Starting a Business
เพิ่มยอดขายเบเกอรีด้วยการตลาดออนไลน์
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย
สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการออนไลน์อยากรู้มากที่สุด นั่นก็คือ จะมีวิธีการทำการตลาดออนไลน์อย่างไรเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เช่นเดียวกับ Autumn bake ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแบรนด์เบเกอรีเพื่อสุขภาพที่แจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ ก็อยากที่จะล่วงรู้เคล็ดลับดังกล่าวเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการพบกันครั้งนี้ระหว่าง เภสัชกรหญิง อุทัยวรรณ โตดิลกเวชช์ เจ้าของไอเดียเบเกอรีเพื่อสุขภาพ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ อย่าง บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด ที่จะมาแนะเคล็ดลับและกลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจออนไลน์รายนี้สามารถเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
ก่อนอื่นนั้น ภกญ.อุทัยวรรณ เริ่มต้นการสนทนาในครั้งนี้ด้วยการแนะนำตัวเอง โดยเล่าว่า Autumn bake เป็นธุรกิจที่เกิดจากความชอบในการทำเบเกอรี แต่มองว่าถ้าทำเหมือนๆ กับคนอื่น คงไม่แตกต่างอะไร จึงฉีกออกมาทำเป็นเบเกอรีเพื่อสุขภาพ โดยจะไม่มีไข่ นม และเนย เหมาะสำหรับคนที่รักสุขภาพ กลุ่มคนกินเจหรือมังสวิรัติ หรือแม้แต่สำหรับเด็ก หรือคนที่แพ้อาหาร เช่น แพ้ไข่ แพ้นม แพ้แป้งสาลี (กลูเตน) สามารถที่จะรับประทานเบเกอรีเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายหลักๆ คือ ทางเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้มีหน้าร้านแต่อย่างใด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความที่สินค้ามีความแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป ทำให้แบรนด์ Autumn bake ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไม่น้อย และได้กลายเป็นจุดที่ทำให้ชื่อเบเกอรีเพื่อสุขภาพรายนี้ถูกรู้จักมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น หากต้องการจะเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการตลาดที่ดี และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ ภกญ.อุทัยวรรณ รู้สึกว่าต้องการได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ เพราะมีหลายๆ คำถามที่เธออยากจะรู้คำตอบ และทางผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ อย่างบุรินทร์ก็พร้อมที่จะไขข้อข้องใจต่างๆ เหล่านี้ให้กับเธอ
“ก่อนอื่น ผมขอเล่าภาพรวมให้ฟังก่อน คือคนเล่นอินเทอร์เน็ต หรือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าออนไลน์นั้น เขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง หลักๆ ก็จะอยู่กัน 4-5 ที่ คือ กลุ่มที่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก กลุ่มที่ใช้เว็บไซต์ต่างๆ กลุ่มที่ใช้เซิร์ชเอนจิน อีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกที่ดูวิดีโออย่างยูทูบ
ดังนั้น ถ้าจะทำธุรกิจออนไลน์ เราต้องเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ แต่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปหาทุกคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย อย่างของ Autumn bake อาจจะเป็นคนที่ต้องรักสุขภาพนิดหนึ่ง หรือกลุ่มที่มีลูกแพ้ง่าย ดังนั้น ต้องมาดูว่าเป้าหมายของเรา เขาอยู่ที่ไหนกันบ้างใน 4-5 ที่ที่บอกไป ถ้าอยู่ในเฟซบุ๊ก คนกลุ่มนี้เขาสนใจอะไรกัน เราสามารถที่จะให้ตัวเราเองเข้าไปปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กกลุ่มนั้นๆ ได้หรือไม่
หรือถ้าเป้าหมายเรา เขาใช้เว็บไซต์ ก็ต้องรู้ว่าเขาเข้าเว็บไหน ซึ่งเราก็ต้องตามเขาไป เพราะหลักสำคัญนั้น ถ้าเข้าใจว่าเป้าหมายเป็นใครแล้ว จะทำให้สามารถทำงานต่อไปได้ง่ายขึ้น”
ถ้ารู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือคนเล่นเฟซบุ๊ก เราควรวางแผนการตลาดต่อไปอย่างไรดีคะ
“ถ้าตั้งใจแล้วว่าทำการตลาดไปทางเฟซบุ๊ก หลังจากดูว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร จากนั้นก็ต้องสร้างคอนเทนต์ หรือเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ สินค้าหรือบริการที่ทำอยู่นี้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ อย่างไร ซึ่งทำได้เยอะมากเลยนะ อาจจะเขียนถึงเรื่องที่เด็กๆ แพ้ไข่ แพ้นม ซึ่งคุณแม่อาจจะไม่รู้เลยว่า การที่ลูกเป็นผื่นนั้นคือ อาการแพ้ เราอาจจะเชียร์เขานิดหนึ่งว่า ถ้ามีอาการแบบนี้ให้ลองมากินของเราดู เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์แต่อาจไม่ได้เป็นวิชาการเกินไป อันนี้ก็เป็นคอนเทนต์กลุ่มหนึ่ง หรือถ้าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ อาจจะสร้างเนื้อหาที่เน้นจุดเด่นของสินค้าว่า นอกจากอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพด้วย อาจจะเข้าสู่กลุ่มผู้มีอายุมากนิดหนึ่งก็ได้ อาจจะเน้นว่าคอเลสเตอรอลต่ำ เพราะไม่ได้ใส่ไข่ หรือเนย”
ถ้าพูดถึงเรื่องคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก คอนเทนต์เหล่านั้นควรจะเป็นคอนเทนต์ที่เราสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่การไปเอาของคนอื่นมาลง ใช่ไหมคะ
ตรงนี้สำคัญมาก เนื้อหาที่เราสร้างขึ้นมาเอง แสดงถึงความรู้จริงของเราในเรื่องนั้นๆ และเอาความรู้ตรงนั้นมาสร้างเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ฉะนั้นคอนเทนต์ที่จะลงในเฟซบุ๊กก็ควรที่จะเป็นคอนเทนต์ที่เขียนขึ้นเอง เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เกี่ยวกับธุรกิจของเรา และที่สำคัญจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
การโพสต์เฟซบุ๊กให้ได้ผลจริงๆ แล้วควรจะโพสต์วันละกี่ครั้งดี หรือเวลาโพสต์ที่เหมาะสม ควรเป็นกี่โมงดี
“ผมมองว่าอาจจะไม่ต้องถี่ขนาด 7-8 ครั้งต่อวันหรอก เราโพสต์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ วันละ 2-3 ครั้งก็พอแล้ว เราเน้นความมีคุณภาพ ดีกว่าปริมาณ เพราะเราหวังว่าคนที่ติดตามเราอยู่ จะแชร์เนื้อหาที่เป็นประโยชน์นี้ไปยังเพื่อนๆ เขาต่อไป จุดสำคัญคือ เราสร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ บางครั้งเขาอาจจะยังไม่ได้เป็นลูกค้าเราในวันนี้ แต่อาจจะมาเป็นลูกค้าเราในวันต่อไป เพราะเขาจำได้เสมอว่ามีเรา เวลานึกถึงเค้ก หรือขนมที่มีคุณสมบัติแบบนี้ จะนึกถึงเราก่อน เมื่อเขาจำเราได้ตลอดแล้ว มีโอกาสแชร์ไปให้เพื่อนเขารับทราบด้วย นี่คือประโยชน์ของโซเชียล ส่วนเวลาโพสต์ที่เหมาะนั้น คงต้องดูว่าเป็นเวลาที่กลุ่มเป้าหมายเราเช็กเฟซบุ๊ก จริงๆ แล้ว คือ มันตามพฤติกรรมของคนใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรานั่นเอง ถ้าเราไปโพสต์ตอนดึกๆ ก็คงไม่ได้ผล เพราะกลุ่มเป้าหมายเราคือ คนรักสุขภาพ ดังนั้น เขาคงนอนเร็ว ตื่นเช้า
ทุกวันนี้เวลาเราโพสต์ไป ใช่ว่าทุกคนจะเห็นหมด และนับวันคนยิ่งเห็นน้อยลงเรื่อยๆ เราจะวางแผนตรงนี้อย่างไร
“จุดนี้สำคัญ จำนวนของผู้ติดตามเราอยู่ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความสำเร็จหรอก แต่จุดเริ่มต้นของความสำเร็จคือ ผู้ที่ติดตามกับเรามีความสัมพันธ์กัน เช่น เขาชอบเนื้อหาเรา เมื่อเราโพสต์ไป เขามีการไลก์ มีคอมเมนต์ มีการแชร์ ยิ่งความสัมพันธ์มากเท่าไร เราโพสต์แล้วเนื้อหาจะถึงคนนั้น ถ้ามีหนึ่งคนที่ติดตามเรามาโดยบังเอิญ ไม่ค่อยสนใจเรามากนัก เราโพสต์แล้วอาจจะไม่ถึงเขา การวางแผนอาจจะเริ่มจากการหาผู้ติดตามก่อนเลย หาคนที่รักในสุขภาพ และคนที่จะมีโอกาสเป็นลูกค้าเราก่อน จำนวนน้อยไม่เป็นไร แต่ขอให้เป็นคนที่สนใจเราจริงๆ สร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ บางครั้งอาจต้องใช้โฆษณาช่วย เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงกลุ่มคน”
การโฆษณา ก็สนใจอยู่ แต่มองว่ามันเหมือนเหวี่ยงแหลงไป คนเข้ามาดูเราในช่วงที่โฆษณาตรงนั้น อาจจะไม่ใช่ลูกค้าจริงๆ ของเรา มันจะคุ้มกับเงินค่าโฆษณาที่ลงไปหรือเปล่า
“ตรงนี้เป็นคำถามที่ดีมากเลย การโฆษณา อันที่หนึ่ง คือโฆษณาลงไปในกลุ่มเดิมที่ติดตามเราอยู่แล้ว ถ้าได้ตัวจริงมา แล้วโฆษณาไปในกลุ่มนี้ น่าจะไม่ผิดตัว เพราะเราได้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ถ้าบังเอิญกลุ่มนี้เราน้อย เราต้องโฆษณาไปยังกลุ่มคนในวงกว้างมาก อันนี้ต้องเลือกให้ดี ต้องเลือกความสนใจให้ดี ในระบบของเฟซบุ๊กเขาก็มีให้เลือกทาร์เก็ตได้ เพศ อายุ ความสนใจ ตรงนี้เป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่จะต้องค่อยๆ ดู ค่อยๆ เข้าไปสู่กลุ่มเหล่านี้
และยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มฐานสมาชิกของเราเอง ผมแนะนำว่า ลูกค้าที่ซื้อของเรา ถ้าเป็นไปได้ เราขอข้อมูลที่เป็นส่วนตัวนิดหนึ่ง แต่ไม่ไม่ได้เป็นความลับเกินไป เช่น อีเมลของเขา หรือเบอร์โทร. ถ้าเขาให้นะ แล้วเราเอาข้อมูลเบอร์โทร.ของเขา ไปใส่ในระบบการทำโฆษณาของเฟซบุ๊ก แล้วเรายิ่งโฆษณาไปในกลุ่มเฉพาะที่เรามีอีเมลหรือเบอร์โทร. จะทำให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้เลย ซึ่งคอนเทนต์เราจะเข้าไปโชว์ในฟีดของเขาเลย เป็นฟังก์ชันการทำงานใหม่ของเฟซบุ๊ก ยิ่งเรามีฐานสมาชิกมาก ยิ่งมีโอกาส
ข้อดีอย่างหนึ่งของการทำการตลาดออนไลน์ คือทำไปวัดผลไป สามารถปรับปรุงได้ตลอดเวลา ระยะยาว ถ้าแบรนด์เราติดแล้ว เราไม่ต้องเสียเงินอะไรที่จะได้ออร์เดอร์ที่สองกลับมา และลูกค้าจะอยู่กับเราไปอีกนาน”
ปัญหาในเพจของเราตอนนี้ คือ เวลาโพสต์ไปแล้วจะไม่ค่อยมีคนคอมเมนต์หรือแชร์ แต่จะส่งข้อความสั่งขนมมาเลย เราก็มองว่า หรือเป็นเพราะคอนเทนต์เราไม่ค่อยน่าสนใจหรือเปล่า หรือว่ามีปัญหาตรงไหนที่ทำให้คนไม่ค่อยมาคอมเมนต์
“จริงๆ แล้วถือว่าเป็นข่าวดีก่อนนะ ที่มีคน In Box มาสั่งซื้อ ส่วนเรื่องของเนื้อหาอาจจะต้องเติมสีสันของเนื้อหาอีกนิดหนึ่ง เพราะคนบนโซเชียลอาจจะต้องการความมีสีสันของเนื้อหา เนื้อหาที่เป็นหลักการ มีประโยชน์ ให้ยืนพื้นไว้ แต่อาจจะเชิญชวนให้เขาแชร์ไปให้เพื่อนที่รักสุขภาพ หรือทำกิจกรรมบ้าง ชวนแชร์ ชวนคอมเมนต์ ผมว่าค่อยๆ เติมบางจังหวะ เป็นเรื่องของการตลาด แล้วแต่เรื่องของกิจกรรมที่อยากเอาเข้ามาเล่น เป็นสีสัน แต่ก็ต้องยืนพื้นด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ ตรงกับธุรกิจ”
ถึงตรงนี้ ภกญ.อุทัยวรรณ เล่าเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ฟังด้วยว่า ปัจจุบันเธอจะเน้นลูกค้าอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่กินเจหรือมังสวิรัติ จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุสักนิด ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มเด็กที่แพ้ไข่ หรือแพ้นมวัว ซึ่งขณะนี้จะมีค่อนข้างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะจัดงานวันเกิดให้กับลูก ก็อยากจะได้เค้กแบบนี้ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมีมากเช่นกัน ส่วนใหญ่จะรู้จัก Autumn bake มาจากการเซิร์ชกูเกิล และมีแนะนำบอกต่อกันบ้าง
เมื่อรับฟังข้อมูลจบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ของเรดดี้แพลนเน็ต ก็เสนอไอเดียที่น่าสนใจขึ้นมาทันที
“จากที่ฟัง ผมจับประเด็นได้ 2-3 อย่าง ประเด็นแรกคือ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ซื้อกินตลอดได้ เพราะซื้อกินเอง อีกกลุ่มหนึ่งคือ ซื้อเป็นช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลเจ ช่วงนี้อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ กับอีกกลุ่มคือ ซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก เวลาที่เราจะทำการตลาดออนไลน์ แทนที่เราจะคิดอย่างเดียวเลย เช่น แทนที่จะมุ่งไปที่คนกินเจ เราอาจจะคิดไปในกลุ่มที่กว้างขึ้น เขาอาจจะซื้อขนมตามเทศกาลพิเศษ เช่น วันเกิด ปีใหม่ อาจจะทำให้ทาร์เก็ตเรากว้างขึ้น ไม่ใช่แค่การให้ขนม แต่เหมือนเป็นการให้ความรัก ให้สิ่งที่ดี กินแล้วจะเป็นประโยชน์กับเขา ลองเอาไอเดียนี้ไปปรับใช้ได้นะครับ”
นอกจากนี้ บุรินทร์ยังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากเฟซบุ๊กแล้วสามารถใช้ช่องทางออนไลน์อื่นๆ ควบคู่ได้ด้วย
“ถ้าเราอยู่ในเฟซบุ๊กอย่างเดียว เราก็จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กอย่างเดียว แต่ถ้าเรามีเว็บไซต์ด้วย เราเขียนเนื้อหาลงในเว็บไซต์ แล้วเราดึงบางส่วนมาโพสต์บนเฟซบุ๊ก ทำลิงก์กลับไปที่เว็บไซต์ เราก็จะสามารถเข้าถึงได้ทั้งสองกลุ่ม คือทั้งกลุ่มเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ อาจจะรวมไปถึงกลุ่มคนที่ใช้เซิร์ชเอนจินด้วย เรียกได้ว่าสามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี