Kitti’s Burger จากนักดนตรีตกงานสู่ร้านเบอร์เกอร์โฮมเมด ที่ปั้นยอดขายปังแตะหลักแสนต่อเดือน
Text : Rujrada.w
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ลุกขึ้นมาขัดเกลาฝีมือการทำอาหารและเปิดธุรกิจของตัวเองกันมากมาย เบลล์-กิตติกาญจน์ เทพช่วยสุข เป็นหนึ่งในนั้น
เธอเริ่มต้นร้าน Kitti’s Burger หรือ กิตติเบอร์เกอร์ จากการเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากๆ โดยใช้เตาหมูกระทะเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับย่างขนมปังทำเบอร์เกอร์ แต่เวลาเพียง 1 ปีก็มากพอจะพิสูจน์ฝีมือการทำเบอร์เกอร์โฮมเมดของเบลล์ จากที่เคยขายออนไลน์เพียงอย่างเดียวก็สามารถเปิดร้านจริงจังที่ซอยสายไหม 43 ให้ลูกค้าไปนั่งกินสบายๆ ไม่ต้องสั่งเดลิเวอรีไปกินที่บ้านกันอีกต่อไป
- เบอร์เกอร์บนเตาหมูกระทะ
ก่อนหน้านี้เบลล์เป็นนักร้อง อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นรายแรกๆ เพราะร้านอาหาร ผับ บาร์ไม่สามารถเปิดให้บริการได้นานนับปี แต่เบลล์ก็ได้ไอเดียขายเบอร์เกอร์มาจากตอนที่ร้านที่เคยร้องเพลงอยู่จัดตลาดนัดให้นักดนตรีที่เคยมาเล่นที่ร้านได้มาขายของ เธอเลยลองทำเบอร์เกอร์ง่ายๆ 3 เมนู คือเบอร์เกอร์เนื้อ เบอร์เกอร์หมู เบเกอร์ไก่ทอดไปขายที่งาน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ทำให้ใจชื้น เพราะขายแค่ 2 วันคือเสาร์-อาทิตย์แต่ลูกค้าที่ซื้อวันเสาร์กลับมาซื้อซ้ำในวันอาทิตย์อีกรอบหนึ่ง เธอจึงถือโอกาสต่อยอดมาขายแบบพรีออเดอร์ ทำที่บ้านแล้วขายเป็นรอบๆ ผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี
“ตอนนั้นเราใช้หม้อย่างแบบจิ้มจุ่มที่ตรงกลางเป็นหม้อชาบูแล้วรอบๆ เป็นปิ้งย่าง ยังใช้หม้ออันนั้นทำอยู่เลย คือเรายังไม่ได้มีทุนเยอะ เพราะมันย่างขนมปังได้ พอย่างขนมปังเสร็จเราก็เอาขนมปังไปพักไว้ในหม้อตรงกลางทำให้ขนมปังไม่เย็น ทำไมเรามาถึงจุดนี้กันได้นะ” เธอหัวเราะขณะเล่าให้ฟัง
- Homemade 100%
Kitti’s Burger เป็น Burger Homemade แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่แป้ง เนื้อ ไปจนถึงซอส ซึ่งจุดเด่นแรกอยู่ที่ขนมปังบริยอช บัน ที่แตกต่างจากร้านเบอร์เกอร์อื่นๆ
“เบลล์อบบริยอช บัน โดยใช้แป้งฝรั่งเศส มันจะมีความนุ่มและหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ใช้เนยนำเข้าจากนิวซีแลนด์มันก็จะมีความหอมเนย จะมีสัดส่วนไข่กับเนยเยอะกว่าขนมปังทั่วไปเวลาทานกลิ่นจะอบอวลอยู่ในปาก บางทีมันก็จะละลายในปากแต่เบลก็ปรับสุตรให้มีความแน่นนิดๆ ไม่ให้นุ่มจนเกินไปให้เหมาะสำหรับเป็นบันเบอร์เกอร์ แล้วเราใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ พักแป้งก็ใช้อุณหภูมิธรรมชาติหมดไม่ได้ใช้เครื่องเลยใช้เวลาทำนานถึง 4 ชั่วโมง เพราะต้องพัก 2 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมงเพื่อให้ยีสต์ทำงานให้ขนมปังมันฟู”
กว่าจะได้สูตรนี้มาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเบลล์ถอดใจล้มเลิกไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเพื่อนที่ทำเค้กขายลองทำขนมปังมาให้เบลล์ชิมแล้วบอกว่าอยากให้เธอลองทำบ้าง เบลล์เลยลองทำตามที่เพื่อนแนะนำ ฝึกทำมาเรื่อยๆ ทำแล้วก็ชิมทำแล้วก็ทิ้งประมาณเกือบ 20-30 รอบกว่าจะได้สูตรที่อร่อยจริงๆ และลูกค้าชม
เช่นเดียวกันกับซอสที่เธอคิดค้นสูตรเฉพาะของร้านออกมาเกือบ 10 สูตร ไม่ว่าจะเป็นซอส Kitti’s burger ที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน โดยเบสเป็นมายองเนสใส่กับซอสศรีราชา ซอสมะเขือเทศและมัสตาร์ดได้รสออกเปรี้ยวหวาน หรือจะเป็นอีกหนึ่งซอสยอดนิยม Red Hot Sauce ที่มีความเผ็ดเข้มข้นแตกต่างจากซอสสูตรแรกอย่างสิ้นเชิง แม้แต่ซอสสำหรับข้าวแฮมเบิร์ก หรือน้ำสลัดก็ล้วนมาจากความคิดของเบลล์ทั้งนั้น
“เราก็ดูสูตรแต่ว่าพอทำตามสูตรมันก็ไม่ได้อร่อยจนว้าว ก็ลองเติมนั่นเติมนี่เข้าไปจนมันกลายเป็นสูตรของเราเอง เป็นซิกเนเจอร์ของร้านเรา มันกินง่ายด้วย มันสามารถกินกับเนื้อก็ได้ กินกับไก่ทอดก็ได้ เบลล์พยายามทำให้กินกับเนื้ออะไรก็ได้ แล้วก็เพิ่มซอสอื่นๆ เข้ามาเพื่อให้เพิ่มรสชาติเบอร์เกอร์ของที่ร้าน เบลเป็นคนชอบทำอาหารแล้วรู้สึกว่าถ้าซื้อมารสชาติก็จะไม่เป็นเอกลักษณ์ของร้านเรา ถ้าเราไปซื้อเขามา ร้านอื่นก็ซื้อมาเท่ากับเขาไปหาซื้อกินได้ที่ร้านอื่น แต่ถ้าเราทำเองก็เป็นสูตรของเราเอง ถ้าลูกค้าอยากกินรสชาติแบบนี้ต้องมาร้านเราเท่านั้น เบลก็เลยคิดว่าเราทำเองดีกว่าจะได้เป็นเอกลักษณ์ของร้านและเป็นความภูมิใจของเราด้วย”
- จากเดลิเวอรีสู่หน้าร้านใน 1 ปี
Kitti’s Burger เป็นร้านออนไลน์อยู่ประมาณเกือบ 1 ปี เบลล์ก็ไปเจอทำเลดีๆ อยู่หน้าปากซอยบ้านเป็นจังหวะเดียวกันที่รู้สึกว่าอยากหาความมั่นคงให้กับตัวเอง
“เรามีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลครอบครัว แฟนก็บอกว่าทำร้านสิถึงมันจะไม่สำเร็จอย่างน้อยเราก็ได้ลองแล้ว เขาบอกว่าถ้ามันเจ๊งก็ช่างมัน ก็ลองดู เลยตัดสินใจเปิดร้านแต่ไม่คิดว่ากระแสตอบรับจะเกินคาดแบบนี้ คิดว่าจะเงียบเพราะเบอร์เกอร์เป็นอาหารที่คนไม่ได้กินทุกวัน แล้วมีคนไทยแค่เฉพาะที่ชอบกินเบอร์เกอร์บ่อยๆ แล้วเบลมาเปิดนอกเมืองด้วย เลยรู้สึกว่าแรกๆ มันอาจจะเงียบๆ แต่กลับเกินคาด ขายดี ลูกค้าเขาก็ปากต่อปากบอกกัน”
ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการกินของคนเปลี่ยนไปตั้งแต่มีโควิด มีเดลิเวอรีเข้ามาทำให้คนไม่ออกจากบ้าน ยอดขายส่วนใหญ่ของร้านก็ยังมาจากเดลิเวอรี่ ซึ่งก็จะโดนหักค่า GP ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละแอปฯ เป็นโจทย์ให้เบลล์ต้องมานั่งคิดว่าจะขายอย่างไร
“ความยากคือต้องจัดการทุกอย่าง คิดเรื่องการคำนวณต้นทุน การทำบัญชี การบริหารจัดการในร้าน ซึ่งมันก็มีปัญหาให้เราได้คิดทุกวันเลย แต่ก็โอเค ยอดขายต่อเดือนประมาณ 150,000 ต่อเดือน กำไรประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อเดือนเพราะต้นทุนค่อนข้างสูง แล้วขายเดลิเวอรีโดน GP ค่อนข้างสูงกำไรก็จะน้อยลงมาอีก แต่มันก็ยังดีกว่าเราขาดทุนในยุคนี้ ถ้าเราอยู่รอดในช่วงโควิดได้ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นร้านเราก็คงดีขึ้นกว่านี้ เบลก็พยายามประคองมาเรื่อยๆ ต้องมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า แล้วก็ทำให้อาหารอร่อยเพื่อให้ลูกค้ายอมจ่ายในราคานี้ได้ เบลล์คิดว่าถ้าเราทำดียังไงก็อยู่ได้ แต่ถ้าเราทำลวกๆ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้จริงจังกับมันก็อยู่ยากในยุคนี้ที่คนกินค่อนข้างเลือกและคนใช้เงินยากขึ้น”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup