน่ายสินค้าแบบรีฟิลในนอร์ธแฮมตันเชียร์ อังกฤษที่เน้นจำหน่ายวัตถุดิบในครัว เช่น แป้งสาลี พาสต้า ถั่วต่างๆ ธัญพืช ชา กาแฟ ซีเรียล แต่ก็มีสินค้าประเภทของใช้ส่วนบุคคลบริการด้วย อาทิ แชมพู ครีมนวดผม สบู่ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่ ถุงแซนด์วิชใช้ซ้ำได้ และอื่นๆ อีกมากมาย

      สินค้าเหล่านี้ไม่มีแพคเกจจิ้งและหลายชนิดจำหน่ายแบบชั่งตวงวัด ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อในปริมาณที่ต้องการและใช้หมดเป็นครั้งๆ ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์และสามารถนำคอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าเองตามจุดที่สะดวก หรือจะนัดหมายให้รถไปบริการถึงที่ก็ได้

     รีฟิลแวนเริ่มให้บริการเมื่อเดือนพค. 2020 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากคนในชุมชน ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สนับสนุนวิถีชีวิตแบบยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะพลาสติก

ที่มา : https://www.greenqueen.com.hk/4-startups-refill-grocery-delivery/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup