จากตากสู่กรุงเทพฯ Tiengna Viennoiserie ร้านขนมฝรั่งเศสสุดปัง การันตีด้วยยอดขนม 1,500 ชิ้นต่อวัน
หากจะดูว่าขนมร้านไหนขายดี อาจวัดได้จากจำนวนชิ้นขนมที่หลากหลายอัดแน่นในตู้ ที่ถูกนำมาเติมตลอดเวลาไม่ขาดสาย ความคลาคล่ำของผู้คนในร้านตั้งแต่เช้าจรดเย็น จำนวนคนที่ต่อแถวรอคิว และลึกไปกว่านั้นระยะเวลาเปิดครัวในแต่ละวัน แต่เชื่อหรือไม่ดัชนีชี้วัดทั้งหลายเหล่านี้ มีอยู่ใน Tiengna Viennoiserie ร้านขนมฝรั่งเศส ที่แม้จะเพิ่งเปิดร้านเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ก็ยังขายดิบขายดี มียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,500 ชิ้นต่อวัน
มากไปกว่านั้น Tiengna Viennoiserie ร้านเบเกอรีแบบฝรั่งเศสแท้ๆ ที่ถูกจับตามองมากที่สุดนี้ ยังเป็นสาขา 2 ที่ขยับขยายมาจากจังหวัดตาก ที่ได้ชื่อว่าจังหวัดชายแดนไทยอีกด้วย
นักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางถนนสายเอเชียมุ่งสู่เชียงใหม่จะคุ้นเคยกับเถียงนา Coffee and Bakery Farm คาเฟ่ร้านดังของจังหวัดตาก ซึ่งเป็นเหมือน Hidden Gems เป็นอย่างดี ด้วยความที่ภายนอกดูไม่มีอะไรเลย แต่หากเลี้ยวรถเข้าไปแล้วก็จะพบกับความร่มรื่นของต้นไม้และนาข้าว เหมือนเข้ามาอีกโลกหนึ่ง ที่สำคัญที่นี่มีขนมฝรั่งเศสแสนอร่อย ซึ่งร้านเถียงนา Coffee and Bakery Farm นี้เป็นจุดเริ่มต้นของ 2 พี่น้อง เชฟต่วน-วันศีล จันทร์อินทร์ และ แพร-มุทิตา จันทร์อินทร์ ที่ร่วมกันสร้างจากคาเฟ่เล็กๆ ไม่ถึง 10 ที่นั่ง แต่ในวันนี้กลายเป็นคาเฟ่ 200 ที่นั่งไปแล้ว
ความสำเร็จของร้านคาเฟ่ต่างจังหวัด ไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตต่อไปได้ เมื่อแพรและต่วนคิดอยากจะสร้างชื่อในระดับประเทศ ซึ่งของดีที่มีอยู่ในมือนี้หากยังอยู่ต่างจังหวัดเช่นนี้ต่อไป ก็ยากที่จะสร้างชื่อระดับประเทศได้ สองพี่น้องจึงคิดการณ์ใหญ่อยากจะรุกเข้าสู่เมืองกรุง
“อยู่จังหวัดตากให้เก่งยังไงก็ไม่มีวันดังไปถึงระดับประเทศได้ แต่ถ้าเราเข้ามากรุงเทพฯ เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ เขาสามารถซื้อขนมที่ต่วนทำซึ่งใช้วัตถุดิบดีมีคุณภาพ ขนมก็สามารถทำราคาได้ด้วย นอกจากนี้ การทำร้านขนมจำเป็นต้องมีวอลุ่ม ด้วยความที่เราอยากให้ขนมเต็มตู้ ตู้หนึ่งมีประมาณ 17 ชนิด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคนไม่ได้ซื้อเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าเรามาอยู่กรุงเทพฯ จะสามารถทำเยอะๆ ได้ เราอยากที่จะเข้าเมืองให้เถียงนาเป็นที่รู้จักมากกว่านี้”
วิธีการหยั่งเชิงจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการออกอีเวนต์ 3 วันในกรุงเทพฯ ซึ่งผลตอบรับเกินความคาดหมายมาก ด้วยปรากฏว่ามีลูกค้ามารอตั้งแต่ยังไม่เปิดบู๊ธ ขนมหมดเกลี้ยงภายใน 1 ชั่วโมง ต้องนำมาเติมอีกเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันนั้นขายได้ถึง 800 ชิ้น
เมื่อมีความมั่นใจในฐานลูกค้าคนกรุงเทพฯ ทั้งคู่จึงไม่ลังเลที่จะเลือกปักหลักครั้งแรกที่ใจกลางเมืองอย่างสุขุมวิท 39 แม้ค่าเช่าจะสูงก็ตาม
“เราตั้งใจที่จะต้องอยู่กลางเมือง เพราะเรามาจากต่างจังหวัด เราไม่อยากไปอยู่ชานเมืองหรือไปอยู่ขอบเมือง เราเลยเลือกที่นี่เลย เราต้องการสร้างตัวตนที่ชัดเจน สร้างคาเฟ่ให้มีบรรยากาศฝรั่งเศสข้างนอกมีระเบียงมีกันสาดยื่นออกมา มีความเป็นเถียงนาที่มีความเป็นชนบทอยู่ด้วย”
การขยายธุรกิจเกิดขึ้นด้วยคอนเซปต์ใหม่ ภายใต้ชื่อ Tiengna Viennoiserie เมื่อถึงกำหนดเปิดร้านโควิดระลอก 2 ก็กำลังเกิดขึ้น แต่แพรบอกว่า “เราจ่ายค่าเช่ามาหลายเดือนแล้ว เมื่อร้านเสร็จ ถ้ายังไม่เปิดร้านอีกก็ต้องเสียเงินเสียไปโดยที่เรายังไม่ได้อะไรเลย รู้สึกว่ายังไงก็ต้องเปิดแล้ว”
Tiengna Viennoiserie เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งที่แทบไม่ได้ทำการตลาดเลยด้วยซ้ำ เชฟต่วนบอกเหตุผลว่าเป็นเพราะชื่อเสียงและฐานลูกค้าเดิมที่ช่วยจุดพลุสร้างกระแสขึ้นมา
เชื่อหรือไม่ ในวันแรกของการเปิดร้านขนมถูกขายหมดตั้งแต่ก่อนเที่ยง และปิดยอดการขายที่ประมาณ 1,000 ชิ้น เชฟต่วนบอกว่าเปิดได้ 2 วัน ก็ต้องปิดร้าน 2 วันเพื่อกลับมาตั้งหลัก ปรับระบบ ทำสต็อก เพราะทุกอย่างเกินคาดมากๆ มีคนต่อคิวยาวออกไปหน้าร้าน เสาร์-อาทิตย์ที่นั่งเต็ม แม้ในตอนนี้จะนั่งในร้านไม่ได้ก็มียอดซื้อกลับบ้านและดิลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งขายได้ประมาณ 1,500 ชิ้น และที่ขายดีที่สุดถึง 2,000 ชิ้นต่อวัน ครัวของที่นี่ต้องเปิดตลอดนาน 20 ชั่วโมง นับเป็นการก้าวข้ามร้านที่มาจากจังหวัดชายแดน และการเปิดร้านในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ ที่ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อเถียงนาได้เลย
“ตอนนี้เรามีขนมรวมคุกกี้ประมาณ 30 ชนิดที่หน้าตู้ เราชอบความหลากหลายเวลาไปร้านร้านหนึ่ง เราอยากที่จะมีตัวเลือกเยอะๆ แล้วในตัวเลือกนั้นก็จะต้องอร่อยทุกอย่างด้วย เราไม่ได้มีแค่ครัวซองต์ ยังมีบริออช ซอฟต์บัน โดนัทฝรั่งเศส พัฟฟ์ และขนมอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนไทยอาจจะยังไม่รู้จัก แต่เราจะเน้นขนมฝรั่งเศส ซึ่งมีเป็นร้อยชนิดที่เป็นขนมคลาสสิก คำว่าคลาสสิกนี้คือต้นกำเนิดมาแล้วประมาณ 200-300 ปีขึ้นไป”
ในอนาคตทั้งคู่วางเป้าหมายที่จะกระจายขนมฝรั่งเศสของเถียงนาให้คนรู้จักมากขึ้น ในรูปแบบป๊อปอัพ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่ได้อยากมีสาขา 3 ในกรุงเทพฯ เราชอบความเป็นป๊อปอัพแบบจบเป็นงานๆ มากกว่า มันให้ความรู้สึกเฟรช เราจะไปอยู่ในห้างฯ เพื่ออะไร ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ดิลิเวอรีส่งถึงกันหมดไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไปอยู่ในห้างฯ คนก็ซื้อกลับบ้านอยู่ดี” อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาไม่ใช่เป้าหมายเดียว พวกเขาวางแผนที่จะเปิดโรงเรียนสอนทำขนมฝรั่งเศสในอนาคตอีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup