Starting a Business

ประตูแห่งโอกาส Startup


Text : กิตติชัย ราชมหา 
อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล    



    ณ ชั่วโมงนี้ ใครๆ ต่างก็พูดถึง Startup กันมากมาย ซึ่งถ้ามองแบบ Ecosystem ระบบนิเวศของ Startup การสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม สำหรับการสร้าง Startup ก็ถือว่ากระแสของ Startup กำลังมาแรงกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแสดงความสนใจ ต้องการส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเป็นผลดีต่อการยกระบบ Ecosystem ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เดินไปพร้อมกัน ซึ่งทุกคนคาดหวังว่าจะดี แต่จะดีมากดีน้อยแค่ไหนยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงกันต่อไป เช่น กฎหมายที่รองรับ โครงสร้างภาษี ที่ยังมีปัญหาอย่างมาก ต้องปรับปรุงแก้ไข หา Solution ที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือสนับสนุน Startup ได้อย่างแท้จริง ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ที่ยังไม่มีใครสนใจ Startup เลย ก็อาจกล่าวได้ว่า ในเวลานี้ประตูแห่งโอกาสที่เคยปิดอยู่ได้เปิดออกแล้ว 

    อย่างไรก็ตาม กระแสที่ว่านี้จะเป็นกระแสเพียงชั่วครู่แล้วหายไป หรือจะสร้างความยั่งยืนได้นั้น มีอยู่หลายปัจจัยประกอบกันทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐนั้น เป็นเรื่องของการปรับรูปแบบ วิธีการส่งเสริม การแก้ไขกฎหมายที่จะรองรับการทำธุรกิจแบบ Startup มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป คนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้มากขึ้น และมีความต้องการนวัตกรรมที่จะไปตอบโจทย์ Pain Point ของเขา ดังนั้น การไปจำกัดความคิดของนวัตกรรม ด้วยกรอบของกฎหมาย ก็จะทำให้นวัตกรรมลอนซ์สู่ตลาดไม่ได้  
 
    สำหรับภาคเอกชน หาก Startup ใดที่สามารถคิดตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่า ภาคเอกชนย่อมยินดีอยู่แล้วที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เช่น Fin Tech ซึ่งเมื่อสถาบันการเงินได้เห็นว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว ลูกค้าต้องการความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น จากเดิมโมเดลทางธุรกิจที่เมื่อจะขยับตัวเพื่อพัฒนาด้านไอทีขึ้นมาใหม่จะต้องลงทุนจำนวนมากทีละร้อยล้านพันล้านบาท ก็เปลี่ยนมาให้ Fin Tech เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้แทน ในลักษณะของการเป็นพันธมิตรเป็นความร่วมมือที่ต่างคนต่าง Win-Win 

    ขณะเดียวกัน Startup ไทยเองก็มีศักยภาพสูง จากการติดตามข่าวพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดถึงการเติบโตของ Startup ซึ่งถ้าไอเดียไม่เจ๋งจริง จะไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้าและนักลงทุน แต่กระนั้นสุดท้ายแล้วตัวชี้วัดที่สำคัญคือรายได้ กำไร ที่จะบ่งบอกความยั่งยืนในปลายทางจริงๆ 

    อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการพูดถึงฟองสบู่ของ Startup ว่า จะเป็นการเติบโตแบบฟองสบู่ที่รอวันแตกหรือไม่ โดยหลายคนดูจากจำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา แต่อย่างที่ทราบกันว่า วงจรชีวิตของ Startup นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยวัดจากความมั่นใจของนักลงทุน จำนวนยูสเซอร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยโมเดลของ Startup จบลงด้วยการ Exit ซึ่งจริงๆ แล้ว Startup ไม่ได้มีแค่ไอทีหรือดิจิตอลเท่านั้น Startup อาจจะไปอยู่ในกลุ่มไบโอเทค นาโนเทค ก็ได้ และเมื่อเป็นนวัตกรรมคนละประเภท ช่วงเวลา อายุการวัดผล ย่อมไม่เท่ากัน จุดทางออกการ Exit ของแต่ละ Startup จะไม่เท่ากัน วิธีการ Exit ก็ไม่เหมือนกัน บางคนเลือกเข้าตลาดหลักทรัพย์ บางคนเลือก M&A หรือ Mergers and Acquisitions แต่ยังมีทางเลือกอื่นอีก เช่น เลือกยืนด้วยตัวเอง ไม่คิดขายให้ใคร หรือบางรายเมื่อขยายตลาดไปต่างประเทศ ก็ใช้กลยุทธ์หา Strategic Partner หาคนช่วยเปิดประตูให้และให้เป็น Shareholder กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่โตในหลายประเทศ ดังนั้น จะวัดความสำเร็จการเติบโตของ Startup จากจำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่เพียงพอ  

    ทั้งหลายทั้งมวล การจะป้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่ สร้างความเข้มแข็งให้ Startup และ Ecosystem ทุกฝ่ายจริงใจช่วยเหลือกัน มีการกำหนดทิศทางของประเทศไปพร้อมกัน ซึ่ง Startup แต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน การส่งเสริมแต่ละประเภทจึงไม่เหมือนกัน ที่สำคัญจะต้องประเมินแบบเข้าใจ การเร่งรัดเพื่อให้ได้ผลเร็วใน 1 ปีอาจทำให้ไม่มีคุณภาพ เพราะทุกธุรกิจต้องการเวลา