Starting a Business

Food Online ธุรกิจอาหารดิจิตอลที่โตแบบฉุดไม่อยู่

TEXT : กองบรรณาธิการ

    ยุคนี้คงไม่มีอะไรมาแรงไปกว่าการค้าขายบนโลกออนไลน์อีกแล้ว จะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการดิจิตอลหน้าใหม่ๆ อายุยังน้อยเกิดขึ้นมากมาย ไม่เว้นแต่แม้ในธุรกิจอาหารที่วันนี้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไป มีเพียงแค่ครัวเล็กๆ ในบ้านก็สามารถทำเงินกับธุรกิจอาหารดิจิตอลได้แล้ว และนับวันธุรกิจอาหารเหล่านี้ยิ่งมีจำนวนมากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ที่หันมาช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการว่าตลาดของธุรกิจอาหารดิจิตอลแบบที่ไม่มีหน้าร้านนี้ มีมูลค่าเท่าไร เนื่องจากยังทำเป็นลักษณะส่วนบุคคลมากกว่า แต่จากการประเมินของ สุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) บอกว่า จากการเติบโตของตลาดร้านอาหารออนไลน์ในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมามีการขยายตัวถึง 89.7 เปอร์เซ็นต์ 



    โดยในตลาดดังกล่าว มีกลุ่มธุรกิจร้านอาหารออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้าน ซึ่งกำลังเป็นดาวรุ่งมาแรงในขณะนี้ เนื่องจากได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และยังคงจะโตต่อเนื่องได้อีก สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นธุรกิจซึ่งเริ่มต้นง่ายและใช้เงินทุนต่ำ เพราะไม่ต้องหาทำเลในการเปิดร้าน ขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่ในครัวของตัวเองเป็นพื้นที่ปรุงอาหาร อีกทั้งยังสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างตรงจุด ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ อายุ 20 – 35 ปี ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจอาหารดิจิตอลนี้เป็นจำนวนมาก 

    จากจำนวนตัวเลือกที่มีอยู่มากมายในธุรกิจอาหารดิจิตอล  “แต๊งค์ ก็อด อิทส์ ออร์แกนิค” (Thank God It’s Organic) บริการอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิคส่งถึงบ้าน ไอเดียของคนรุ่นใหม่อย่าง ฤดีวรรณ โต๊ะทอง และกฤตยา สัณฑมาศ นับเป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารดิจิตอลที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากมาย มียอดขายเฉลี่ย 3-4 แสนบาทต่อเดือน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความชอบส่วนตัวและต้องการให้คนได้กินอาหารที่เป็นออร์แกนิคอย่างแท้จริง จึงเริ่มหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลูกแบบออร์แกนิค ทั้งรับซื้อตรงจากเกษตรกรและผ่านตัวแทนต่างๆ ซึ่งส่งวัตถุดิบให้กว่า 100 ชนิด จากนั้นก็นำมาปรุงเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ โดยมีภาชนะที่ใช้จัดส่งเป็นปิ่นโต เพราะไม่ต้องการให้มีขยะสู่ธรรมชาติ ฉะนั้นลูกค้าจะต้องล้างปิ่นโตกลับคืนมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องทำเป็นแพคเกจลักษณะผูกปิ่นโต มีตั้งแต่รายสัปดาห์ และแบบรายเดือน ที่สำคัญยังจะใช้จักรยานในการจัดส่งให้กับลูกค้า

    สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจแต๊งค์ ก็อด อิทส์ ออร์แกนิค บอกว่า จำเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจธุรกิจออนไลน์ นั่นคือ การสื่อสารกับลูกค้า โดยพวกเธอเล่าให้ฟังว่า จะเน้นการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Story Telling หรือการเล่าเรื่อง โดยอย่างแรกต้องเรียงลำดับความคิดของลูกค้าก่อน เนื่องจากคำว่าออร์แกนิคในการรับรู้ของผู้บริโภคยังเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ฉะนั้นการเริ่มต้นสื่อสาร อาจทำให้เข้าใจว่าไร้สารเคมีก่อน อย่าเพิ่งให้ข้อมูลที่หนักๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ใช้รูปเป็นตัวช่วยในการสื่อสาร เมื่อลูกค้าได้ข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มบอกว่าออร์แกนิคคืออะไร โดยใช้การเล่าเรื่องผ่านวัตถุดิบว่า ผักหรือปลานี้เอามาจากไหน และที่สำคัญเรื่องที่เล่านี้จะต้องดึงความสนใจของลูกค้าได้ตั้งแต่หัวเรื่อง เพราะถ้าสิ่งที่สื่อสารไปไม่สนใจสำหรับลูกค้า ก็จะถูกมองข้ามไปหาตัวเลือกอื่นๆ อย่างรวดเร็ว     

    จากการสำรวจของนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ในเรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้บริการร้านอาหารออนไลน์พบว่า ผู้บริโภคออนไลน์ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิง โดยเป็น Gen Y มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ โดยลูกค้ากลุ่มนี้ จะเป็นคนที่ชอบหาข้อมูลก่อนสั่งซื้อ ใจร้อน ชอบอ่านรีวิว เชื่อเพื่อน ใส่ใจสุขภาพ กล้าลองของใหม่ และชอบของดีมีคุณภาพ ส่วนเหตุผลของการเลือกซื้ออาหารออนไลน์ 63 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าประหยัดเวลาในการเดินทาง ส่วนเหตุผลอื่นๆ รองลงมาได้แก่ หาซื้อได้สะดวก อยากทดลอง สินค้าหายาก มีเอกลักษณ์ และเพื่อนบอกต่อ ตามลำดับ สำหรับเรื่องสิ่งที่ดึงดูดใจผู้บริโภคมากที่สุดในการตัดสินใจซื้ออาหารออนไลน์ คือ รูปภาพประกอบ โดยกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ชอบรูปถ่ายอาหารจริงที่น่ารับประทาน ฉะนั้นเทคนิคการถ่ายภาพอาหาร (Food Shot) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารออนไลน์ ส่วนอีกหนึ่งมุมที่น่าสนใจคือ กว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชอบการชำระเงินปลายทาง ด้วยเหตุผลที่ว่า สะดวก และอุ่นใจว่าได้รับสินค้าแน่นอน