Starting a Business

เกือบเจ๊งเพราะโควิด พลิกยังไงสู่ยอดขาย 100 ล้านบาทในวันนี้ ฟังเจ้าของแบรนด์  NANA FRUIT

 

     แม้จะทำร้านอาหาร ทำ co-working ไม่ระสบความสำเร็จมาแล้ว แต่การลองกลับไปเปิดร้านอาหารอีก 2 แห่ง เพราะอยากรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะเป็นประสบการณ์ การเรียนรู้ แล้วยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนไม่ยอมแพ้ของ ฝน-นาขวัญ ตระการศิรินนท์ อีกด้วย

     ดังนั้น เมื่อคิดลุกขึ้นมาทำแบรนด์ผลไม้อบแห้ง NANA FRUIT (นานาฟรุ้ต) แบบ Healthy Snack เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รู้จักและจดจำแบรนด์ได้ จากยอดขายในปีแรกเพียง 10 ล้านบาท มาปีนี้แบรนด์ผลไม้อบแห้งสัญชาติไทยคาดว่าจะมียอดขายถึงหลัก 100 ล้านบาท

      “เหตุผลที่มาทำนานาฟรุ้ต เพราะว่าครอบครัวเราเป็นโรงงานทำผลไม้อบแห้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำแบรนด์เลยไม่มีใครรู้จักเรา เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าอยากจะสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักเรา โดยที่เราทำเป็น Healthy Snack เพราะตอนนั้นเรามองไปถึงเทรนด์โลก ไม่อยากทำอะไรที่มันมาๆ หายๆ แต่อยากทำอะไรที่ยั่งยืน Healthy Trend เลยตอบโจทย์มากที่สุด” นาขวัญเล่าถึงที่มาและแนวคิดในการสร้างแบรนด์นานาฟรุ้ต



     ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจผลไม้อบแห้งนานาฟรุ้ตจะดูไปได้ดีในช่วงปีแรก แต่ในปีถัดๆ มาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นที่ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่นั่นก็คือโควิด-19 เนื่องจากนาขวัญมีแบรนด์ผลไม้อบแห้งลาล่า ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของนานาฟรุ้ต วางเป้าหมายเน้นขายให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อโควิดมานักท่องเที่ยวหาย รายได้ที่กำลังไปได้สวยจึงลดวูบลงเหลือศูนย์แบบไม่ทันตั้งตัวจนทำให้ไปต่อไม่ได้ แต่ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้เธอไม่สามารถคิดถอยได้เลย เพราะสิ่งที่ต้องแบกรับไม่ใช่เพียงแค่ตัวเองและบริษัท แต่รวมไปถึงพนักงานทุกคน เธอจึงตัดสินใจวางแผนธุรกิจใหม่ทั้งหมด

      “เราได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการที่เน้นขายนักท่องเที่ยวเพราะร้านค้าที่เป็นร้านขายนักท่องเที่ยวก็คืนของเรากันมาเยอะมาก เลยคิดว่าคงไปต่อไม่ได้แล้วต้องลองหาทางใหม่เพราะไม่อย่างนั้นพนักงานจะอยู่ยังไง แล้วก็มาตั้งสติเกิดไอเดียว่าเรามาทำ OEM กัน ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์นานาฟรุ้ตเราไม่เคยรับจ้างผลิตเลย หลังจากนั้นก็ประกาศเลยว่าเรารับจ้างผลิตสำหรับใครที่อยากทำแบรนด์ผลไม้แปรรูปของตนเอง ตอนนั้นก็กลายเป็นว่าพนักงานเรายุ่งกันมากมีอะไรให้ทำตลอดช่วงโควิด เพราะเราได้ลูกค้าจากคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกันคน ที่เขาตกงานแล้วมีเงินก้อนอยากเอามาลงทุนสร้างแบรนด์ของตัวเองจำนวนมาก”

     หลังจากสู้กับวิกฤติโควิด-19 มา 2 ปีเต็ม จนตอนนี้สถานการณ์ของนานาฟรุ้ตกลับมาดีขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็วทำให้ปีนี้ยอดขายจะแตะถึง100 ล้านบาทเลยทีเดียว



     “ปีนี้ก็น่าจะได้ถึง 100 ล้านบาท จากปีแรกที่ได้ 10 ล้านบาท สิ่งสำคัญที่ทำให้นานาฟรุ้ตกลับมาได้รวดเร็วขนาดนี้  มองว่าเป็นเพราะเราเรียนรู้ตลาดตลอดเวลา ตลาดของสินค้านี้ก็ค่อนข้างใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องขยายมันไปเรื่อยๆ ขยายตัวโรงงาน ขยายคุณภาพ คุณภาพสินค้าเราดี ราคาได้ ลูกค้าก็จะเข้ามาหาเราเอง”

     แน่นอนว่าการทำธุรกิจไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ต้องเจอปัญหาความยากและความท้าทาย ซึ่งสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องมีคือการปรับตัวและทัศนคติที่พร้อมจะแก้ปัญหาอยู่เสมอ นาขวัญพูดถึงความยากและความท้าทายในการทำธุรกิจนี้ไว้ว่า

     “ถ้าใครก็ตามที่สามารถผลิตสินค้าในราคาที่ถูกและคุณภาพดีได้ยังไงก็มีโอกาสถือไพ่เหนือกว่า ดังนั้นการทำธุรกิจนี้จึงต้องคิดมาตั้งแต่ต้นน้ำเลย ตั้งแต่รับผลไม้มาจากชาวสวน ต้องตรวจสวน เราต้องได้ของที่คุณภาพดี และทุกๆ ขั้นตอนรวมไปถึงการส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้า”

     ไม่เพียงเท่านี้นาขวัญยังพูดถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มาตลอด 4 ปีกับการทำธุรกิจนี้ด้วยว่า

     “หลายครั้งที่เราเห็นธุรกิจอื่นรุ่ง แล้วก็คิดว่าทำไมเราไม่ไปทำธุรกิจนั้น แต่สุดท้ายก็จะมีคำตอบที่มันหยุดความคิดเราว่า อะไรก็ตามที่ไม่รู้จริงแล้วอยู่ดีๆ เราไปทำมันไม่มีทางที่เราจะเป็น The winner ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราหันไปขายอาหารเสริมเราก็คงไม่รอดเพราะเราไม่รู้จริง แต่ตอนนี้เรารู้และเข้าใจในธุรกิจที่เราทำอยู่แล้ว เราก็แค่พัฒนาต่อและคิดว่าจะทำยังไงให้เราได้เป็น The winner ในเส้นทางนี้เท่านั้นเอง"



     ในตอนนี้ถึงแม้ธุรกิจผลไม้อบแห้งจะมียอดขายที่ดีมากจนถึงขั้นประสบความสำเร็จแล้ว แต่นาขวัญเองก็ยังตั้งเป้าหมายสำหรับธุรกิจนี้ไว้เพื่อจะพัฒนาให้ดีขึ้นและเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักแบรนด์อื่นๆ ที่โรงงานของเธอรับผลิตให้มากขึ้นและไว้วางใจแบรนด์ขึ้นไปอีก

     “จริงๆ ตัวแบรนด์นานาฟรุ้ตเราก็เริ่มเข้าไปได้หลายประเทศแล้ว ภายใน 5 ปีนี้ก็ตั้งเป้าว่าอยากขยายแบรนด์ไปให้ถึงโซนยุโรป อเมริกาแล้วก็ออสเตรเลีย และตั้งใจจะพัฒนาโปรดักต์ให้เป็นออร์แกนิกด้วย”

     สิ่งที่เรียกว่าคือความสำเร็จของนานาฟรุ้ตอาจไม่ใช่แค่จำนวนรายได้หลักร้อยล้านเพียงอย่างเดียว แต่ความสำเร็จอาจหมายถึงการที่สามารถทำให้จุดประสงค์ในการสร้างแบรนด์นานาฟรุ้ตเป็นไปได้และสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด

     “คำว่าไปให้สุดของเราคือการที่เราขยายมันไปเรื่อยๆ เพราะตลาดนี้ไม่มีเพดานการเติบโตอยู่แล้วว่าจะต้องสิ้นสุดที่ใด เราอยากให้นานาฟรุ้ตเป็นสินค้าที่ขยายไปได้ทั่วโลก และสิ่งหนึ่งคือเราตั้งใจคือเอาผลไม้ไทยมาแปรรูปเป็นสแน็คแล้วส่งออกไปให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้เป็น Global Brand ที่ใครๆ ก็รู้จัก” นาขวัญกล่าวในตอนท้าย

              

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup