Starting a Business

RHYMBA HILLS คลื่นลูกใหม่วงการชามาเลเซีย

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 



Main Idea
 
  • ซินดี้ หว่อง สาวนักบัญชีชาวมาเลเซีย สามารถแจ้งเกิด RHYMBA HILLS แบรนด์ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ที่นอกจากจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งไปขายต่างประเทศอีกด้วย
 
  • โดยเธอจะเน้นการทำการตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการสร้าง Brand Awareness จนทำให้เธอถูกมองว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในธุรกิจผลิตชามาเลเซีย
 

 

     เราจะพบว่ามีผู้ประกอบการหลายคนเลยทีเดียวที่เริ่มต้นธุรกิจเพราะแรงบันดาลใจจากการที่สินค้าในตลาดไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง ซินดี้ หว่อง สาวนักบัญชีชาวมาเลเซียก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อเธอออกไปสังสรรค์กับเพื่อน หลังมื้ออาหาร ทางร้านมักเสิร์ฟกาแฟหรือชาที่มีกาเฟอีนซึ่งไม่ถูกใจนักเนื่องจากเธอแพ้กาเฟอีน ซินดี้จึงคิดผลิตชาสมุนไพรปลอดกาเฟอีนขายเอง ใช้เวลาศึกษาข้อมูล หาแหล่งวัตถุดิบ และพัฒนาการผลิต จนในที่สุดฝันก็เป็นจริงเมื่อเธอสามารถแจ้งเกิด RHYMBA HILLS แบรนด์ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพในมาเลเซีย นอกจากจำหน่ายในประเทศทั้งยังส่งไปขายต่างประเทศอีกด้วย ทำให้ซินดี้ถูกมองว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในธุรกิจผลิตชามาเลเซีย

     ย้อนกลับไปช่วงเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ซินดี้มีความสนใจในเรื่องสุขภาพและมีความฝันอยากเป็นแพทย์ แต่ความฝันไม่เป็นจริงเมื่อเธอเบนเข็มไปเรียนด้านบัญชี หลังจบการศึกษาจาก Royal Melbourne Institute of Technology University ในออสเตรเลีย ซินดี้ได้งานในตำแหน่งนักบัญชีที่บริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง หน้าที่การงานอันแสนเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพและบั่นทอนความสุขในชีวิต เธอเริ่มตระหนักว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่รัก ทำให้เธอหาทางออกด้วยอาหาร

     ซินดี้ใช้ชีวิตแบบหลงระเริงไปกับการกิน เช่น อาหารฟาสต์ฟูดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อาหารมื้อดึกเป็นประจำทุกคืน น้ำอัดลมไม่มีวันไหนที่ไม่ดื่ม และการออกกำลังกายไม่เคยอยู่ในความคิด ผลคือน้ำหนักพุ่งเกินเกณฑ์ สุขภาพย่ำแย่ นอกจากเป็นสาวพลัสไซส์แล้วสิวยังเห่อขึ้นเต็มหน้า เธอจึงฉุกใจคิดได้ ลาออกจากงานบัญชี แล้วหันกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ จนทำให้สามารถลดน้ำหนักได้ 18 กิโลกรัมภายใน 9 เดือน

     หลังจากที่ลาออกจากบริษัทตรวจสอบบัญชี ซินดี้ก็หางานใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและการกินดีอยู่ดี วันหนึ่ง หลังมื้ออาหารนอกบ้านกับเพื่อนๆ เครื่องดื่มร้อนปลอดกาเฟอีนที่ทางร้านให้เลือกมีเพียงชาคาโมมายล์ และชาเปปเปอร์มินต์ ซินดี้เริ่มตั้งคำถามไม่มีชาทางเลือกอื่นบ้างเลยหรือ ทั้งที่มาเลเซียก็เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบชั้นดี นั่นคือสมุนไพรต่างๆ

     จากสถิติของทางการมาเลเซีย ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากน้ำเปล่า คาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทรนด์การดื่มชาในมาเลเซียจะมาแรงเฉกเช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย นอกจากนั้น ชายังมีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ บรรดาผู้ใส่ใจในสุขภาพจึงมักเลือกดื่มชาสมุนไพรปลอดกาเฟอีนและน้ำตาล เมื่อมองเห็นช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจ ซินดี้จึงลงมือทำ

     ปี พ.ศ.2554 เธอตั้งบริษัท Abundance Living Enterprise ขึ้นมาเพื่อผลิตชาสมุนไพรภายใต้แบรนด์ RHYMBA HILLS โดยตั้งเป้าจะปั้นให้เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจนักดื่มชา ซินดี้เริ่มจากการศึกษาข้อมูล พูดคุยกับเกษตรกรและใคร่ครวญถึงวิธีการที่จะทำให้ธุรกิจเป็นรูปเป็นร่าง เธอวางจุดขายของสินค้าที่การเป็น Herbal Infusion หรือชาสมุนไพร เพราะชาทั่วไปในท้องตลาด ไม่ว่า ชาดำ ชาอู่หลง ชาเขียวมาจากพืชตระกูล Camellia Sinensis แต่ชาสมุนไพรของเธอจะผลิตจากพืชอื่นและเครื่องเทศ เช่น ตะไคร้ ขิง กระเจี๊ยบ ใบเตย อบเชย และอื่นๆ ต่างจากชาสมุนไพร ประเภทลาเวนเดอร์ เปปเปอร์มินต์ คาโมมายล์ และกุหลาบแบบทางตะวันตก

     ซินดี้เลือกใช้สมุนไพรออร์แกนิกที่ปลูกในประเทศทั้งหมดเพื่อความสดใหม่ของวัตถุดิบ และยังเป็นการอุดหนุนเกษตรกร เป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม พืชสมุนไพรเหล่านั้นมาจากทางเหนือของประเทศ เช่น รัฐเกดะห์ รัฐเปรัก และปีนัง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรชั้นดี ยกเว้นขิงที่เธอเลือกจากเมืองเบนตอง รัฐปะหังเท่านั้น เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกขิงที่ดีที่สุดของมาเลเซีย ขิงที่นี่ให้กลิ่นหอมแรง เข้มข้นด้วยรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการเมื่อเทียบกับขิงจากแหล่งอื่น ส่วนอบเชย ในตลาดมี 2 แบบคือ Cassia กับ Ceylon แน่นอนว่าเธอเลือกอบเชย Ceylon จากศรีลังกาที่คุณภาพดีกว่าแม้ราคาจะสูงกว่าก็ตาม   

     การใช้วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศทำให้ชา RHYMBA HILLS ไม่เพียงเป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่ปลอดกาเฟอีน น้ำตาล และวัตถุปรุงแต่งรส หากยังถูกชูว่าเป็น Tea with Purpose หรือชาที่มีสรรพคุณในการส่งเสริม หรือบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ชาอบเชยที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และทำให้เลือดไม่ข้นหนืด เหมาะสำหรับคนทั่วไปและโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขณะที่ชาขิง ชากระเจี๊ยบ ชาใบเตย และชาอื่นๆ ก็ล้วนแต่มีสรรพคุณทางยาแตกต่างกัน เช่น ช่วยคลายเครียด ทำให้ผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับดีขึ้น เป็นต้น ชาสมุนไพร RHYMBA HILLS จึงจัดเป็น Functional Drink หรือเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพ

     ช่วงแรกของการทำการตลาด ซินดี้ใช้วิธีเปิดร้านเพื่อจำหน่าย เป็นการทดสอบสินค้า และการออกบู๊ธ การร่วมงานแสดงสินค้าตามที่ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และให้ลูกค้าได้ลองชิมชาของบริษัท หลังจากที่ได้รับการตอบรับดี เธอเริ่มขยับขยายช่องทางจำหน่ายโดยติดต่อกับตัวแทนต่างๆ จนในที่สุด สินค้าภายใต้แบรนด์ RHYMBA HILLS ก็ได้ไปวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ สปา ร้านขายยา และร้านค้าปลีกทั่วไป นอกจากนั้น เธอยังเจาะตลาดออนไลน์โดยประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม พร้อมกันนั้นก็จำหน่ายในเว็บอี-คอมเมิร์ซดัง อย่าง LAZADA และ 11street  
 
     และด้วยการควบคุมการผลิตให้เป็นไปตาม 3 มาตรฐานคือ GMP-การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร HACCP-ระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยของอาหาร โดยใช้การควบคุมจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม และ ISO22000-มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร จึงทำให้ชา RHYMBA HILLS เป็นที่ยอมรับจนสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และฮ่องกงได้ หลังจากที่เจาะตลาดต่างประเทศได้ 2 ประเทศ ซินดี้ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Ladang Sari International เพื่อเตรียมขยายไปยังประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย และอังกฤษ

     แม้จะทำยอดขายชา RHYMBA HILLS นับล้านซองหรือเทียบเท่าชาปริมาณ 2 ตัน แต่ซินดี้ก็ยังพยายามหาหนทางที่จะทำให้แบรนด์เติบโตก้าวไกลกว่านี้ โดยจะเน้นการทำการตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการสร้าง Brand Awareness เพื่อสามารถแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอย่างชาลิปตัน และชา BOH ของมาเลเซียเอง เป้าหมายอันสูงสุดของอดีตนักบัญชีสาวที่ผันมาบุกเบิกกิจการชาสมุนไพรของตัวเองคือ ภายในระยะเวลา 5 ปี เธอจะส่งชา RHYMBA HILLS ไปประชันในตลาดอย่างน้อย 100 ประเทศทั่วโลก และทำให้นักดื่มชาจากทุกที่ได้รู้จักมาเลเซียในฐานะแหล่งผลิตชาสมุนไพรคุณภาพ ฝันของซินดี้ หว่อง จะบรรลุตามเป้าที่วางไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup