Starting a Business

SeaLife แซลมอนกระปุกแก้วของทายาทรุ่น 2 ที่อยากสร้างความต่างให้ OEM รุ่นพ่อ

     

     จากเด็กหญิงผู้ที่ถูกดึงให้เข้าไปคลุกคลีกับงานบริษัทตั้งแต่เยาว์วัย ที่เริ่มทำตั้งแต่งานรับปลา ขูดปลา จนถึงงานในออฟฟิศหมุนเวียนทุกแผนก จากการเรียนรู้ธุรกิจของคุณพ่อ พรชัย ปานศรีแก้ว มาวันนี้เธอได้ต่อยอดธุรกิจ OEM ของครอบครัวสู่การสร้างแบรนด์ด้วยตัวเอง

 

 

     Sealife แซลมอนในกระปุกแก้ว คือแบรนด์ของ เต-เตชินี ปานศรีแก้ว ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พี.ซี.ทูน่า จำกัด ตั้งใจใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา และประสบการณ์ที่คลุกคลีกับธุรกิจมาตั้งแต่วัยเยาว์สร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยเน้นเจาะตลาดในประเทศเป็นหลัก และใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำการตลาดให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก จนสามารถสร้างแบรนด์ Sealife ขึ้นมาได้

     โดยเธอได้เล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็กที่ได้คลุกคลีกับบริษัทของคุณพ่อตั้งแต่จำความได้ นั่นเป็นการปลูกฝังให้เธอผูกพันกับสิ่งที่ได้สัมผัสจนได้มาต่อยอดธุรกิจในที่สุด

     “ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็ก คุณพ่อก็จะวางแผนตั้งแต่เด็กให้เข้ามาคลุกคลีกับงานที่บริษัท พี.ซี.ทูน่า จำกัด ซึ่งทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่าและแซลมอนส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก ทุกช่วงปิดเทอมก็จะวนไปทำงานแต่ละแผนก เพื่อเรียนรู้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับปลา ขูดปลา ควักไส้ จนถึงงานในออฟฟิศแผนกต่างๆ ตอนนั้นเตรู้สึกว่ามันสนุก ไม่รู้หรอกว่าคุณพ่อกำลังปลูกฝังให้เราใกล้ชิดการทำงานกับบริษัท แบรนด์สินค้า Sealife แซลมอนในกระปุกแก้ว ถือเป็นโปรเจกต์แรกของเต เริ่มมาจากว่าเตอยากทำสินค้าขายในประเทศที่เป็นแบรนด์ของเราเอง ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิตอย่างเดียว เลยมาดูว่าเรามีสินค้าตัวไหนที่มีศักยภาพที่จะแข่งขันในตลาดไทยได้ ก็คิดถึงแซลมอนในกระปุกแก้ว ซึ่งสมัยก่อนเราผลิต OEM แล้วส่งไปที่ญี่ปุ่น และดูแล้วยังไม่มีสินค้านี้ในไทย เป็นช่องว่างในตลาดที่เราสามารถเข้าไปวางขายสินค้าได้ ยิ่งถ้าเราเป็น First Mover ในตลาด ก็จะมีโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าและชนะใจลูกค้าได้ง่าย”

 

 

     จุดเด่นของแบรนด์ Sealife คือคุณภาพที่ดี รวมถึงการวางตัวเองให้เป็นแบรนด์ Healthy และ Ready-to-eat ซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน

     “พอเราเชื่อมั่นในตัวสินค้าว่าดี มีคุณภาพ และเห็นช่องว่าง เราก็รีบพัฒนาสูตร ซึ่งเตวางเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากทำแซลมอนที่เป็น Healthy คือไม่มีผงชูรส ไม่ใส่วัตถุกันเสีย แถมยังใส่แคลเซียมและคอลลาเจนจากกระดูกปลาที่เราเข้าร่วมการวิจัยกับศูนย์กระดูกและแคลเซียม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างจุดขายให้สินค้าเลยออกมาเป็น Sealife ที่เราวางจำหน่ายมา 2 ปีแล้ว และ Sealife ยังเป็นแซลมอน Ready-to-Eat ก็คือเปิดกระปุกก็รับประทานได้เลย ความดีของมันก็คือรสชาติปรุงมาแล้วกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่ม ยิ่งคนไทยชอบปลาแซลมอนแล้วยังไม่เคยมีแซลมอนในลักษณะนี้เลยมองว่าเข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันคู่แข่งจริงๆ ก็คือแทบจะไม่มี ที่ค่อนข้างใกล้เคียงก็คือปลาทูน่าในกระป๋องซึ่งไม่มีรสชาติ แต่ Sealife ของเรามีรสชาติที่พร้อมรับประทาน”

     สำหรับแซลมอนในขวดแก้วของ Sealife  3 รสชาติ คือ ออริจินัล แซลมอนผสมไข่กุ้ง แซลมอนเทอริยากิสาหร่าย โดยในอนาคตจะมีการออกรสชาติใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า

     “เราวางแผนที่จะออกอีก 2 รสชาติที่เป็นรสชาติไทยๆ ซึ่งเราได้จากการเปิดรับความเห็นจากลูกค้าใน Facebook มีคนมาคอมเมนต์กว่า 600 คนว่าอยากได้รสชาติไหน เราก็เลยเอาไอเดียจากลูกค้ามาพัฒนารสชาติใหม่ๆ”

 

 

     โดยเธอได้ปิดท้ายถึงข้อคิดของการทำธุรกิจจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

     "การทำธุรกิจต้องวางแผนยาวๆ เพื่อความยั่งยืน เจ้าของธุรกิจควรรู้ลึกและรู้จริงที่สุดในร้าน ควรศึกษาให้ลึกไปจนถึงการเลือกซื้อเมล็ดกาแฟ รสชาติของแต่ละชนิด และที่สำคัญคือ มองหากลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม และพยายาม Satisfy Need ตอบ Pain Point ของลูกค้ากลุ่มนั้นๆ ให้ได้ ถึงแม้ว่าต้นทุนการทำธุรกิจอาจจะต่ำกว่าคนอื่น ต้องเริ่มต้นจากศูนย์หรือติดลบ ทำให้อาจจะไปถึงจุดที่เรามองไว้ช้าหน่อย แต่รับรองว่าเส้นชัยไม่ไกลเกินเอื้อม สำหรับเตถึงแม้ว่าการทำธุรกิจไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ก็มีความท้าทายไม่แพ้คนที่เริ่มจากศูนย์ มันมีความกดดันว่าแล้วถ้าเราทำล้มเหลวล่ะ แล้วถ้าผิดพลาดล่ะ วันนั้นทุกอย่างของบริษัทคือจบ มันก็เป็นความกดดันที่เหมือนกับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งก็ต้องศึกษาให้รู้จริงด้วย"

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup