Starting a Business
ส่องไอเดีย Startup ไทยไฟแรงเตรียมดันพืช Wolffia เป็น superfood ของดีแห่งสยามเทียบชั้นมัทฉะของญี่ปุ่น
ถ้าเอ่ยถึง Wolffia (วูฟเฟีย) หลายคนอาจจะงงว่ามันคืออะไร แต่ถ้าเรียกใหม่ในชื่อ "ผำ" หรือ "ไข่น้ำ" เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงรู้จัก โดยเฉพาะคนไทยทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมักนำพืชชนิดนี้มาทำเป็นอาหารท้องถิ่นรับประทานกันมายาวนานหลายศตวรรษแล้ว ทว่าหลายคนอาจไม่รู้ว่านี่คืออาหารชั้นดี ปัจจุบันมีปัจจุบันมีนักวิจัยและนักโภชนาการทั่วโลกยกย่องว่า Wolffia เป็นสุดยอดอาหาร superfood ที่มาแรงในขณะนี้
วิษุวัต สงนวล Co Founder, Advanced GreenFarm Co., Ltd. มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงพืชน้ำขนาดเล็ก อธิบายเพิ่มว่า คนไทยบางคนอาจจะเคยเห็นพืชชนิดนี้กันบ้าง แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนช่างสังเกตอาจจะมองไม่เห็น Wolffia เพราะมันเป็นพืชขนาดจิ๋วที่มีลักษณะเป็นเม็ดสีเขียวลำต้นมีขนาดเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร มักเจริญเติบโตได้ดีบริเวณน้ำจืดที่สะอาด
"Wolffia เป็นเสมือนพืชแห่งโลกอนาคต ที่หลายประเทศทั่วโลกต้องการ ด้วยคุณสมบัติของมันที่มีโปรตีนสูงถึง 2 เท่าของถั่วเหลืองเมื่อรับประทานในปริมาณแคลอรี่ที่เท่ากัน เป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่มีโปรไฟล์ของกรดอะมิโนใกล้เคียงกับที่ได้จากเนื้อสัตว์ และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นพืชในวงศ์แหนซึ่งเป็นพืชกลุ่มเดียวที่มีวิตามิน B12 ที่ปกติไม่พบในพืชชนิดอื่น ตอบโจทย์ของผู้ที่ทานอาหาร plant-based นอกจากนี้ Wolffia ยังใช้ทรัพยากรน้อยเพราะเป็นพืชน้ำที่โตไว เพียง 3 วันก็เพิ่มจำนวนเป็นสองเท่า ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อยกว่าถั่วเหลืองถึง 30 เท่าในการผลิตโปรตีนในปริมาณที่เท่ากัน จึงเป็นพืชที่มีความ sustainable มาก แถมยังเป็นพืชขนาดเล็กจิ๋วที่รับประทานได้ทุกส่วน ช่วยผลักดันเรื่อง zero-waste movement ได้ด้วยเป็นอย่างดี"
จากนักวิชาการสู่นักธุรกิจ
ด้วยคุณสมบัติที่ดีของ Wolffia ที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัท Advanced GreenFarm สนใจที่จะนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจจริงจัง เพราะได้แรงกระตุ้นจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันท่านหนึ่งที่มาตามหา Wolffia เพื่อนำไปเผยแพร่ในยุโรป พร้อมแนะนำให้เพาะเลี้ยงเพราะในตลาดโลกมีความต้องการพืชชนิดนี้มาก
“เท่าที่ทราบตอนนี้มีบริษัทอิสราเอลที่เพาะเลี้ยง Wolffia ส่งไปอเมริกา ทั้งๆ ที่บ้านเขาไม่มีพืชชนิดนี้ แต่เขาได้รับเงินสนับสนุนเป็นร้อยล้าน ในขณะที่บ้านเราเองมีพืชนี้จำนวนมาก และเราในฐานะคนไทย มีความรู้ทางด้านนี้ถ้าไม่เริ่มแล้วใครจะเริ่มทำ อยากใช้ความรู้ที่มีพยายามให้คนไทยรู้จักมากขึ้นและหันมารับประทานพืชที่มีประโยชน์”
ดั้งนั้นไม่เพียงนำ Wolffia มาเพาะเลี้ยง บริษัท Advanced GreenFarm ยังได้พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้บริษัทได้นำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบให้สามารถเป็นส่วนประกอบอาหาร นำไปผสมทานได้กับอาหารต่างๆ ได้อย่างง่าย ไม่ว่าจะโรยไข่เจียว หรือบนขนมเค้ก ฯลฯ
“จุดเด่น เหมาะกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่ทานผักยาก เพราะว่ามันเล็กมาก ไม่มีกลิ่นฉุน ทำให้ทานง่ายแล้วยังมีประโยชน์มากมาย”
ส่วนวิธีการทำตลาดบริษัทฯ จะเน้นไปในกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ กลุ่มวีแก้น รวมทั้งร่วมมือกับร้านอาหารต่างๆ เพื่อทำให้ Wolffia เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“แม้จะเพิ่งเริ่มได้หนึ่งปีแต่ก็รู้สึกเซอร์ไพรส์ ที่ได้รับความคนสนใจเยอะมาก มีทีวีหลายรายการที่ให้ความสนใจเชิญไปร่วมรายการ และก็มีคนรู้จักพืชชนิดนี้มากขึ้น ซึ่งมันตรงกับความฝันวันของ ผศ. ดร.เมธา มีแต้ม CEO/co-founder ที่ต้องการให้คนรู้จัก Wolffia เพิ่มขึ้น ให้คนได้ทานก็ภูมิใจแล้ว”
อย่างไรก็ตามวิษุวัต ยอมรับว่าด้วยพื้นฐานที่ตนเองเป็นอาจารย์ ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจจึงพบกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน การตลาด กฎหมาย ต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัวเพราะบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การเดินต้องเข้าไปทักทายคนที่ไม่รู้จัก ต้องปรับตัวเองพอสมควรและต้องอาศัยความอดทนเพื่อจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปให้ได้
“ชีวิตไม่เคยคิดทำธุรกิจ แต่ถึงวันหนึ่งที่รู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำแล้ว อาจมีต่างประเทศเอาไปทำ ประกอบกับเราได้เจอสิ่งที่ดี จึงอยากเริ่มและอยากทำเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาเห็นว่างานวิจัยที่เราเรียนรู้ค้นคว้ามันเป็นไปได้ในทางธุรกิจ เพียงแต่ต้องไปช่องทางแบบไหน ต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะการเป็น Startup เวลาก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะทุกวันที่ผ่านไปคือเงินที่เสียไป ต้องคิดไวทำไว”
สำหรับเป้าหมายต่อไปของ Advanced GreenFarm ที่จะพยายามทำให้คนไทยรู้จัก Wolffia แล้วเป้าหมายต่อไปคือ การทำตลาดต่างประเทศ
“ถ้าเป็นไปได้อยากให้ Wolffia เป็นเหมือนมัทฉะญี่ปุ่น ให้คนที่ได้กินนึกถึงประเทศไทยว่า Wolffia ที่ดีที่สุดต้องมาจากประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น”
แม้อาจต้องใช้เวลาแต่อย่างน้อยก็ถือว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup