Starting a Business
PATAPIAN จักสานไทยร่วมสมัย
PHOTO : Otto
ความหลงใหลในเสน่ห์ของงานจักสานพื้นบ้าน และวาดหวังอยากให้จักสานไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศทำให้ วลงค์กร เทียนเพิ่มพูน และ สุพัตรา เกริกสกุล ช่วยกันนำการจักสานแบบไทยๆ มาดีไซน์ให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ภายใต้แบรนด์ PATAPIAN
“เริ่มจากที่เราสองคนชอบงานศิลปะ งานคราฟต์ โดยเฉพาะงานจักสาน ก็เลยไปเรียนรู้ในพื้นที่ ลองทำงานกันจริงๆ ไปกลึงไม้กันเอง ไปอยู่กับชาวบ้านไปถักกันเอง เรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่าง แล้วค่อยเอามาแอพพลายกับตัวงาน โดยทดลองทำต้นแบบ นำการจักสานมาทำในรูปแบบที่มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ใช้เวลา 3 ปี ในการศึกษาแล้วก็ลองออกแบบและผลิตขึ้นมา ทำชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ แล้วเก็บรวบรวม เป็นเหมือนช่วงทดลอง จนมาวันหนึ่งเมื่อคิดว่า เราพร้อมแล้ว เราก็เริ่มผลิต แล้วก็สร้างแบรนด์ PATAPIAN ขึ้นมา โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อยมาก ไม่ถึง 2 หมื่นบาท” สุพัตราเล่าถึงที่มาของ PATAPIAN
หัวใจของงาน PATAPIAN จะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Living, Craft และ Object ซึ่งวลงค์กรบอกว่า ไม่ว่าจะพัฒนาชิ้นงานอะไรขึ้นมาก็จะต้องมี 3 องค์ประกอบนี้ทุกชิ้น หลังจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดแรกคือ ดินสอ ตามมาด้วยชุดช้อนส้อมที่เน้นรูปแบบร่วมสมัยเข้ากับชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งคู่ก็เลือกที่จะวางตลาดผ่านงานแสดงสินค้า และส่งผลงานเข้าประกวด โดยเชื่อว่าจะเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ PATAPIAN เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ ตอนแรกออกงานแฟร์เลย แล้วก็ส่งงานเข้าประกวด ปรากฏว่าได้รางวัล Finalist งาน Innovative Craft Award ปี 2015 ของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ แล้วก็มีรางวัลอื่นๆ ตามมาอีก ทำให้จากที่ไม่มีใครรู้จัก ก็ได้เห็นงานเรา ได้รู้จักเรา คือเราตั้งใจอยู่แล้วว่า ถ้าจะผลิตงานอะไรออกไปเราก็ต้องมีอิมแพ็กต์กับคน เพราะเราไม่ได้ทำงานก๊อบปี้ เราสร้างความเป็นตัวตนของเราขึ้นมาจริงๆ จากนั้นเราได้ถูกคัดเลือกไปแสดงงานที่ญี่ปุ่น แต่เราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง งานชิ้นนี้ขายได้ เราก็ทำตัวอื่นขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ว่าพองานนี้ขายได้ก็ปั๊มๆ เพื่อขายอย่างเดียว เราพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ จากที่เป็นไม้อย่างเดียว ก็ลองเอาเส้นพลาสติกมาสานต่อเป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า PATAPIAN จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากงานดีไซน์ที่แปลกตา แต่ลงตัวและสวยงาม แต่วลงค์กร ก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่ถนัดงานด้านการตลาด ซึ่งมักเป็นจุดอ่อนของคนทำงานศิลปะ ในเรื่องนี้เขาจึงมองหนทางแก้ปัญหาเอาไว้ ด้วยการหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจงานศิลปะของเขา มาช่วยเสริมในส่วนที่ขาดด้วย
“เราไม่ได้อยากขายงานจักสานที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งแล้วได้เงิน 200 บาท เราอยากขายงานดีไซน์ ทำไมเราซื้อแจกันของต่างชาติได้ใบละ 5,000 บาท แล้วจะซื้อแจกันของเรา 5,000 บาทไม่ได้ มีมุมมองอย่างนี้ ซึ่งตอนนี้ที่ทำมาปีกว่า สินค้ามี 3 หมวด คือของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน และจิวเวลรี่ มันโตเร็วมากกับสิ่งที่เราทำคือ เราไม่อยากแบบมาปีหนึ่งดังเป็นพลุแล้วหายไป เราอยากอยู่แล้วอยากให้เห็นภาพว่า เราทำงานหัตถกรรม งานภูมิปัญญา แล้วเราเอามาแมตช์กับงานดีไซน์ อยากให้มันเดินไปในหนทางที่ค่อยเป็นค่อยไป แล้วเรารู้อยู่แล้วว่า เราต้องหาพาร์ตเนอร์ ถ้าอยากให้มันแข็งแกร่งซึ่งนั่นเป็นเรื่องอนาคต”
สำหรับเป้าหมายของ PTATIAN นั้น วลงค์กรบอกว่า ถ้าเป็นเป้าหมายในระยะใกล้ก็คือ การส่งออก การเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมาผลตอบรับเป็นที่พอใจมาก เพราะงานได้ทำให้มีโอกาสได้ไปอังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนเป้าหมายที่เป็นเหมือนความฝันคือการที่อยากให้ PATAPIAN ได้มีโอกาสทำงานคู่กับแบรนด์ดังๆ ระดับโลก เช่น หลุยส์ วิคตอง เป็นต้น
“เรากำลังเดินไปถูกทางแล้ว เราจะออกไปต่างประเทศ เราไม่รู้จักใคร ทำยังไงจะออกไปได้ เราก็ต้องรู้จักคนในนี้ก่อน ทำงานให้เขาเห็นก่อน เขาถึงให้โอกาสไปต่างประเทศ เราถึงส่งงานเข้าประกวด แล้วพอไปต่างประเทศจะทำยังไงต่อ ก็ต้องแสดงตัวตนว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันเป็นมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน และก็หวังว่าเมื่อเราประสบความสำเร็จในต่างประเทศแล้ว ค่อยกลับเข้ามาสร้างตลาดในไทยต่อก็ได้”