ได้ธุรกิจใหม่เพราะล็อกดาวน์! The Apron Maker เปลี่ยนผ้ากันเปื้อนธรรมดาให้เป็นของขวัญรายได้ดี
Text : Vim Viva
วิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อมาร่วม 2 ปี หลายคนอาจจะมองเห็นเพียงว่าเป็นการระบาดของโรคที่สร้างความเสียหายต่อธุรกิจต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ด้วยเช่นกัน ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการล็อคดาวน์และผู้คนต้องกักบริเวณอยู่บ้านประกอบด้วย ธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และต้นไม้ อุปกรณ์เกี่ยวกับ DIY รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องครัว และอุปกรณ์ทำอาหาร ขึ้นอยู่กับว่าใครจะจับสินค้าชิ้นไหนมาเป็นตัวหลัก
SME Startup ฉบับนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับ The Apron Maker สตาร์ทอัพน้องใหม่จากมาเลเซียมาแชร์ เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตผ้ากันเปื้อนสำเร็จรูปและตามสั่งออนไลน์ แม้จะเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2021 แต่ธุรกิจก็ไปได้สวย ทำยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 300 ชิ้น ผู้ริเริ่มธุรกิจคือ 1 หนุ่ม กับ 2 สาวชาวมาเลย์ที่เป็นเพื่อนกัน ได้แก่ ซี เหยา, ซาแมนต้า และเหมย อี้
จุดเริ่มต้นมาจากช่วงที่มาเลเซียเริ่มประกาศล็อคดาวน์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีค. 2020 ประชาชนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น หลายคนไม่มีอะไรทำก็เริ่มมองหางานอดิเรก ซึ่งกิจกรรมท้อปฮิตช่วงกักตัวหนีโควิดคือเข้าครัวทำอาหาร ทำขนม หรือไม่ก็สร้างเวิร์กช้อปส่วนตัวเพื่อทำงานไม้ งานฝีมือ คนที่ทำกิจกรรมเหล่านี้มักสวมผ้ากันเปื้อน ทำให้ผ้ากันเปื้อนเป็นที่ต้องการในตลาด ซีซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทผลิตชุดยูนิฟอร์มมองเห็นโอกาสในการทำเงินจึงชักชวนมิตรสหายคือซาแมนต้า และเหมยมาร่วมทำธุรกิจด้วยกัน
พวกเขาได้ระดมสมองและกำหนดทิศทางผลิตภัณฑ์ว่าต้องเป็นผ้ากันเปื้อนคุณภาพสูง ผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการ และสะท้อนความเป็นตัวตนหรือบุคลิกของผู้ใช้งาน แน่นอนว่ามีการผลิตผ้ากันเปื้อนสำเร็จรูปออกวางขายจำนวนมากอะไร แต่ซีมองว่าผ้ากันเปื้อนแบบเดิมๆ หรือที่มีในตลาดน่าจะยังไม่เป็นที่พึงใจของลูกค้าบางกลุ่ม ดังนั้น The Apron Maker จึงเน้นไปที่การผลิตตามสั่งโดยลูกค้าสามารถเลือกแบบ ลวดลาย สีสัน และจำนวนกระเป๋าที่อยู่บนผ้ากันเปื้อนได้ตามชอบ
ส่วนผู้ผลิตผ้ากันเปื้อนบางรายที่รับผลิตตามสั่งก็เน้นที่ลวดลายมากกว่าจะเป็นความเนี้ยบหรือคุณภาพ ซีและเพื่อนจึงตั้งใจจะทำให้ The Apron Maker แตกต่างจากคู่แข่ง อาทิ รับผลิตผ้ากันเปื้อนคู่รัก หรือผ้ากันเปื้อนส่วนตัวที่ปักชื่อเจ้าของ นอกจากสั่งเพื่อใช้เอง ยังเหมาะสำหรับสั่งทำเพื่อเป็นของฝาก หรือของขวัญได้ด้วย
ทีมงาน The Apron Maker มีข้อได้เปรียบตรงที่ซีเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชุดยูนิฟอร์มเอง ทำให้สามารถควบคุมหรือคัดสรรวัตถุดิบ และผ้าที่ใช้ผลิตผ้ากันเปื้อนได้ ซึ่งแต้มต่อตรงนี้ทำให้ทีมงานมั่นใจว่าผ้ากันเปื้อนภายใต้แบรนด์ The Apron Maker จะไม่ทำให้เสียชื่อแน่นอน
เมื่อผนวกกับประสบการณ์ด้านการผลิตของซี ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลของซาแมนต้า และจุดแข็งของเหมย อี้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดูเหมือนนี่จะเป็นดรีมทีมในการก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ หลังจากตกลงว่าจะทำธุรกิจผลิตผ้ากันเปื้อน หุ้นส่วนทั้ง 3 ก็เริ่มศึกษาข้อมูล และทำวิจัยตลาด ระหว่างนั้น พวกเขาใช้เงินทุนที่ลงขันกัน 10,000 ริงกิตหรือราว 80,000 บาทในการผลิตตัวอย่างผ้ากันเปื้อนแบบต่าง ๆ ออกมา ก่อนเริ่มรับออร์เดอร์เมื่อต้นปี 2021
The Apron Maker มีทีมงานทั้งหมด 7 คนรวมดีไซเนอร์ที่จะพูดคุยกับลูกค้า และร่างแบบผ้ากันเปื้อนให้ลูกค้าดู เมื่อลูกค้าตัดสินใจเลือกแบบได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เริ่มตั้งแต่การเลือกผ้า เลือกลาย ตัดเย็บจนสำเร็จ บรรจุหีบห่อและจัดส่งถึงลูกค้า สำหรับราคาผ้ากันเปื้อนจะค่อนข้างสูงคือเริ่มต้นที่ 99.90 ริงกิต (ราว 800 บาท) ต่อผืน
ถึงกระนั้น บริษัทก็สามารถทำยอดขายประมาณ 300 ชิ้นต่อเดือน โดย 80 เปอร์เซนต์ของลูกค้าเป็นกลุ่มที่สั่งทำผ้ากันเปื้อนเป็นของขวัญและของฝาก แต่ระยะหลัง เริ่มมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เป็นองค์กรหรือบริษัทที่จะสั่งตัดคราวละหลายชิ้น ด้วยเหตุนี้ เวลามีออร์เดอร์เข้ามาพร้อมกันทีละหลายออร์เดอร์ ทีมงานจึงพยายามทำงานอย่างรวดเร็วและแม่นยำเพื่อส่งมอบงานให้ตรงเวลาที่นัดหมาย
แม้ในขณะนี้ The Apron Maker จะมีข้อเลือกที่ค่อนข้างจำกัด แต่ผู้บริหารกำลังเตรียมเพิ่มสี และลายให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น นอกจากนั้น ยังกำลังพัฒนาระบบที่อำนวยความสะดวกในการออกแบบสินค้าระหว่างทีมกับลูกค้าเนื่องจากในปีหน้า The Apron Maker มีแผนจะขยายบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซียหลังจากที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างน้อยวันละ 100 ชิ้น
เมื่อคิดจะมอบของขวัญของฝากแก่กัน หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงผ้ากันเปื้อนเป็นสิ่งแรก แต่การระบาดของโควิดและการล็อคดาวน์กลับพลิกผันทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ผ้ากันเปื้อน จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นสินค้าขายดี ทั้งนี้ ผ้ากันเปื้อนไม่ได้เป็นเทรนด์ที่เสื่อมความนิยมง่าย แต่เป็นของใช้ที่จำเป็นต้องมี และลูกค้าจำนวนมากพิถีพิถันถึงขั้นยอมสั่งตัด ทีมงาน The Apron Maker เชื่อว่าหากพวกเขาไม่หยุดนิ่ง ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ธุรกิจนี้ก็จะดำเนินไปอย่างยั่งยืน
ที่มา : https://vulcanpost.com/759106/the-apron-maker-customisable-aprons-malaysia/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup