Starting a Business

เรื่องเล่าจากผืนป่า ไอเดียสร้างเงินแสนจาก UNMELT





 
 
     ด้วยความที่ร่ำเรียนมาทางด้านกราฟิกดีไซน์ แต่หลงรักการเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีความคิดไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร จากข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ กิ๊บ-กรณิสา มงคลพรอุดม จึงคิดหาความลงตัวระหว่างความชอบและสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ จนมาลงตัวที่ Unmelt งานโปรดักต์รูปสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าเหล่าสัตว์ป่า หมอนสัตว์น่ารักๆ ปลอกแก้ว ส่วนผสมที่ตอบโจทย์ความต้องการของเธอได้

     อันที่จริงกรณิสาเริ่มต้นชิ้นงานแรกด้วยปลอกแก้วกาแฟโดยเกิดจากปัญหาส่วนตัวที่ต้องปั่นจักรยานไปซื้อกาแฟมาดื่มที่บ้านทุกวัน ซึ่งกว่าจะถึงบ้านปรากฏว่าน้ำแข็งก็ละลายแถมยังถือลำบากอีกต่างหาก จึงมีไอเดียที่จะทำแก้วเก็บความเย็นที่มีหูหิ้ว โดยพยายามสรรหาวัสดุต่างๆ และมาลงตัวแก้วไม้ก๊อกที่ข้างในเป็นพีวีซีและโฟมเก็บความเย็นอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ปลอกแก้วนี้เก็บความเย็นได้ถึง 4 ชั่วโมง โดยมีทั้งขายส่งให้ร้านกาแฟ ขายปลีกออนไลน์ และจับพลัดจับผลูรับออร์เดอร์ใหญ่ติดโลโก้ให้กับลูกค้า จึงเป็นที่มาของแบรนด์ Unmelt แต่เมื่อทำไปสักพักเธอกลับรู้สึกอิ่มตัว จึงคิดพัฒนาโปรดักต์ใหม่ที่เป็น Passion ของตัวเองและเป็นสิ่งที่ถนัดขึ้นมา

     “อยากทำอะไรที่ทำทุกวันแล้วไม่เบื่อ มันเป็น Passion ของเราจริงๆ ช่วงนั้นเริ่มเดินทางแบ็กแพ็กกับเพื่อนๆ หลงรักสัตว์ป่าและธรรมชาติก็เลยคิดว่าอยากเอามาผนวกกับทักษะของตนเอง ออกแบบเป็น มีทีมช่าง จึงทำเป็นกระเป๋าสัตว์ โดยมีคอนเซปต์ว่า ออกแบบโปรดักต์ที่เป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทั่วโลก อยากให้สิ่งที่เราทำเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้ทุกคนออกเดินทางท่องเที่ยวไปหาธรรมชาติ พอทำเสร็จก็เอาไปเช็กอินตามที่ต่างๆ ที่เป็นถิ่นกำเนิดของเขา”





     เมื่อความคิดลงตัวกรณิสาจึงเปลี่ยนคอนเซปต์โปรดักต์ใหม่ แตกไลน์ออกมาเป็นโปรดักต์เกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ เช่น โปรดักต์กระเป๋า เป็น Wildkeeper โปรดักต์หมอน เป็น Wildpillow และปลอกแก้ว เป็น Wildcase ภายใต้แบรนด์เดิมคือ Unmelt โดยเธอจะออกแบบเองด้วยการศึกษาวาดจากสัตว์ป่าจริงๆ ให้มีลักษณะคล้ายที่สุด ผสมผสานกับเทคนิคการปักผ้า เพื่อให้เกิดการผสมผสาน Texture ผ้าที่น่าสนใจและมีความแตกต่าง  

     “ใน Story ของแบรนด์จะเล่าเรื่องการเดินทางโดยให้โปรดักต์เป็นผู้เล่าเรื่อง โดยการเอาไปเช็กอินที่ต่างๆ เช่น กระเป๋าน้องหมีไปเช็กอินที่แคนาดา แล้วให้กระเป๋าน้องหมีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว และต่อไปอาจจะไม่ใช่สัตว์ป่า แต่เป็นใบไม้ ต้นไม้ในป่า ซึ่งเราพยายามออกแบบโปรดักต์ให้ใช้งานได้มีประโยชน์ไม่ใช่แค่น่ารักอย่างเดียว อย่างกระเป๋านอกจากใส่สตางค์แล้วก็มีที่ห้อยกุญแจด้วย เอาไปใช้ได้จริง ด้วยดีไซน์บวกฟังชันการใช้งานทำให้โปรดักต์ของเราตอบโจทย์ลูกค้า”



 

     เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจกรณิสาใช้เงินที่สะสมมาเพียง 5,000 บาทเพื่อทำปลอกแก้วกาแฟจากไม้ก๊อก ปัจจุบันหลังจากขยายโปรดักต์ทำให้เธอมีรายได้ถึง 6 หลัก สิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถสร้างผลกำไรได้มาก คือการบริหารจัดการที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นลีนโปรดักชั่น กล่าวคือ พยายามประหยัดต้นทุนทุกอย่าง เช่น ผ้าที่นำมาใช้จะไม่เหลือเศษที่เหลือทิ้ง ถ้าเหลือชิ้นเล็กก็สามารถเอามาปักกับปลอกแก้ว ขณะเดียวกันสัตว์ป่าที่ทำออกจำหน่ายจะมีแค่ 12 ตัวที่ขายดี ถ้าสัตว์ป่าตัวไหนมีแนวโน้มขายไม่ดี ก็จะหยุดผลิตทันทีแล้วออกแบบตัวใหม่มาแทนให้ได้ครบ 12 ตัวเพื่อไม่ให้ต้องเป็นภาระการสต็อกสินค้า ในวันนี้ทางด้านการจำหน่ายนอกจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมแล้ว ตอนนี้ Unmelt ยังมีวางจำหน่ายในร้านต่างๆ เช่น ร้าน Happening สาขาช่างชุ่ย The Jam Factory  เป็นต้น และยังมีร้าน Megafash สิงคโปร์อีก 5 สาขา


 

     สำหรับเป้าหมายนั้น กรณิสาบอกว่า จะขยายไลน์โปรดักต์ออกไปอีก เพียงแต่ถ้าเป็นแบรนด์อื่นอาจจะขยายในรูปแบบเป็นซีรีส์ของโปรดักต์ แต่เธอวางแผนที่จะขยายไปตามถิ่นที่อยู่ เช่น ตัวสลอธมาจากป่าเขตร้อน ก็จะขยายไลน์ออกเป็นสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าเขตร้อน คือขายเป็นพื้นที่มากกว่าที่จะขายเป็นไลน์โปรดักต์ เพื่อจะได้ขายได้ยกเซ็ตทีเดียว

     สุดท้ายกรณิสาได้ฝากข้อคิดสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจในมุมมองของเธอว่า การสร้างแบรนด์ต้องมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน ยิ่งมีคอนเซปต์ชัดเจน Value ก็จะยิ่งมาก ถ้าโปรดักต์อะไรที่ทำได้ง่ายเท่าไหร่ คนอื่นก็ทำง่ายเหมือนกันเท่านั้น ดังนั้น ถ้าโปรดักชั่นยาก แล้วมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน ธุรกิจก็จะอยู่ได้  
 
     FB : Unmelt
     IG : Unmelt
     Line : @unmelt 
     โทร. : 08-9114-7149 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี