Starting a Business
KRAM-HUG ใส่ดีไซน์ให้กับงานหัตถกรรมชุมชน
Main Idea
- หลังจากมีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรมของชุมชน และพบว่าผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชนส่วนใหญ่ขาดการออกแบบ
- นภัต ตันสุวรรณ และ ปาณิสรา มณีรัตน์ จึงมีความตั้งใจอยากนำความรู้ด้านการออกแบบของตนเอง มาพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชน แบรนด์ KRAM-HUG
เพราะบางประสบการณ์หาไม่ได้จากห้องเรียน สองหนุ่มสาว หนึ่ง-นภัต ตันสุวรรณ และ ป๊อป-ปาณิสรา มณีรัตน์ จึงชวนกันเข้าร่วมโครงการประกวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิเทศศิลป์ ภาควิชาที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อโครงการจบ แต่ไม่อยากให้งานที่เคยทำส่งประกวด ตลอดทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้มาหายไปเลยจับมือกันสร้างแบรนด์ KRAM-HUG เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมงานที่สร้างสรรค์จากองค์ความรู้ที่มี
โครงการประกวดที่ทั้งสองเข้าร่วมมีทั้งโครงการเกี่ยวกับงานออกแบบ งานกราฟิก และงานแฟชั่น แต่หนึ่งในโครงการที่เป็นแรงผลักดันให้ทั้งคู่ก่อตั้งแบรนด์ KRAM-HUG คือ โครงการเกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชนโดยใช้การออกแบบ เพราะหลังจากมีโอกาสลงชุมชนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรมของชุมชนก็พบว่า ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชนส่วนใหญ่ขาดการออกแบบ จึงมีความตั้งใจอยากนำความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชนให้ออกมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่
KRAM-HUG เป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยความรักในงานทอ งานย้อม งานปัก และงานพิมพ์ ทำงานภายใต้แนวคิด Community to Creative นั่นคือ การทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานหัตถกรรมและงานออกแบบซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน เพราะชุมชนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาต่อยอดต่อไปได้
สินค้าหลักของ KRAM-HUG คือ เสื้อผ้าที่ออกแบบให้มีความทันสมัย มีสีสันให้เลือกมากกว่าแค่สีคราม เหมาะกับลูกค้าวัยรุ่นจนถึงวัยทำงานที่ชื่นชอบการแต่งตัว เสื้อผ้าของแบรนด์แบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวด Collection ที่แต่ละคอลเลกชันมีเรื่องราวของชุมชนที่ร่วมออกแบบตัดเย็บซ่อนอยู่ เช่น รื้(ลื้)อใหม่ คอลเลกชันที่ทำร่วมกับชุมชนไทลื้อในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ใช้เทคนิคการทอผสมผสานวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ใยฝ้าย ใยข่า และใยกล้วย แต่คงไว้ซึ่งลวดลายดั้งเดิมตามแบบฉบับไทลื้อ ทุกคอลเลกชันเน้นการตัดเย็บที่ซับซ้อน มีรายละเอียดเยอะ ผลิตแบบ Limited Edition ในจำนวนน้อย พร้อมมีฟังก์ชันการใช้งานที่น่าสนใจ เช่น กางเกงขายาวที่ปรับเปลี่ยนเป็นกางเกงขาสั้นได้ และหมวด Ready to Wear ที่ตอบโจทย์ลูกค้าหลายระดับ เน้นการตัดเย็บที่เรียบง่าย และผลิตร่วมกับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่
“การทำงานร่วมกับชุมชนมีความยากในช่วงแรก เพราะต้องทำให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเรา ทำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงว่าไม่ได้มาหลอกถามความรู้ แต่มาเพื่อสร้างสรรค์งานดีๆ ร่วมกับพวกเขา มาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เพราะเราแบ่งเปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ขายได้ทุกชิ้นคืนให้แก่ชุมชน” ป๊อปกล่าว
แม้ KRAM-HUG จะเปิดมากว่า 3 ปี แต่ช่องทางหลักในการขายยังคงเป็นช่องทางออนไลน์ รองลงมาคือ วางขายใน Pop-Up Store ในห้างสรรพสินค้า และงานอีเวนต์ ซึ่งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่กว้าง การจะทำให้ลูกค้าหาร้านของ KRAM-HUG เจอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
“เราใช้วิธีพาแบรนด์ไปในที่ที่ลูกค้าอยู่ เพื่อให้ลูกค้าเห็นร้านของเรา การศึกษาไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของลูกค้า เช่น นิยมใช้งานโซเชียลมีเดียไหน และใช้งานในช่วงเวลาไหนมากที่สุด ทำให้รู้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน จากนั้นดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้าด้วยการนำเสนอสินค้าผ่านรูปที่ถ่ายเห็นสินค้าชัดเจน รูปมีสีที่ทำให้สินค้าดูน่าใช้ และเป็นสีที่สบายตาเวลาดู เพื่อให้เกิดการเลื่อนดูรูปต่อเรื่อยๆ ส่วนคำอธิบายสินค้าก็สำคัญ ต้องเขียนระบุให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นชื่อสินค้า และรายละเอียดต่างๆ เช่น ไซส์ สี ราคา การใช้งาน การดูแลรักษา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีผลให้ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้าจนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ” หนึ่งกล่าว
นอกจากนี้ ทั้งเขาและเธอยังให้ความสำคัญกับการโชว์เคสในงานที่เกี่ยวกับงานด้านการออกแบบ เพราะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ทั้งสองยังมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาแบรนด์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงงานหัตถกรรมไทยมากยิ่งขึ้นผ่านโปรเจกต์ KH Project ที่นำเอาบริบทของศิลปะไทยมานำเสนอในมุมมองใหม่ที่เชื่อมระหว่างความดั้งเดิมกับความร่วมสมัย
โทร. 08-0104-7150
Facebook : kramhug.co
Instagram : kramhug.co
Line : @kramhug.co
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup