Starting a Business

ยกสงขลามาไว้กรุงเทพฯ สุขใจ ร้านอาหารใต้โฮมเมด ที่ขายหลักสิบแต่เฟ้นหาวัตถุบดิบเหมือน Fine Dining

 

     “กินแล้วคิดถึงบ้าน” “ไม่ได้กลับบ้านมา 2 ปี กินร้านนี้เหมือนได้กลับบ้านเลย” เสียงคำชมของลูกค้าที่มีต่ออาหารใต้โฮมเมดจากร้านสุขใจที่ทำให้หัวใจของคนทำนั้นพองฟูได้เป็นอย่างดี โดย ตั้ม - สุวิศิษฎ์ รักประยูรได้เล่าว่าเขาตั้งใจทำร้านนี้ขึ้นมาเพราะอยากพรีเซนต์สงขลาบ้านเกิดผ่านอาหารการกินที่เป็นเรื่องถนัดของเขามากที่สุด

     โดยอาชีพหลักของเขาคือ Content Producer ด้วยหน้าที่การงานของเขา ทำให้เขาได้พบเจอกับเชฟมากหน้าหลายตา ที่โดดเด่นเรื่องของอาหารไทย เขาจึงปิ๊งไอเดียอะไรบางอย่างขึ้นมานั่นคือจุดตั้งต้นแรกว่าอยากเปิดร้านขายวัตถุดิบท้องถิ่น จนได้ชื่อ “สุขใจ วัตถุดิบทำอาหารจากชุมชน”

      “ช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา เรารู้สึกสนุกกับการกินอาหารมากขึ้น สนุกกับการเดินทางไปเจอเชฟ งานที่เราทำมันมีโอกาสได้เจอเชฟบ่อยๆ พอได้เจอก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขารู้ บางอย่างเราก็รู้เหมือนกันด้วยความเป็นคนต่างจังหวัด เพราะเชฟที่เราเจอเขาทำร้านอาหารไทย จนตัดสินใจว่างั้นลองทำร้านขายวัตถุดิบดีไหม เลยกลายเป็นชื่อร้านนี้แต่แรก”

 

 

     เมื่อไอเดียมาพร้อมกับโลเคชั่นที่เหมาะสม ทำให้ตั้มตัดสินใจควักเงินส่วนตัวลงทุนรีโนเวทร้าน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่มาหนักเป็นระลอก การเดินทางไปสรรหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาขายกลายเป็นต้องหยุดชะงัก เขาจึงตัดสินใจพลิกโมเดลจากการเปิดร้านขายวัตถุดิบกลายเป็นการงัดเอาความชอบในอาหารมาทำร้านอาหารใต้โฮมเมดโดยได้แรงจากคุณแม่ สมศรี รักประยูร และ กุ้ง - ฐิติพร สายบุญจันทร์มาช่วยอีกทางหนึ่ง กลายเป็นร้านสุขใจในเวอร์ชันปัจจุบัน

     “เราสนใจเรื่องวัตถุดิบเพราะอยากสนับสนุนวัตถุดิบไทย เพื่อให้เห็นว่ามีสิ่งที่หลากหลายให้คนได้เล่นได้ ใช้ได้ เราว่าของไทยมันเจ๋งมาก แค่ยังไม่ได้ถูกพรีเซนต์ออกมา เราตัดสินใจเช่าร้านนี้ รีโนเวทให้สะอาดขึ้น ใช้เวลาเกือบปีเพราะว่าโควิด ทำให้เราไม่สามารถไปเจอคนได้ เลยเปิดร้านไม่ได้สักที เวลาผ่านไปเงินเก็บก็ค่อยๆ หมด ร้านก็ยังไม่ได้เปิด ในร้านไม่มีอะไรขาย ค่าเช่าที่ก็ต้องจ่าย จนเครียด เพราะถ้าจะเปิดร้านของชำ ของเต็มร้าน ต้องสต๊อกของหลายแสนบาท เราเลยตัดสินใจงั้นขายอาหารดีกว่า เป็นอาหารที่เราคุ้นเคยและยังคงคอนเซปต์เดิมคือความเป็นพื้นบ้าน เลยนั่งคุยกับแม่และแฟน งั้นเราทำข้าวยำขายกันดีกว่า”

 

 

     ร้านสุขใจจึงกลายเป็นศูนย์รวมความอร่อยที่เหมือนยกตลาดสงขลามาไว้ย่านอารีย์ คุณจะได้ลิ้มลองข้าวยำแท้ๆ เหมือนนั่งกินอยู่ที่สงขลา ทั้งยังมีเมนูหากินยากอย่างเต้าคั่ว ที่เป็นเมนูประจำวันพุธด้วย

     “เราอยากทำข้าวยำขาย ไม่รู้ทำไมเวลากินที่กรุงเทพฯ แล้วมันไม่เหมือนที่เคยกินที่บ้าน เราอยากทำให้เหมือนที่บ้าน ทั้งรสชาติ วัตถุดิบที่ใส่ เราเลยทำข้าวยำคลาสสิก มีดอกดาหลาให้เหมือนเคยกินที่ตลาดสงขลาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรายังนำเมนูพื้นบ้านอีกอย่างชื่อเต้าคั่วมาด้วย บางคนเรียกยำทะเลสาปหรือรอเยาะ เป็นเส้นหมี่หมูสามชั้น มีกุ้งชุบแป้งทอด เต้าหู้ทอด ถั่วงอกลวก ผักบุ้งลวก แตงกวา กินกับซอสหวานๆ ที่ทำจากน้ำตลาดโตนดและพริกน้ำส้มที่เป็นเบสจากน้ำตาลโตนด”

     นอกจากนี้ที่ร้านสุขใจยังเพิ่มเมนูขนมจีนพร้อมตบท้ายมื้ออาหารด้วยของหวานอย่างไอศกรีมไข่เค็มโปะด้วยผงโอวัลตินที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี แต่เบื้องหลังของเมนูที่ดูเรียบง่ายนั้นไม่ธรรมดา เพราะตั้มเล่าถึงสตอรี่ที่มาที่ไปของวัตถุดิบได้อย่างละเอียด เขาลงมือเฟ้นหาวัตถุดิบทุกอย่างด้วยตัวเอง ให้ความสำคัญกับการนำวัตถุดิบมาเล่นในแต่ละเมนู โดยเขาเน้นย้ำว่าการหยิบวัตถุดิบมา “เล่น” นั้นสำคัญ เพราะการทำอาหารนั้นต้อง “สนุก”

     “ตอนนี้เราเพิ่งเพิ่มขนมจีน มีขนมจีนแกงน้ำเคย ที่เป็นแกงกะปิที่ทำจากปลา เวลาเราทำน้ำปลา ข้างล่างของน้ำปลาคือเคย ที่ลอยน้ำคือน้ำปลา แล้วก็มีขนมจีนน้ำยาแกงสงขลา รสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีเผ็ดตาม เราใช้ความเปรี้ยวจากส้มแขกที่คนใต้ใช้ปรุงอาหาร ทำให้มีความเปรี้ยวอ่อนๆ และทำให้แกงเสียยากด้วย ขนมจีนเราจะใช้ปลาน้ำดอกไม้หรือที่บ้านเรียกปลาสาก เวลาทำแกงหรือขนมจีน ปกติปลาจะเป็นไซส์ใหญ่ แต่เราใช้ปลาไซส์ไม่เกิน 1 กิโลกรัมเพื่อเวลาตำแกง มันจะเนียนไปกับเนื้อแกงเลย วัตถุดิบหลายอย่างในร้านเรามีความออริจินัล เราจะเอามาจากสงขลาบ้าง นครศรีธรรมราชบ้าง เอามาให้ได้มากที่สุด หลังๆ พอเราเริ่มรู้จักประมงพื้นบ้านที่ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปเพชรบุรีบ้าง เราเริ่มเดินทางได้แล้ว เราก็ได้รู้จักประมงพื้นบ้านมากขึ้นเพื่อให้เราได้รู้ลึกขึ้นและนำมาเล่นอะไรหลายๆ อย่างได้อีก ที่เราใช้คำว่าเล่นเพราะว่าการทำอาหารมันต้องสนุกไปด้วย”

 

 

     โดยเขาเล่าเสริมถึงความตั้งใจในการเฟ้นหาวัตถุดิบ แม้ว่าราคาขายจะแค่หลักสิบแต่การหาวัตถุดิบของเขาไม่ต่างจากการหาวัตถุดิบในร้าน Fine Dining

     “ของที่เราหามาใช้ในร้าน เราไปหาจริงๆ สมมติ เราไปสมุทรสาคร แม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรเลย เราก็จะเดินไปถามคนแถวนั้นว่ามีขึ้นปลาตรงไหนบ้างตอนเช้า เราก็จะค่อยๆ รู้มาทีละนิด ไล่ไปเรื่อยๆ จนหลังๆ เริ่มรู้ว่าต้องตื่นตี 4 ไปมหาชัยเพื่อให้ทันตอนเขาขึ้นปลา 6 โมงเช้า เราได้เห็นความแปลกใหม่ มีปลาแปลกๆ ที่นำมาเล่นได้ มีปูตัวเล็กๆ ที่บ้านเราเขานำมาชุบแป้งทอด เริ่มเจอปลากระทุงเหว เจอหอยนางรมแบบฟินเดอแคลร์ แต่เป็นหอยที่เกาะอยู่ต้นโกงกาง ของที่เราเอามาใช้ แต่ละอย่างถูกเลือกมาเหมือนไฟน์ไดนิ่งแหละ เราเลือกมาจริงๆ เหมือนที่เชฟเขาคัดเลือกของ เราทำแบบนั้นเหมือนกัน”

     จากการที่เขาได้มีโอกาสเจอเชฟชื่อดังมาค่อนข้างเยอะ บวกกับความเป็นนักชิมของตั้ม ทำให้เขาได้บทเรียนหลายอย่างในการทำร้านสุขใจ แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่วิธีคิดไม่ธรรมดา

     “เราเรียนรู้ว่าเชฟเขาเชื่อมั่นในอาหาร และโชคดีที่เชฟที่เคยเจอเขาเชื่อมั่นใจอาหารไทย เชื่อมั่นในอาหารท้องถิ่น เราเลยเรียนรู้ว่าเราต้องศรัทธาในอาหารบ้านเกิดเราก่อน เชื่อมั่นในวัตถุดิบไทย พืชผักที่ขึ้นอยู่ตามรั้วบ้าน เราเรียนรู้สิ่งนั้นจากเขา เห็นเขาพรีเซนต์ รู้สึกว่าอยากมีความกล้าในการพรีเซนต์อาหารไทยให้ได้แบบเขา นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำ”

 

 

      ณ ปัจจุบัน ร้านสุขใจ มีเปิดให้นั่งกินที่หน้าร้านและขายเดลิเวอรี โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านเป็นลูกค้าประจำที่มากินจนกลายเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง หลายคนมีฟีดแบคว่ากินแล้วคิดถึงบ้าน นอกจากนี้ทางร้านยังมีการสื่อสารกับลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก เล่าเรื่องวัตถุดิบที่หามาได้ เล่าเรื่องเมนูต่างๆ ทุกวัน

      “อาหารเราขายถูกมากนะถ้าเทียบกับสิ่งที่เราหามา เราอยากให้ลูกค้าสามารถกินได้ทุกวัน อยากให้อาหารไปหาคนได้ไกลมากขึ้น จากที่เราทำร้านนี้ เรารู้สึกได้เจอลูกค้าดีๆ เต็มไปหมดเลย เรามักจะได้รับคำชมจากลูกค้าว่ากินแล้วคิดถึงบ้านจัง ขอบคุณนะที่ทำให้เหมือนได้กลับบ้าน เหมือนซื้ออาหารที่หน้าบ้านแล้วได้รสชาติแบบนี้ ยิ่งพอเราทำอาหารพื้นบ้านแท้ๆ ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล ในเพจเฟซบุ๊กเราก็จะเล่าเรื่องทุกวัน ขนมจีนบ้าง เรื่องวัตถุดิบในจานบ้าง บางครั้งเราได้ดอกชมพู่มะเหมี่ยวมาใส่ในข้าวยำ ลูกค้าก็จะสั่งข้าวยำเต็มเลยเพราะอยากลองกินดอกชมพู่มะเหมี่ยว ลูกค้าเขาสนุกกับเราไปด้วย” เขาเล่าปิดท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup