Starting a Business

KOE’ จากชุดชาวเขาสู่สตรีทแบรนด์

Text : Kritsana S. Photo : ศุภสิทธิ์ สุโกมล


   เมื่อพูดถึงชุดชาวเขา หลายคนจะนึกถึงเสื้อพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยง หรือเสื้อม้งที่เรามักเห็นจนคุ้นตา แต่ หมอก-ชนิตา ยูระสิทธิ์ สาวเหนือจากเชียงราย ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับชุดเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก กลับหยิบเอาชุดชาวเขามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่มีคาแรกเตอร์เป็นตัวเองชัดเจน ภายใต้แบรนด์ Koe’ ที่อ่านว่า โคะ ซึ่งเป็นคำอุทานของคนเหนือ  

    



    “หมอกอยากทำ Koe’ ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคิดชื่อแบรนด์ โลโก้ คอนเซปต์ และเปิดเพจเฟซบุ๊กไว้แล้วด้วย แต่ไม่มั่นใจว่าสินค้าจะขายได้จริง จึงตัดสินใจเลื่อนเวลาเปิดแบรนด์ออกไป ซึ่งในช่วงที่รอเปิดแบรนด์ หมอกคิดได้อย่างหนึ่งว่า เราต้องทำให้ความชอบกับธุรกิจเดินไปด้วยกันให้ได้ เลยเริ่มศึกษากลุ่มลูกค้าอย่างจริงจังว่า พวกเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และนำข้อมูลที่ได้มาปรับให้เข้ากับสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากทำ นั่นคือ ทำสองไลน์สินค้า ภายใต้แบรนด์ Koe’ และผลิตในระบบพรีออร์เดอร์”
    

    สินค้าของ Koe’ แบ่งออกเป็น Koe’ Original ซึ่งเสื้อผ้าในไลน์นี้ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายทางภาคเหนือ ตัวอย่างเช่น กางเกง ได้แรงบันดาลใจจากร่มสันกำแพง ผ้าที่เลือกใช้จึงเป็นผ้าหนังกลับที่ให้ผิวสัมผัสเหมือนกระดาษสาและนำมาอัดพีซเอง และจั๊มสูท ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อกะเหรี่ยงตัวยาว แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวเวลาใส่ จึงออกแบบให้เป็นจั๊มสูทตัดจากผ้ายีนฟอกสี เพิ่มความสตรีทด้วยการตรอกตาไก่ ติดโบว์ และดึงขุยให้ฟู ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชายตุง 
    

    ส่วนอีกหนึ่งไลน์สินค้า คือ Koe’ by Yourastyle เสื้อผ้าไลน์นี้ใส่ได้ง่ายกว่าเสื้อผ้าไลน์แรก เพราะมีความเป็นสตรีทสไตล์มากกว่า และรูปทรงของเสื้อผ้าก็เป็นแบบทั่วไป เช่น เสื้อยืด เสื้อคลุม แต่กระนั้นก็ยังคงความโดดเด่นและความเป็นแฟชั่นไว้ เช่น กางเกงขายาวแหวกข้างติดซิปที่สามารถรูดซิปขึ้นลงตามรอยแหวกได้
    

    ทั้งนี้ ทั้งสองไลน์สินค้ายังมีความพิเศษต่างกัน โดย Koe’ Original สั่งตัดตามไซส์ได้ แต่แบบของชุดต้องเป็นของ Koe’ Original เท่านั้น ส่วน Koe’ by Yourastyle เลือกเนื้อผ้าสำหรับตัดได้ และตัดได้ทั้งชุดแบบ Koe’ Original และ Koe’ by Yourastyle

    



    “หมอกอยากให้แบรนด์มีความพิเศษ จึงเลือกผลิตในระบบพรีออร์เดอร์ที่สั่งตัดตัวต่อตัว และใช้เวลารอสินค้าประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกค้าส่วนใหญ่ยินดีที่จะรอ เพราะรู้สึกว่าสินค้าที่ได้รับนั้นมีคุณภาพและคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย ส่วนเหตุผลที่ไม่ทำสต็อกสินค้า เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกเสียดายเสื้อผ้าหากต้องนำมาลดราคาช่วงกลางปีและปลายปีเพื่อระบายสินค้าค้างสต็อก แต่หากมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะจนช่างประจำตัดเย็บไม่ทัน หมอกจะใช้กลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านที่มีฝีมือด้านการตัดเย็บเข้ามาช่วยซัพพอร์ต”
    

    ด้วยความที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ และต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าไทยและต่างชาติที่มีความเป็นแฟชั่นนิสต้าในตัว เธอจึงเลือกขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เพราะเข้าถึงลูกค้าทั้งสองกลุ่มได้ไม่ยาก และหลังจากทำการตลาดไปได้สักระยะก็เห็นถึงความแตกต่าง โดยเฟซบุ๊กเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย แต่โพสต์มักเลื่อนหายไปตาม Timeline ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ส่วนอินสตาแกรมเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มมากกว่า รูปภาพที่โพสต์ไม่เลื่อนหาย และรูปภาพจะโพสต์ต่อกันเหมือนแค็ตตาล็อกสินค้า อีกทั้งยังค้นหาแบรนด์ได้ทั้งจากชื่อแบรนด์และแฮชแท็ก โดยแฮชแท็กประจำแบรนด์ Koe’ คือ #homesickwear ซึ่งให้ความหมายว่า เสื้อผ้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกคิดถึงบ้าน และแฮชแท็กที่ทำให้ลูกค้าต่างชาติค้นเจอแบรนด์ คือ #thaiculture #thaidesigner และ #thiastreet


    เมื่อพูดถึงอนาคตของแบรนด์ หมอกบอกกับเราว่า เมื่อแบรนด์ Koe’ กลายเป็นที่จดจำ เธอตั้งใจจะนำวัฒนธรรม ประเพณีทุกภาคของไทย ตลอดทั้งสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น รถตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ หรือแม้แต่คลองแสนแสบมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกาย เพราะเธอหวังเป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยเผยแพร่เอกลักษณ์ของเมืองไทยให้ชาวไทยและต่างชาติได้รู้จัก


Tel. 08-8228-3435
Facebook : Koebrandthailand
Instagram : Koe.brand
Line : Koebrand


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี