Starting a Business

7 เช็กลิสต์ที่จะช่วยให้ไม่เจ๊งตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

 

     ผู้ประกอบการมือใหม่หลายคนมักจะกังวลใจเมื่อคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจ  เราเลยอยากแนะนำ 7 เช็กลิสต์เพื่อเตรียมตัวให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจแล้วไม่พัง

     1. ศึกษาธุรกิจว่าดีจริงไหม

         ก่อนจะเริ่มธุรกิจหรือคิดจะขายสินค้าอะไร ต้องสำรวจตลาดก่อนว่ามีความต้องการจริงไหม แล้วเรามีจุดแข็งอะไรที่จะสามารถแข่งขันได้ บางธุรกิจขายดีเพราะไหลไปตามกระแส ยิ่งต้องระวังว่ากระแสนั้นอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางคนทำธุรกิจขายดีก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะขายดีเหมือนๆ กัน 

     2. เขียนแผนธุรกิจ

         หลังจากมีไอเดียในการทำธุรกิจแล้ว ควรแปลงไอเดียทั้งหมดออกมาเป็นแผนธุรกิจ ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่าทำธุรกิจเล็กๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผนธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วการเขียนแผนธุรกิจเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างราบรื่น เพราะทำให้สามารถตรวจสอบทบทวนแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ทำให้คาดการณ์และกำหนดทิศทางของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังช่วยวางแผนทางการเงินอีกด้วย  

     3. มีเงินทุนสำรอง 6 เดือน

         ควรมีเงินสดสำรองไว้ใช้ยามที่ธุรกิจประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยการประมาณค่าใช้จ่ายที่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องที่ ซึ่งเงินสดสำรองนี้จะช่วยต่ออายุของธุรกิจ และช่วยลดความกดดันในเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจ ทำให้สามารถรับมือรับมือกับวิกฤตต่างๆ ได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว น้ำมันขึ้นราคา เป็นต้น 

     4. การตลาดและกลยุทธ์การขาย

         ผู้ประกอบการมือใหม่หลายคนเชื่อว่าเมื่อสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการตลาด  ซึ่งนี่เป็นความคิดที่ผิด ยิ่งถ้าเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ย่อมไม่มีใครรู้จัก  ฉะนั้น จึงควรทำการตลาด วางช่องทางการขาย กำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนว่าคือใคร และสำรวจว่ามีคู่แข่งในตลาดหรือไม่ หากมีควรคิดหาวิธีทำการตลาด

      5. เริ่มต้นในสเกลเล็กก่อน

         ควรเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ตามกำลังเงินและกำลังคนที่มี เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระที่มากเกิน ซึ่งจะเป็นเหมือนการทดลองตลาดดูก่อนด้วยว่าตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ เพราะถึงแม้จะศึกษาลู่ทางมาอย่างดี แต่พอมาทำจริงอาจไม่รอดก็ได้  

     6. เรียนรู้ที่จะรับความเสี่ยง

         ทุกวันของการทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงิน  ดังนั้น ระมัดระวังการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่กระนั้นก็อย่ากลัวจนไม่กล้าลงมือทำอะไรเลย อย่างน้อยการลงมือทำย่อมจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย

     7. ความอดทน

         หนึ่งในส่วนที่ยากที่สุดในการเป็นผู้ประกอบการคือความแข็งแกร่งทั้งกายและใจ ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมกับการทำงานหนัก และรับมือกับความเครียดตางๆ ที่จะต้องเจอระหว่างการทำธุรกิจ  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup