รู้จัก “คุณแม่แจน” นักไลฟ์! ไลฟ์ขายของให้แบรนด์สร้างรายได้สูงสุดแตะ 6 หลัก!
เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน ส่งผลให้มีหลายอาชีพเกิดใหม่และกลายเป็นอาชีพสุดปัง! หนึ่งในนั้นคืออาชีพที่เรียกว่า “นักไลฟ์สด” หรือ KOL Live streaming ตัวช่วยที่จะสร้างรายได้ให้ธุรกิจเพิ่มขึ้นผ่านการไลฟ์สด เพราะหลายคนไม่ถนัดในการไลฟ์ขายของเอง จะดีกว่าไหมถ้ามีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการไลฟ์ วันนี้เราอยากพาคุณไปเจาะลึกอาชีพนักไลฟ์สดกับ “แม่แจน - จารุทัศน์ ตั้งพานิชดี” ที่อยู่ในวงการนักไลฟ์สดมากว่า 2 ปีและสร้างรายได้จากงานนี้สูงสุดแตะ 6 หลักภายใน 1 เดือนเลยทีเดียว!
โดยแจนเล่าว่าเธอทำงานสาย Marketing และ PR มาก่อน ซึ่งในระหว่างทางการทำงานได้สั่งสม Connection มาเรื่อยๆ จนมาถึงประมาณ 2 ปีก่อนที่ Shopee เริ่มปูทางการ Live Stream อย่างจริงจังจึงมีคนติดต่อเธอเพราะมองเห็นศักยภาพว่าน่าจะทำตรงนี้ได้ ทำให้เธอกระโดดเข้าสู่วงการนักไลฟ์สดและต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้
“ตั้งแต่เรียนจบมา เราทำมาหลายอย่าง ก็จะมีเพื่อนระหว่างทางที่ทำการตลาดด้วยกันเขาชวนเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า Shopee จะมีการทำ Live Streaming จริงจัง ถามพี่ว่าอยากลองดูไหม ในกลุ่มแม่และเด็ก เราก็ลองดูและต่อมาเลยยาวๆ จนลาออกจากงานประจำ เพราะพี่มีลูก เราอยากได้เวลาที่ยืดหยุ่นมาอยู่กับลูกให้มากขึ้น”
แจนเล่าเสริมว่ารายละเอียดการทำงานกับ Shopee นั้นช่วงแรกจะจ้างเป็นรายครั้งโดยให้ค่าจ้างตามเรทการ์ดแต่หลังจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนลงตัวที่การให้เป็นรายเดือนพร้อมค่าคอมมิชชั่นเพิ่มหากในไลฟ์นั้นขายได้
“ถ้าใน Shopee คนไลฟ์สดเขาจะเรียกว่า KOL Live streaming เหมือนคนมาพูดในไลฟ์จูงใจให้คนที่ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามแล้วอยากจะซื้อสินค้านั้นๆ ตัวเราเองตอนไลฟ์ยุคแรกก็จะได้เป็นรายครั้ง พอเขาเริ่มทดสอบตลาด ก็มีลูกค้า SME สนใจ เขาก็จะขายเป็นแพ็คเกจให้แบรนด์ซื้อ เช่น ถ้าซื้อแพ็คเกจแพงสุดก็อาจจะได้การไลฟ์ในสตูดิโอ เป็นต้น ตอนที่เราทำแรกๆ เราไลฟ์แค่ 5-10 ครั้งต่อเดือนเอง พอทำไปเรื่อยๆ มันบูม หลายแบรนด์ก็ซื้อแพ็คเกจกับ Shopee เขาเลยให้เราเป็นรายเดือน โดยจำกัดว่าต่อเดือนจะไลฟ์ประมาณ 10-20 ครั้ง พอบูมขึ้นอีกก็ขอเป็น 20 ครั้ง เรทเท่านี้และจะมีค่าคอมฯ เพิ่มเติมอีก”
แต่ 20 ครั้งต่อเดือนยังไม่ถือว่าเยอะเกินไป เพราะปัจจุบันแจนเล่าว่าเคยไลฟ์เยอะที่สุดต่อเดือนเฉพาะของ Shopee นั้นแตะ 43 ครั้ง ยังไม่นับรวมของการไลฟ์ให้แบรนด์ที่มาจ้างเธอต่างหากอีก
“เราก็จดของเราเรื่อยๆ ตั้งแต่ไลฟ์ครั้งแรกๆ ตั้งแต่หลัก 10 ครั้ง/เดือน จนมา 20 ครั้ง 30 ครั้งก็คิดว่าเยอะสุดแล้ว แต่ที่ผ่านมาเยอะที่สุดต่อเดือน เราไลฟ์ไป 43 ครั้ง แค่ของ Shopee นะ ยังไม่รวมที่แบรนด์มาจ้าง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีแบรนด์จ้างวันจันทร์ 2 ทุ่มถึง 3 ทุ่มและของโรงพยาบาล จ้างวันพฤหัสเว้นพฤหัส เวลา 5 โมงเย็นถึง 6 โมงเย็น เราทำงานเกือบทุกวัน ว่างมากสุดคือ 3 วัน ก็จะบอกทุกคนเลยว่าช่วงนี้ไม่รับงานนะ เพราะอยากพัก อยากเที่ยว มันค่อนข้างยืดหยุ่น ถ้าช่วงไหนไม่อยากรับงานก็แพลนได้เลยว่าช่วงนี้ไม่รับนะ”
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในอาชีพนักไลฟ์สดคือรายได้ ยิ่งคุณสั่งสมประสบการณ์ในอาชีพนี้ได้มากขึ้น จูงใจให้คนซื้อของกับแบรนด์ได้มากขึ้น ยิ่งทำให้คุณสามารถอยู่ได้วงการและมีลูกค้ามาจ้างได้อย่างต่อเนื่อง
“รายได้ช่วงนี้เท่ากับที่เราเคยทำงานประจำเลย รายได้เฉลี่ยๆ ของเรา น้อยสุดที่ได้แน่นอนต่อเดือน ไม่สวิงไปกว่านี้แล้วคือ 3 หมื่นบาท ส่วนรายได้สูงสุดที่เคยได้จากทุกงานเลยคือ 1 แสนบาท”
แต่กว่าที่จะเดินทางมาถึงการเป็นนักไลฟ์สดที่ได้รับความนิยมจากแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งทักษะการพูด การให้ความรู้ การจูงใจลูกค้า การปิดการขาย รวมไปถึงการจัดไฟ เซ็ตกล้องและไฟเพื่อให้ภาพและเสียงคมชัดที่สุด โดยแจนได้ให้เทคนิคการไลฟ์สดของเธอเอาไว้ดังนี้
- การแต่งตัว
โดยเธอเคยถามฟีดแบคของคนที่เข้ามาดูไลฟ์ว่าทำไมถึงชอบเข้ามาดู เขาให้ฟีดแบคว่าเพราะการแต่งตัว โดยการแต่งตัวของเธอจะไม่ได้โป๊ หวือหวา แต่จะเป็นไปตามแบรนด์ ถ้าแบรนด์น่ารักกุ๊กกิ๊ก การแต่งตัวจะใสเลยหรือหากเป็นแบรนด์ทางการก็จะแต่งตัวให้เกียรติ
- น้ำเสียง
น้ำเสียงเป็นอีกหนึ่งคีย์ที่สำคัญ โดยน้ำเสียงของเธอจะมีความฟังสบาย เป็นน้ำเสียงที่พูดแล้วฟังได้เรื่อยๆ ไม่ได้ดูเฉื่อยและน่าเบื่อ ที่สำคัญคือพูดเพราะ
- ไม่ Overclaim
สิ่งที่เธอพยายามทำมาตลอดนั่นคือการไม่ overclaim ไม่ว่าจะขายอะไรก็ตาม สิ่งที่เธอพยายามเสนอคือการว่าไปตามเนื้อผ้า สินค้าชิ้นนี้ดีอย่างไร ทำไมควรซื้อ
- ทำให้ลูกค้ามองเห็นภาพ
ลูกค้าที่เข้ามาดูไลฟ์ต้องทำให้เขารู้ว่าวันนี้มีอะไรพิเศษกว่าการไปกดซื้อเองที่หน้าร้าน แล้วสิ่งที่เขามองไม่เห็นด้วยตาต้องพูดและอธิบายให้ลูกค้ามองเห็นภาพตามได้ ซึ่งถ้ามีโอกาสเธอจะเป็นลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ เพื่อที่เวลาพูดจะได้ทำให้ลูกค้าเห็นภาพมากขึ้น
โดยเธอได้เล่าต่อว่าตั้งแต่ที่เธอทำอาชีพนี้มาครั้งแรกจนถึงตอนนี้มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปและเธอได้เรียนรู้จากอาชีพนักไลฟ์สด
“เราว่ามันเปลี่ยนอยู่แล้ว ทำมาสักพักเราแทบไม่ต้องดูรายละเอียดสินค้าแล้ว แค่ดูว่าวันนี้มีอะไรพิเศษ มีอะไรออกใหม่ ในมุมของนักไลฟ์สด แรกๆ อาจจะประหม่า จับทางไม่ถูกว่าคนดูคาดหวังอะไรจากเรา แต่พอเราไลฟ์ไปสักพักจะมองทะลุปรุโปร่งได้เลยว่าคนที่เขามาดูต้องการอะไร อย่างเราจะแยกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งลูกค้าใหม่ ไม่เคยใช้แบรนด์นี้เลย เราก็จะอธิบายในมุมรายละเอียดสินค้า ให้ความรู้ แต่คนที่เข้ามาเรื่อยๆ เราจะพลิกมุมว่า โค้ดต้องใช้ยังไง ซื้อยังไงให้คุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่ที่ทำมาเราว่าทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในการใช้แอปฯ เพิ่มขึ้น และมองเห็นเทคโนโลยีที่มันดิสรัปต์ เราจะเห็นว่ามีช่องว่างของอายุคนที่มาช้อปกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ยังมีคนอายุ 50-60 ปีมาช้อปเลย เราก็จะได้ความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงกลุ่มคนที่มีอายุแตกต่างกันไป”
แจนปิดท้ายว่าตอนนี้เธอกำลังจะมีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับแบรนด์ๆ หนึ่งที่ทำงานร่วมกันตอนไลฟ์สดโดยจะมีการให้บริการกับธุรกิจรายย่อยและแบรนด์ต่างๆ ที่อยากจะเริ่มต้น Live Streaming แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นไลฟ์สด การทำระบบต่างๆ การเซ็ตไฟ เซ็ตกล้อง จนถึงการเทรนด์ให้ธุรกิจว่าต้องทำอย่างไรในการไลฟ์เพื่อให้พนักงานสามารถกลายเป็นนักไลฟ์สดได้ หากใครสนใจลองติดต่อเธอได้ที่ https://www.facebook.com/jannystudio
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup