Junenycandy บทเรียนจากเตาอบตัวเดียวสู่ธุรกิจขนมหวานที่รายได้แตะ 8 หลัก
ด้วย 2 มือ 1 หัวใจ 1 เตาอบพร้อมด้วยความตั้งใจที่เปี่ยมล้นของสาวน้อยคนหนึ่งที่เปลี่ยน Passion เป็น Business จากเตาอบตัวเดียวในห้อง จนกลายเป็นแบรนด์ขนมหวานที่รายได้สุดปังแตะ 8 หลัก! เธอคือ “จูน-พัชราภรณ์ เขียวทอง” ผู้ก่อตั้ง Junenycandy ที่มีไดฟูกุสตรอว์เบอร์รีเป็นนางเอกชูโรง
ย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย การทำขนมคืองานอดิเรกที่เธอทำเพียงเพราะอยากกินของอร่อย จากนั้นก็เริ่มต่อยอดสร้างรายได้ด้วยการขายให้เพื่อนๆ แต่ยังไม่เคยคิดจะสร้างรายได้จริงจังจากการทำขนม
“เราเริ่มจากเตาอบเล็กๆ มากกว่า เราชอบทำนู่นทำนี่ ก่อนหน้านี้เราเคยทำคอนเฟลกคาราเมลขาย ทำนิดหน่อย เริ่มจากที่เราชอบ แต่ที่เคยกิน บางเจ้าหวานไป ไม่ถูกปาก เราเลยลองทำเอง ผิดบ้าง ไหม้บ้าง จนตอนเรียน เวลาเข้าเรียนแล้วเพื่อนเยอะ พอเจอกันเราก็จะอบขนมไปให้เพื่อนกิน จนเราได้สูตรของเราที่โอเค ก็ทำมาเรื่อยๆ พัฒนา เริ่มขายเพิ่มเป็นการหารายได้เสริม จนช่วงเรียนปี 3 ปี 4 เราเริ่มทำไดฟูกุ ทำกินเอง ก็ปรับสูตรไปเรื่อยๆ เราคิดว่าถ้าเราขายเบเกอรีแล้วใช้ของดีก็น่าจะดีนะ เราเริ่มนำเข้าวัตถุดิบดีๆ มา จนเป็นสูตรที่เราชอบคือไส้บาง แป้งบางแต่ยังคงความเหนียวหนึบนุ่มอยู่ สตรอว์เบอร์รี่ลูกใหญ่” เธอเล่าย้อนถึงสมัยที่ยังเริ่มทำขนมตอนแรก
หลังจากจูนเรียนจบ ก่อนที่เธอจะก่อตั้งธุรกิจขนมหวาน เธอได้ลองไปทำงานประจำอยู่ช่วงหนึ่งจนรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่เหมาะกับเธอ ในช่วงนั้นมีความเครียดถาโถมเข้ามาแต่ก็มีคุณตาที่ฉุดเธอขึ้นมาเพราะคำพูดเพียงไม่กี่คำ ทำให้เธอฮึดสู้และเริ่มต้นธุรกิจขนมหวานอย่างจริงจัง
“พอเรียนจบ เราก็เริ่มทำงานประจำแล้วรู้สึกว่าเราไม่ชอบเลย ชีวิตมันไม่เป็นอิสระ ช่วงนั้นเริ่มเครียด ได้คุยกับคุณตาเขาก็บอกว่าทำไมเราไม่มองสิ่งที่ใกล้ตัวและถนัดที่สุด ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้โฟกัสขนมเลย เราไม่ได้มีทฤษฎีอะไร แค่ทำเองงูๆ ปลาๆ จากเตาอบที่ห้องของเรา สี่เหลี่ยมโต๊ะขาพับเลย แล้วจะต้องทำยังไง ธุรกิจต้องเริ่มยังไง บ้านเราก็ไม่ได้มีซัพพอร์ตขนาดนั้น เหมือนเราเริ่มจาก 0 หมดเลย จนวันหนึ่งเราก็คิดว่าต้องลองสักตั้งวะ ไม่ลองก็ไม่รู้ ”
เมื่อมีแรงใจในการฮึดสู้ จูนก็เริ่มลงมือทำขนมขายผ่านทางโลกออนไลน์ โดยเริ่มจากเพื่อน ต่อยอดสู่เพื่อนของเพื่อน ในที่สุดก็มีคนรู้จักมากขึ้น ช่วงแรกเธอทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่การทำขนม ซื้อวัตถุดิบ ไปนัดรับกับลูกค้าที่สยาม
“เราก็เริ่มทำเรื่อยๆ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่ามีนัดรับที่นี่นะ เราไม่อยากให้ลูกค้าเสียค่าส่ง เราทำเองทุกอย่าง ปั้นเอง ทำขนมเอง ซื้อของเอง ตอบลูกค้าเอง เราเห็นมุมมองของลูกค้าว่าจะทำยังไงให้ลูกค้ากลับมากินของเราซ้ำ เราทำธุรกิจแบบไม่ได้แสวงหากำไรขนาดว่าจะต้องอยู่รอดเพราะธุรกิจนี้ เราคิดแค่ว่ามันต้องมีสิ คนที่ชอบในแบบที่เรากิน เราทุกคนรักตัวเองอยู่แล้ว เราอยากทำของที่ดีที่สุดให้ตัวเองและเราก็ส่งต่อให้ลูกค้า”
เมื่อการขายออนไลน์เริ่มเข้าที่ สิ่งต่อมาคือการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ จูนเริ่มขยายฐานลูกค้าด้วยการออกบูธทั้งในงาน Flea Market และห้างสรรพสินค้าก็เริ่มมีติดต่อเข้ามา จนในที่สุด Junenycandy ก็มีหน้าร้าน
“พอขายออนไลน์มาสักพักจากนั้นเราก็เริ่มออกบูธ เราไม่เคยออกบูธมาก่อน ต้องมีอะไรหรือทำอะไรบ้างไม่รู้เลย ทุกอย่างกระชั้นชิดหมด แต่พอเราเริ่มออกบูธครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็รู้แล้วว่าต้องทำยังไง ระหว่างที่ทำธุรกิจมา 3 ปี เราทำออนไลน์มาตลอดและมีการออกบูธ มีช่วงหนึ่งที่ฝากขายตามคาเฟ่ เราจะมีห้องผลิตเล็กๆ ของเรา พอเราเริ่มรู้จุดก็มีห้างสรรพสินค้าติดต่อเข้ามาว่าลงขายบูธไหม เราก็ลองไปขายหมด หาลูกค้าใหม่ๆ เพราะออนไลน์เราเอาอยู่แล้ว เราก็เริ่มคิดว่าอยากมีหน้าร้านแล้วล่ะ อยากมีตัวตนให้ลูกค้าเห็นว่าเราอยู่ตรงนี้ ให้ลูกค้ามาเลือกซื้อได้ ระหว่างนั้นเราก็เก็บเงินมา อยากทำธุรกิจแบบไม่มีหนี้ เลยมาหาตึก ย่านที่จูนอยู่แถวคอนโด เราเจอตึกเก่าก้ค่อนข้างท้าทายมากว่าจะได้มั้ยนะ ความตั้งใจเราอยากพัฒนาซอยนี้ด้วย เขาเป็นบ้านเก่าหมดเลยแต่สะอาดมาก เราคิดว่าถ้ามีคาเฟ่เล็กๆ ที่นี่ เหมือนโฮมเมดญี่ปุ่นๆ ก็น่าจะดี ซอยนี้น่าจะมีสีสันมากขึ้น”
จากวันแรกที่มีเพียงเตาอบเครื่องเดียว ทำบนโต๊ะขาพับสี่เหลี่ยม สู่วันนี้ที่ Junenycandy เติบโตมากขึ้น มีทีมงานมากมายหลังบ้านรวมถึงลูกค้าที่ติดใจความอร่อยของไดฟูกุและขนมใหม่ๆ ที่ถูกคิดมาแบบไม่เหมือนใคร จนทุกวันนี้ใช้สตรอว์เบอร์รี่กว่า 1 พันลูกเลยทีเดียว
“เราเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ทั้งรายได้ ลูกน้อง การเติบโตและการพัฒนาของร้าน เราทำกล่อง Box Set ที่ไม่เหมือนคนอื่น เราไม่อยากเหมือนใคร อยากให้ลูกค้าเปิดมาแล้วรู้สึกว่าน่ารัก ไม่ใช่แค่ขนมอย่างเดียว แต่ทุกอย่างต้องเพอร์เฟ็ค เราทำขนมที่อยากให้ลูกค้ากินแล้วหายเหนื่อย จากวันแรกที่เราทำคนเดียว จนเริ่มมีเพื่อนมาช่วย 2-3 คน ก็เปลี่ยนจากเพื่อนเป็นพนักงาน ตอนนี้มีฝ่ายผลิต 7-8 คน หลังบ้านมีทีมงานฝ่ายต่างๆ 7-8 คน วันหนึ่งเราใช้สตรอว์เบอร์รี่เป็นพันลูก เพราะตอนนี้นอกจากที่มีไดฟูกุสตรอว์เบอร์รี่แล้ว เรายังมีขนมใหม่ๆ อย่างไดฟูกุสตรอว์เบอร์รี่ชีสพาย เราคิดว่าทำยังไงดีที่จะมีขนมไม่เหมือนคนอื่น เราอยากเป็นที่จดจำ เราเลยคิดว่าเราชอบอะไร จนตอนนี้ก็กลายเป็นสตรอว์เบอร์รี่ชีสพายและบลูเบอร์รี่ชีสพาย ยอดขายดีมาก”
จูนได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในแบบฉบับของเธอว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักในสิ่งที่ทำ สิ่งนี้จะทำให้ทุกอย่างออกมาดี
“คนเราถ้าทำในสิ่งที่รัก จะทำออกมาได้ดี ถ้าทำธุรกิจเพื่อมองหากำไรอย่างเดียวกับทำธุรกิจเพื่อให้ลูกค้าได้กินของอร่อย จุดมุ่งหมายมันต่างกัน เราต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร ผลกำไรคือผลตอบแทนที่เราได้รับและนำไปต่อยอด พัฒนาร้านให้ดีขึ้น ถามตัวเองด้วยว่าที่ทำอยู่ มีความสุขไหม ธุรกิจที่ทำด้วยใจ สุดท้ายยังไงก็ออกมาดี ตอนนี้เราก็รู้สึกว่าเรามาไกลเหมือนกันนะ จากยอดขายหลักร้อน จนตอนนี้ถึง 8 หลักแล้ว” เธอปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup