บทเรียน 6 ปีจากร้านปรินต์ขวัญใจเด็ก ‘ถาปัตย์ จุฬาฯ ที่ยึดความสุขเป็นกำไรและใช้ใจนำธุรกิจ
หากคุณเป็นเด็กคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คุณคงต้องเคยได้ยินชื่อของร้าน “TIPS Design Concept” อย่างแน่นอน แต่หากคุณไม่ใช่ ก็ไม่แปลกที่คุณจะไม่รู้จักร้านนี้เพราะ จุ้ย - ธนเศรษฐ์ ทิพยตั้งสกุล ได้เปิดร้านขึ้นมาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าแบบ Niche Market โดยเฉพาะ!
กว่า 6 ปีแล้วที่ร้าน TIPS ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ หลายคนเข้ามาใช้บริการจนกลายเป็นน้องที่สนิทกับพี่จุ้ย นั่นเป็นเพราะ “ความเข้าใจ” หัวอกของเด็กสถาปัตย์เพราะเขาเคยเป็นอดีตเด็กสถาปัตย์มาก่อน ทำให้เขาใช้หัวใจนำในการทำร้านนี้ขึ้นมา แม้กำไรทางเงินจะน้อยนิด แต่กำไรทางใจนั้นยิ่งใหญ่จนคุ้มค่า ที่สำคัญยังมีรอยยิ้มของน้องๆ ที่เข้ามาใช้บริการเป็นโบนัสของชีวิตอีกต่างหาก
แต่การเดินทางของธุรกิจ บางทีก็ไม่ราบเรียบเสมอไป เมื่อร้าน TIPS ต้องเผชิญกับบทเรียนครั้งใหญ่ที่ได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด ทุกมหาวิทยาลัยต้องปิดและเรียนออนไลน์กันชั่วคราว ทำให้รายได้ของร้านหายไปถึง 70% จนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเปิดร้านต่อไปพร้อมกับแบกรับตัวแดงในบัญชีที่ติดลบทุกเดือนหรือจะถอดใจและปล่อยร้านนี้ไป…
- เมื่อสถาปนิกเปิดร้านเพื่อเด็กสถาปัตย์
โดยจุ้ยได้เล่าย้อนไปช่วงที่เปิดร้าน TIPS Design Concept มาจากการที่เขามองหาสถานที่เช่าออฟฟิศเพื่อรองรับธุรกิจหลัก นั่นคือบริษัทสถาปนิก จนมาเจอกับตึกนี้และมีพื้นที่เหลือ ทำให้เขาตัดสินใจเปิดร้าน TIPS ขึ้นมา แม้ว่าใน 7 เดือนแรกจะยังไม่มีรายได้เข้าร้านแต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกง่ายๆ
“พี่กับภรรยาเป็นสถาปนิก ย้อนกลับไปตอนนั้น พี่จะเปิดออฟฟิศ ซึ่งโครงการนี้มาเปิดและใกล้กับที่พี่อยู่ ด้วยความที่เป็นตึก 2 ชั้นใหญ่ เราก็เลยอยากเปิดร้าน ซึ่งเป็น Niche Market นิดหนึ่ง เพราะร้านพี่เองไม่มีของที่เป็น Office Supply เลย เดินเข้ามาจะเป็นอุปกรณ์สถาปัตย์ ไม่ได้สนุกเท่าไร ถ้าไม่ใช่ลูกค้าประจำก็เดินออกหมด พี่ทำร้านแบบนี้ เราไม่ได้อยากได้กำไรเยอะ 7 เดือนแรก แทบไม่มีรายรับเลย เพราะไม่มีคนรู้จัก เราไม่ได้โปรโมตอะไรมากมาย พอเรามีกำไรจากการออกแบบ เราก็เอาของมาเติมเรื่อยๆ จนมีลูกค้ากลุ่มแรก คือเด็ก INDA สถาปัตย์ อินเตอร์ จุฬาฯ มาใช้บริการ ด้วยความที่พี่เป็นสถาปนิก เวลาน้องมาปรินต์งาน ส่งงาน พี่ไม่ใช่แค่ปรินต์ สมองเรามันเป็นสถาปนิก พอเห็นงานน้อง เจอจุดผิด จุดพลาด เราจะไม่ได้ปรินต์เลย ต่อให้เขาส่งดีเทลมาครบ พี่จะโทรบอกน้องๆ ก่อน เลยเป็นปากต่อปากว่าถ้าส่งงานมาที่พี่จุ้ย งานไม่พลาดแน่” เขาเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น
เพราะความเข้าใจว่าเด็กสถาปัตย์ต้องการอะไร ต้องเผชิญความเครียดแค่ไหน ทำให้จุ้ยตั้งใจทำร้าน TIPS เพื่อซัพพอร์ตเด็กสถาปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการรีเช็คงานให้น้องๆ ราคาเป็นมิตร เข้ามาในร้านมีบรรยากาศเหมือนมาหาพี่ชายคนหนึ่ง ทำให้ร้าน TIPS ถูกส่งต่อจากปากต่อปากไปยังแวดวงเด็กๆ สถาปัตย์จุฬา รวมไปถึงคนที่เรียนศิลปะด้วย
“ด้วยความจุ้นจ้านของสถาปนิกของพี่ หัวพี่มันเจอแปลนงาน งานออกแบบตลอดเวลา พอเห็นงานน้องส่งมา บางทีสเกลมันผิด ก็จะให้น้องกลับไปเช็ค เหมือนเราทวนให้เขา พี่ก็เองก็สนุกด้วย น้องก็ได้งานที่ดี และเราไม่ได้อยากเอากำไรจากเด็กๆ เยอะ ตั้งแต่พี่ทำร้านแรกๆ ทั้งราคา การบริการ คำพูดตรงไปตรงมาแบบพี่น้อง เขาเลยบอกต่อๆ กัน มันก็ไหลต่อๆ กันไป แต่ยังอยู่ในวงเล็กๆ แค่เด็กสถาปัตย์ เด็กอาร์ต รวมๆ ตอนนี้ก็ 6 ปีแล้ว เพราะเราเคยเรียนสถาปัตย์ด้วย พี่รู้ว่าควรจะซื้อเครื่องปรินต์แบบไหน กระดาษแบบไหน เป็นจุดที่พี่ว่าพี่ได้เปรียบ เราไม่ได้กะเอากำไรสูงสุด แค่อยากทำให้มันดี เท่าที่เราควบคุมได้ ไม่ได้อยากต่อยอดมันเยอะ ช่วงพีคๆ ของร้านก่อนโควิด มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ พี่ก็บอกว่าไม่เป็นไร พี่อยากทำร้านนี้เองเพราะอยากคุมมันเอง อยากดูงานทุกชิ้นที่ออกมาจากเครื่องปรินต์ เคยพูดขำๆ ว่า ทุกวันนี้คนอาจจะจำชื่อร้านพี่ไม่ได้ด้วยซ้ำ แค่จำหน้าพี่ได้ เพราะพี่อยู่ตลอด แปดโมงถึงสี่ห้าทุ่มทุกวัน พี่อยากดูแลมันเอง ไม่ได้อยากให้โตไปกว่านี้ แต่อยากให้คนที่เข้ามาใช้บริการได้ผ่านตาพี่แล้วมันโอเคจริงๆ”
- กำไรทางเงินไม่สำคัญเท่ากำไรทางใจ
แม้จะสามารถต่อยอดได้ไกลกว่านี้ ทำกำไรทางเงินได้มากกว่านี้ แต่จุ้ยยังยึดมั่นในความเชื่อของตัวเองที่มีแต่แรกว่าอยากทำให้ลูกค้าทุกคนมีความสุขที่เข้ามาใช้บริการ แม้ว่าจะกำไรไม่เยอะ แต่กำไรทางใจล้นเหลือแถมยังมีความสุขมากจากการทำร้านนี้
“พี่แฟร์ขนาดที่ว่า เวลาปรินต์ผิดพลาด หลายๆ ร้านอาจจะปกป้องธุรกิจตัวเองเพื่อไม่ให้ขาดทุน ตามสไตล์ของการทำธุรกิจทั่วไป แต่พี่ไม่ใช่คนทำธุรกิจ พี่เป็นสถาปนิกคนหนึ่ง เวลาน้องงานพลาด เห้ย ไม่เป็นไร พี่แก้ให้ ถึงจะคำนวนแล้วขาดทุน แต่เราจะปรินต์ใหม่ให้ อารมณ์ใจถึงใจ ถ้าเอาไปคุยกับนักธุรกิจด้วยกันเขาคงไม่แฮปปี้ แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับธุรกิจมา เราแค่ต้องการที่ทำออฟฟิศ แล้วก็เอาของมาขาย พอมีลูกค้าเราเริ่มสนุกแล้ว พอเราสวมหมวกที่เป็นสถาปนิก มันมีความเครียดเยอะ แต่พอพี่มาสวมหมวกใบนี้ มาช่วยน้องๆ ดูแลให้คำปรึกษา มันมีความสุข เติมเต็ม ดูตัวเลขมันแทบไม่มีกำไรเลย แต่มันเป็นกำไรทางใจของพี่ที่เอามาเติมเต็มกับชีวิตการทำงานอีกส่วนหนึ่ง”
- หัวเลี้ยวหัวต่อของ TIPS Design Concept
ณ ปัจจุบัน TIPS Design Concept กำลังเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ของธุรกิจ ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องปิด ร้านเองก็ขาดรายได้กว่า 70% พร้อมแบกค่าใช้จ่ายเท่าเดิมมา 2 ปี ตอนนี้จุ้ยเล่าว่าร้าน TIPS มีแนวโน้มที่อาจจะต้องปิดตัวลงในไม่ช้า โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา จุ้ยยังคงให้เงินเดือนพนักงานเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือโบนัส เพราะเขาไม่ได้มองด้วยสายตาของนักธุรกิจ แต่มองด้วยสายตาของพี่คนหนึ่งที่เห็นพนักงานเป็นคนในครอบครัว
“ร้านเรามีแนวโน้มจะปิด พี่เล่าอย่างตรงไปตรงมานะ เวลาที่เรารับน้องๆ เข้ามาทำงาน พี่เลือกคนเองทุกคน เราคุยกับเขาแบบพี่น้อง ไม่ได้เรียกพนักงานว่าลูกจ้าง เรารู้สึกว่าเขาคือพี่น้องจริงๆ อยู่กันมานาน 4-5 ปีขึ้นไป ช่วงโควิดที่อื่นอาจจะปรับตัว ลดเวลา ลดเงินเดือน แต่ของพี่ เราทำใจไม่ได้จริงๆ ให้เงินทุกอย่างเหมือนเดิม มีโบนัสท้ายปีเหมือนเดิม ในขณะที่รายรับเราลดลงไป เราแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้เกือบ 2 ปี ถามว่าจ่ายได้ไหม ก็จ่ายได้แต่มันจะเป็นยอดตัวแดงไปเรื่อยๆ พี่พยายามหางานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นสถาปนิกมาเติม ด้วยความที่ทุกอย่างชนกัน มันแทบจะล้มทั้งยืน ถามว่าเครียดไหม ก็เครียดนะ แต่ทำไงได้ ทุกคนก็เจอกันหมด เราก็พยายามมากขึ้น ประกอบกับสัญญาของโครงการใกล้จะหมด แต่ร้านพี่เองถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปบนความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ก็อาจจะไม่ได้ไปต่อ น้องๆ ทุกคนก็เข้าใจ พี่คุยกับเขาตลอด ไม่ได้มองเขาเป็นลูกจ้างเลย เรารักน้องจริงๆ อยู่แบบครอบครัวจริงๆ พี่ลุยงานเองหมดแบบที่น้องในร้านทำ ร้านพี่มันเดินหน้าด้วยความสุขและตอนนี้ทุกคนเข้าใจดีว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
- บทเรียน 6 ปีของร้าน TIPS ธุรกิจที่ยึดความสุขเป็นกำไรและใช้ใจนำธุรกิจ
แม้หลายคนอาจบอกเขาว่าการทำธุรกิจแบบนี้ไม่ถูก ต้องมีโมเดลธุรกิจ ต้องมองกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ในมุมของจุ้ย การทำธุรกิจแบบนั้นมันขาดสิ่งสำคัญที่เรียกว่าความสุขและขัดกับความเชื่อที่เขายึดมั่นมาโดยตลอด
“มันก็ไม่แปลกที่เราจะใกล้เจ๊ง จนถึงตอนนี้มันควรมีโมเดลธุรกิจ อาจจะลดเงินเดือนหรือทำอะไรสักอย่าง แต่เราทำใจไม่ได้ อาจเป็นความไม่เด็ดขาดของพี่เอง แต่เราไม่ได้อยากทำในสิ่งที่เราไม่มีความสุข ฟังดูหล่อนะ แต่เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ แม้ปลายทางอาจเจอเรื่องที่ไม่ดี แต่ทุกคนเข้าใจ แฮปปี้ รับได้ แม้จะเป็นยังไงมันก็โอเค พูดกันตรงๆ เราเป็นเจ้าของ เรามีโอกาสมากกว่า ต่อให้ร้านปิด แต่ถ้าช่วง 2 ปีนั้น เราปล่อยเขาไป ไล่เขาออก เขาไม่มีโอกาสแล้ว เป็นอะไรที่ทำใจยาก พี่เชื่อว่าเรายังสู้ดีกว่า สู้เพื่อเขาอีกหน่อย”
จุ้ยได้แชร์บทเรียนจากเวลาที่ผ่านมาที่เขาทำร้านนี้ขึ้น ผ่านทั้งความสุข ความทุกข์ ได้รับรอยยิ้ม คำชมจากน้องๆ ที่มาใช้บริการ ทั้งหมดทั้งมวลนี่แหละคือกำไรชีวิตที่เขาได้รับและมันคุ้มค่า แม้ว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
“ถ้าคนที่ทำธุรกิจแล้วอยากเติบโต โดยไม่ต้องทำงานเอง เป็น CEO วิธีการคิดแบบพี่มันคงผิดมากๆ พี่กล้าพูดเลย ไม่ควรทำแบบพี่ แต่ไม่รู้นะว่าปลายทางจะมีความสุขหรือเปล่า แต่การทำธุรกิจแบบพี่ อย่างน้อยที่สุดก็มีกำไรชีวิต ได้รู้จักกับคนเยอะ ได้รับคำชม ของพี่อาจจะเป็นการทำธุรกิจที่ผิด 100% แต่ระหว่างทางเรามีความสุขมาก ยิ่งมาเจอคุณพ่อเสีย ก็เข้าใจว่าชีวิตคนเรามันไม่มีอะไรมาก คุณก็แค่หาความสุขในแต่ละวัน ยึดมั่นในสิ่งที่มีความสุข ไม่เบียดเบียนใคร แต่สุดท้ายแล้ว ต้องย้ำตัวใหญ่ๆ ว่าวิธีคิดนี้ไม่เหมาะกับธุรกิจที่อยากเติบโต ทำธุรกิจมันต้องเด็ดขาดกว่านี้ คุณควรจะเลือกปล่อยบางอย่างไปไหม บางครั้งการที่คุณเซฟอะไรไว้กับตัวอาจจะทำให้เสียอะไรบางอย่างได้ นี่คือสิ่งที่พี่ได้เรียนรู้” เขาเล่าปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup