Starting a Business
จาก Gluta Story สู่ Homer ยูทูปเบอร์ผันตัวเป็นพ่อค้าต้นไม้ ที่ใช้สตอรี่เป็นจุดขายจนปัง
จากยูทูปเบอร์และเจ้าของเพจชื่อดังอย่าง Gluta story ได้ผันตัวมาเป็นคนขายต้นไม้ในช่วงโควิดต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง นี่คือ ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ ที่ได้เปิดเพจ Homer โฮมเมอร์ - ของแต่งบ้าน และ ต้นไม้ ตั้งแต่โควิดรอบแรกเมื่อปีพ.ศ. 2563 จนปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 6 หมื่นคน
- หยิบความชอบมาต่อยอดเป็นธุรกิจในช่วงโควิด
โดยยอร์ชเล่าถึงความเป็นมาของ Homer ให้ฟังว่าเขากับแฟน (ส้ม) ชื่นชอบต้นไม้เป็นทุนเดิมบวกกับความชอบในการแต่งบ้านและสารพัดของกุ้กกิ้ก จนกระทั่งโควิดมาเยือนคือบททดสอบให้เราทุกคนต้องหยิบเอาความชอบสำรองมาใช้เพื่อเอาตัวรอด
“ผมกับส้มชอบต้นไม้มาแต่ไหนแต่ไร ส้มชอบไม้ใบไม้ด่างตั้งนานแล้ว ตัวผมเองชอบบอนไซ และส่วนหนึ่งเราชอบของแต่งบ้านด้วย จนโควิดเหมือนสุดท้ายแล้วเราต้องหยิบความชอบสำรองมาใช้ในการเอาตัวรอด กลายเป็นว่าผมคิดแล้วทำเลย เปิดเพจ Homer ขึ้นมา หัวใจหลักคือการขายของแต่งบ้านเสริมด้วยต้นไม้ แต่ไม่รู้อีท่าไหน ผู้ติดตามส่วนใหญ่ของเราชอบต้นไม้มากกว่า”
จากที่เคยคิดว่าจะคัดสรรของแต่งบ้านน่ารักมาขายเป็นหลัก แต่ด้วยกลุ่มลูกค้านิยมต้นไม้มากกว่า ทำให้สัดส่วนของต้นไม้เยอะกว่าของแต่งบ้าน
“จากตอนแรกเราเริ่มสั่งของจากต่างประเทศนำเข้ามา ของแต่งบ้าน โคมไฟ คนไม่ค่อยสนใจ แต่พอเราขายต้นไม้ ออกเร็วมาก คนแย่งกัน เราเลยลดปริมาณ ของแต่งบ้านและไปเพิ่มต้นไม้มากขึ้น”
- ใช้ Content เพื่อ Connect กับคนดู
สไตล์การขายของเพจ Homer ไม่ใช่การเป็นพ่อค้าหรือธุรกิจจ๋า แต่อยากทำให้พื้นที่นี้เป็นเหมือน Content Creator สำหรับคนรักต้นไม้
“เราอยาก Connect กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องไม่อยากให้เขารอ เราก็มีการรับต้นไม้จากที่อื่นมาขายด้วย มีการเพาะพันธุ์เองด้วย เรามองว่า Homer ไม่ได้เป็นร้านขายต้นไม้เต็มตัว แต่เราเป็นเหมือน Content Creator เรื่องต้นไม้ คนรักต้นไม้มากกว่า โดยสิ่งสำคัญคือเราต้องรักกับสิ่งนั้นจริงๆ ไม่งั้นคนดูจะรับรู้ถึงพลังงานของเรา ถ้าต้นไม้ต้นนี้เรารักมาก เขาจะรับรู้ว่าเรารักจริงๆ มันจะออกมาให้เห็น ใบมันจะเงา มันจะตึง เกิดจากความรัก ความเอาใจใส่”
โดยเขาเสริมต่อว่าสไตล์การทำคอนเทนต์ในแบบฉบับของตนเอง มีหลักยึดด้วยกัน 3 เรื่องคือ
Insight - ต้องรู้จักกับประสบการณ์ของคนดู ต้องรู้ว่าถ้าเราพูดเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกียวกับที่เขาประสบอยู่ เขาต้องรู้จัก ไม่ใช่อยู่ๆ ไปพูดเรื่องที่ไม่เชื่อมโยง ยกตัวอย่างเช่น การเอาสถานการณ์ต่างๆ มาแซว อย่างคนรักต้นไม้ ดึกดื่นค่ำคืน จะชอบเดินไปมองต้นไม้ มองอยู่นั่นแหละ
Impact - ทำอย่างไรให้กระแทกตา เตะตาคน พวกนี้จะเป็นการใช้ visual ในการเล่าเรื่อง เช่น ถ่ายรูปกับต้นไม้ให้ดูใหญ่ ดูสวย เต็มตาหรือ visual ตลกๆ เรามีตัวละครจาก Gluta Story อยู่แล้ว เวลาเราทำวิธีเปลี่ยนกระถาง แทนที่จะเอาเป็นต้นไม้ ก็เอากระถางมาใส่ตูดหมาแทน เป็นเรื่อง visual impact คนเลื่อนผ่านมาเห็นก็ตลก เตะตาคน
Identity - เราต้องมีอัตลักษณ์ชัดเจน แค่เห็นภาพก็รู้แล้วว่ามาจากเพจของเรา
- เลือกต้นไม้ที่ออกง่าย ขายคล่อง
อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เพจ Homer เติบโตเร็ว นอกเหนือจากคอนเทนต์และตัวละครน่ารักอย่างเหล่าน้องหมาแล้ว นั่นคือการเลือกโพรดักส์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า โดยเขาจะเน้นเป็นต้นไม้ที่ออกง่าย จับต้องง่าย ราคาไม่แรง เหมาะสำหรับมือใหม่ อาทิ เบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง, Milk confetti เป็นต้น
“ส่วนใหญ่ของผมจะเป็นไม้ที่มือใหม่เขาเล่นกัน ไม่ได้ไฮเอนมาก เพจผมไม่ได้เล่นไม้นักสะสมแพงๆ คนจะถามหาต้นที่ราคาไม่สูง เข้าถึงง่าย เก็บง่าย เราก็จะหาต้นไม้เหล่านี้มาเสิร์ฟคน ลูกรักของผมจะเป็นต้น มอนสเตอร่าอัลโบ้กับเบอร์เบิ้ลมาร์ค เหมือนเป็นตัวตนของเพจ Homer ด้วย”
- ต้องมีความรักควบคู่กับความรู้
เมื่อกระแสการปลูกต้นไม้ขายกำลังมาแรง มีคนมากมายต้องการเข้ามาในวงการนี้ แต่สุดท้ายแล้วจะไปอีกไกลแค่ไหน ก็ยังไม่มีใครรู้
“ผมว่ามันไปได้อีกไกล จริงๆ แล้วตอนแรกกลุ่มนี้มันเฉพาะ แต่ตอนนี้กลายเป็นแมส แล้วสุดท้ายจะกลายเป็นกลุ่มเฉพาะเหมือนเดิม จะเหลือแค่คนที่รักจริงๆ ช่วงนี้ตลาดมันบูมมากๆ ผมเองเป็นแอดมินก่อตั้งกลุ่มคนรักไม้ด่างใน Facebook ด้วย สร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาก็จะเห็นปริมาณการเติบโตของคนในช่วง Lockdown ที่ 3 จะเยอะที่สุด เพิ่มมาเป็น 2 แสนกว่าคนทั่วประเทศ ทำให้เห็นว่าคนตื่นตัวกับกระแสไม้ด่างและพยายามเข้ามาในวงการนี้”
โดยยอร์ชปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณอยู่ในวงการต้นไม้ได้อย่างยั่งยืน
“ผมเห็นหลายคนว่าพอตลาดไม้ด่างค่อนข้างกระชุ่มกระชวย เขาก็อยากเข้ามาบ้าง แต่ก็จะมีคนที่เข้ามาเพื่อมองแต่ธุรกิจหรือช่องทางการตลาดอย่างเดียว แต่ลืมมองสิ่งสำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ วิธีการเลี้ยงดูหรือเรื่องละเอียดอ่อนของต้นไม้ ผมมองว่าสิ่งสำคัญของธุรกิจคือองค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้ และจะรู้จากสิ่งที่เรารัก ถ้าเรารักก็จะค้นหาข้อมูล ทดลองกับต้นไม้ของเรา ถ้าเราไม่มีความรักและความรู้ด้วย มองหาแต่ช่องทางการตลาด คิดว่ามันจะมีทางลัด สุดท้ายก็จะหายไป”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup