Starting a Business
Girlfriend Collective เนรมิตรขยะจากขวดพลาสติกเป็นเสื้อผ้าสุดปัง
กระแสอนุรักษ์โลกเป็นประเด็นที่ไม่เคยเอ้าท์และสามารถนำมาขายได้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายริเริ่มธุรกิจโดยยึดโยงกับแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง Girlfriend Collective เองก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งจากอเมริกาที่จับกระแสนี้เช่นกัน แม้จะเป็นแบรนด์เลกกิ้งและบราน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงปีแต่ก็สร้างความฮือฮาด้วยสินค้าที่ชูจุดขายว่าผลิตจากขยะที่เป็นขวดพลาสติกซึ่งผ่านการรีไซเคิล และมาจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน SA8000
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Girlfriend Collective คือกวาง ดิงห์ หนุ่มอเมริกันเชื้อสายเวียดนามและเอลลี่ ภรรยา ทั้งคู่มีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และตั้งใจไว้ว่าต้องเป็นธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองเริ่มทำแบรนด์ Girlfriend Collective คือการมีโอกาสไปสังเกตการณ์ถึงวิธีการคัดขยะและรีไซเคิลขยะที่ไต้หวัน ทั้งนี้ เกาะขนาดเล็กที่มีประชากร 23 ล้านคนเคยได้รับฉายา “เกาะขยะ” เนื่องจากขยะที่ผลิตในแต่วันมีจำนวนมหาศาล รัฐบาลมองเห็นอันตรายและความเสียหายหากเพิกเฉย จึงเริ่มรณรงค์และทำการเปลี่ยนแปลงจนตอนนี้ไต้หวันกลายเป็นดินแดนที่มีการรีไซเคิลขยะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดย 55% ของขยะทั่วเกาะถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อแปรเป็นสิ่งของต่าง ๆ
สองสามีภรรยาตระกูลดิงห์จึงเกิดไอเดียผลิตเสื้อผ้าจากขยะพลาสติก หลังจากใช้เวลาตั้งแต่ต้นปี 2015 ในการทำวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตเส้นใยจากขวดพลาสติกจนสำเร็จ และแม้จะได้เป็นผ้าต้นแบบออกมาแต่ก็ยังมีการปรับแก้อีกหลายครั้งเพื่อให้ได้เนื้อผ้าที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 8 เดือนในการออกแบบและผลิต และในที่สุด ผลิตภัณฑ์เลกกิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็พร้อมเปิดตัวในเดือนเม.ย. 2017 และมีการเปิดรับออร์เดอร์ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาดเพราะบริษัทใช้กลยุทธ์ story telling เล่าถึงกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีหลายขั้นตอนกว่าจะได้ผ้ามาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์
กระบวนการเริ่มจากการคัดแยกขวดพลาสติกออกเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มก็มีการแยกสีแล้วส่งไปศูนย์รีไซเคิลที่กระจายทั่วไต้หวัน เลกกิ้งและบราของ Girlfriend Collective ผลิตจากพลาสติกกลุ่ม Polyethylene Telephthalate หรือที่เราเรียกขวด PET และมีสีใส หลังจากที่ล้างทำความสะอาดรอบแรก ขวดจะถูกตัดเป็นชิ้น (แผ่น) เล็กๆ จากนั้นก็ล้างอีกรอบและทำให้แห้งสนิท แผ่นพลาสติกเล็ก ๆ เหล่านั้นถูกหลอมครั้งที่ 1 เพื่อยืดเป็นเส้นขนาดเส้นสปาเกตตี้ เมื่อได้เส้นสปาเกตตี้มา ก็หั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ เพื่อนำไปหลอมครั้งที่ 2 คราวนี้ทำเป็นใยผ้าขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย ใยผ้าดังกล่าวถูกกรอเป็นม้วนแล้วส่งต่อไปโรงงานทอผ้า
ในการทอเป็นผ้าที่จะนำมาตัดเป็นผลิตภัณฑ์ Girlfriend Collective จะมีส่วนผสมของสแปนเด็กซ์เพื่อสร้างความยืดหยุ่น สัดส่วนของเนื้อผ้าจึงประกอบด้วย ขวด PET รีไซเคิล 79% ที่เหลือเป็นสแปนเด็กซ์ 21% เมื่อได้ผ้ามาแล้วก็ทำการย้อมสี ซึ่งขั้นตอนการย้อมนี้ ทางโรงงานก็ยังเคร่งคัดเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยจะทำการบำบัดน้ำที่เหลือจากการย้อมผ้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกครั้งก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ผ้าที่ผ่านการย้อมเรียบร้อยแล้วถูกส่งต่อไปยังโรงงานในฮานอยเพื่อผลิตเป็นสินค้า โรงงานดังกล่าวเป็นของครอบครัวชาวเดนมาร์กซึ่งคร่ำหวอดในธุรกิจสิ่งทอมาตั้งแต่ปี 1931 แต่เพิ่งมาเปิดโรงงานในเวียดนามเมื่อปี 2005 และเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน SA8000 อันเป็นมาตรฐานว่าด้วยสิทธิของแรงงานที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานของประเทศนั้นและสอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
แรกเริ่มสินค้าของ Girlfriend Collective มีเพียงเลกกิ้ง ถึงกระนั้นก็กลายเป็น Startup จากซีแอทเทิลที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุดแม้มีสินค้าเพียงอย่างเดียว จากนั้นบริษัทก็ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์เป็นบรา และกางเกงขาสั้นสำหรับใส่วิ่งและปั่นจักรยาน เจ้าของแบรนด์กล่าวว่าเขาต้องการกระตุ้นให้ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่ซื้ออะไรแต่อยากให้ดูไปถึงที่มาของสินค้าว่าผลิตอย่างไร อย่างเลกกิ้งของ Girlfriend Collective 1 ตัวทำจากขวดใช้แล้ว 25 ขวด ทางแบรนด์เชื่อว่าแฟชั่นที่ดีที่สุดไม่ได้อยู่ที่เทรนด์ หากอยู่ที่คุณภาพ ผลิตภัณฑ์ Girlfriend Collective เป็นสินค้าคุณภาพสูง ลูกส่วนใหญ่เมืองได้ลองใช้มักพูดเป็นเสียงเดียวว่าเป็นเลกกิ้งที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใส่มา
สำหรับสนนราคาเฉลี่ยเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อชิ้น แต่บางรุ่นราคาต่ำสุดอยู่ที่ 58 ดอลลาร์ ขนาดมีตั้งแต่ XXS ไปจนถึง XXXL จำหน่ายทางออนไลน์และจัดส่งใน 4 ประเทศเท่านั้นได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และออสเตรเลีย เนื่องจากหลายประเทศยังมีข้อจำกัดด้านราคาค่าส่งซึ่งแพงเกินไป ทั้งนี้ Girlfriend Collective เคยทำแคมเปญ Refer a Friend คือหากแนะนำแบรนด์ให้กับเพื่อน เพื่อนได้ส่วนลด 10 ดอลลาร์ ส่วนคนแนะนำได้เลกกิ้งฟรี 1ตัว แคมเปญประสบความสำเร็จงดงาม มีออร์เดอร์เข้ามากว่าหมื่นออร์เดอร์ในวันเดียว ส่งผลให้บริษัทผลิตไม่ทัน ทำให้จัดส่งสินค้าให้ลูกค้าล่าช้า และต้องยุติแคมเปญไปในที่สุด
ที่มา : www.businessinsider.com/girlfriend-collective-leggings-review, www.girlfriend.com/our-story
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี