Starting a Business

เรียนรู้การเพาะเห็ด โอกาสเล็กๆ ในการต่อยอดกิจการ






เรื่อง : กองบรรณาธิการ 
ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์



 เมื่อสาวออฟฟิศอย่าง “หญิง-เขมนันท์ จันย้น” เริ่มต้นกิจการเล็กๆ ของตัวเอง จากการปลูกต้นอ่อนทานตะวัน เพื่อส่งจำหน่ายให้กับร้านอาหาร ซึ่งดูเหมือนว่ากิจการจะไปได้ดีเลยทีเดียว ทำให้เธออยากที่จะขยายโอกาสให้มากขึ้น จึงเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย จนในที่สุดความคิดก็ไปหยุดอยู่ที่ “การเพาะเห็ด” เพราะมองแล้วว่า น่าจะสามารถขยายตลาดไปพร้อมๆ กับต้นอ่อนทานตะวันได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการมาพบกันระหว่าง มือใหม่ที่อยากจะลงมือเพาะเห็ดขาย กับกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดนานาชนิด อย่าง “จ๊ะเอ๋-อุนารินทร์ กิจไพบูลทวี” เจ้าของ “สถานีเห็ด” ในย่านคลอง 3 ปทุมธานี
 

สำหรับ “สถานีเห็ด” แห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นฟาร์มเห็ดเพื่อการท่องเที่ยวและเรียนรู้ โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ได้มีการเปิดอบรมการเพาะเห็ดแนวใหม่ ซึ่งเป็นระบบการเพาะเห็ดที่บ้านเพื่อรับประทาน หรือจะทำเป็นอาชีพก็ดี โดยจุดเด่นจะเน้นที่การใช้พื้นที่น้อย ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และประหยัดพลังงานนั่นเองหลังจากเจ้าบ้านอย่างอุนารินทร์ ซึ่งมาคอยต้อนรับผู้มาเยือนและได้รับฟังถึงเป้าหมาย และความตั้งใจในการมาครั้งนี้ของน้องหญิง 

 

 
    
“เปรียบเทียบต้นอ่อนทานตะวัน กับเห็ดสด ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน และสามารถที่จะขายในตลาดเดียวกันได้ การที่น้องหญิงมีความสนใจในเรื่องของการเพาะเห็ด ถือว่าเป็นการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์และการตลาดที่ถูกต้อง แม้การเพาะเห็ดอาจจะมีความแตกต่างจากการปลูกต้นอ่อนทานตะวันบ้าง ตรงที่ต้นอ่อนทานตะวัน เมื่อปลูกแล้วก็รอการเจริญเติบโต จากนั้นก็เก็บเกี่ยวพร้อมๆ กัน 

เสร็จแล้วก็ค่อยเริ่มปลูกใหม่ แต่ในส่วนของเห็ดหลังจากที่มีการเพาะไปครั้งหนึ่ง พอถึงวันที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว เราสามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้อีกในวันต่อๆ ไป” อุนารินทร์ เริ่มต้นเปิดประเด็นการพูดคุย 

 


ถึงตรงนี้ ผู้ที่ตั้งใจอยากจะมาเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ด จึงได้โอกาสถามต่อในทันทีว่า...แล้วอย่างนี้ เราจะปลูกเห็ดอะไรดีคะ ถึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด 
    
“สำหรับเห็ดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ง่ายๆ เลยจะเห็นได้จากเห็ดที่ขายอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้มีอยู่หลายสิบชนิด บางชนิดเราแถบไม่รู้จักชื่อด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญไม่ว่าเราจะเพาะเห็ดอะไร เราต้องทำความรู้จักกับเห็ดก่อน ดูว่าอากาศบ้านเราเหมาะกับการเพาะเห็ดอะไร อย่างบ้านเราค่อนข้างที่จะร้อน ฉะนั้นเห็ดที่เราจะเพาะและต้นทุนต่ำที่สุด ก็ควรจะเป็นเห็ดเมืองร้อน หรือเห็ดที่สามารถปรับตัวให้อยู่กับอากาศเมืองร้อนได้ ที่จะแนะนำ คือ เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น อย่างเห็ดนางฟ้าภูฐาน ต้นกำเนิดของเขาก็คือ มาจากภูฐาน หรือภูฏาน ซึ่งเป็นพื้นที่หนาว แต่ปัจจุบันสามารถปรับตัวจนอยู่เมืองไทยได้แล้ว ถือเป็นการปรับตัวที่เก่ง อีกหนึ่งสายพันธุ์คือ เห็ดนางรมฮังการี มาจากเมืองหนาวเหมือนกัน แต่ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงได้ เหมือนกับเห็ดนางฟ้าภูฐาน อุณหภูมิเขาไม่ต้องการร้อนจัด อยู่ที่ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากปลูกในช่วงหน้าร้อน จะสังเกตได้ว่าเห็ดอาจจะไม่สวยอย่างที่เราต้องการ ดังนั้น เราจึงต้องทำโรงเรือนที่มีการรดน้ำ ให้ความชื้นสม่ำเสมอ เพื่อลดอุณหภูมิในอากาศ”

 



เมื่อปัจจัยสำคัญของการเริ่มต้นการเพาะเห็ด อยู่ที่การมีโรงเรือน ทำให้หญิงเกิดความสงสัยและถามออกไปว่า... พื้นที่ในการปลูกเราควรจะใช้พื้นที่แบบไหนอย่างไร แล้วในการเริ่มต้นต้องใช้เงินลงทุนมากไหมคะ
    
“อย่างที่สถานีเห็ด เรามีนวัตกรรมในเรื่องของการส่งเสริมการเพาะเห็ดที่บ้าน ในโรงเรือนขนาดเล็ก กว้างเพียงแค่ชั้นวางรองเท้า หรือแม้แต่ขนาดเท่าตู้เสื้อผ้าก็สามารถเพาะเห็ดได้แล้ว แค่มีพื้นที่กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ก็สามารถเพาะเห็ดได้ถึง 500 ก้อนแล้ว โดยที่เราสามารถเก็บเกี่ยวเห็ดได้ทุกวัน วันหนึ่งก็ประมาณสัก 2 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็น 1 เมตร คูณ 1เมตร ก็จะได้วันละ 1 กิโลกรัม ถ้าจะเอาไปแบ่งเป็นถุงเล็กๆ ขาย ถุงละขีด เราก็ได้ 10 ถุงแล้ว หรือจะแบ่งเป็นถุงละขีดครึ่ง ขายถุงละ 20 บาท ก็ตกกิโลกรัมละร้อยกว่าบาทแล้ว

 


 
สำหรับการลงทุน ขึ้นอยู่กับขนาดที่ต้องการ อย่างการเพาะเห็ดในกระโจมอัตโนมัติแบบของสถานีเห็ดนั้น ก็จะมีทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เช่น เริ่มต้นจากกระโจมไซส์เล็กขนาด 200 ก้อนเพาะ งบลงทุนประมาณ 12,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะรวมทั้งก้อนเพาะ และระบบน้ำไว้แล้ว โดยกระโจมนี้จะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ส่วนตัวก้อนเพาะจะอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน เราตีต้นทุนก้อนเพาะอยู่ที่ 10 บาทต่อก้อน เห็ดหนึ่งก้อน จะได้ประมาณ 4 ขีด ถ้าขีดหนึ่งที่เราขายอยู่ที่ 10 บาท เราตีซะว่า 1 ก้อน 40 บาท ในขณะที่เราซื้อมาต้นทุนก้อนละ 10 บาท เราอาจจะมีน้ำ ไฟ และค่าดูแลใส่ใจ เฉลี่ยก้อนละ 2 บาท หมายถึงว่าเรามีต้นทุน 12 บาท ในขณะที่ขายได้ 40 บาท นั่นคือกำไรที่เกิดขึ้น”

 


อย่างไรก็ดี ในฐานะมือใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ในการเพาะเห็ด ดังนั้น สิ่งที่หญิงอยากรู้ต่อมาก็คือ...ถ้าเราจะเริ่มต้นเพาะเห็ดต้องมีขั้นตอนหรือต้องทำอย่างไรบ้าง
    
“เวลาเราไปอ่านตำราที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเห็ด จะเห็นว่ามีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย ต้องเอาขี้เลื่อยมาผสมกับอาหารเสริม อัดถุงนึ่ง พอนึ่งเสร็จต้องมีหัวเชื้อ จากนั้นก็เอามาหยอดในก้อน รอ 30 วัน เอาขึ้นชั้นแขวน เปิดจุก รดน้ำให้ความชื้น ปรากฏว่าอ่านแล้ว ไม่กล้าทำ เพราะดูเหมือนว่ายุ่งยาก นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนหรือการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการเพาะ แต่จริงๆ แล้วอยากให้มองอย่างนี้ ในกระบวนการเพาะเห็ด มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 5 ส่วนด้วยกัน"

 



"1.คนเพาะเห็ดจากหัวเชื้อบริสุทธิ์ อันนี้เราไปสั่งซื้อหัวเชื้อได้ 2.คนทำก้อนเพาะเห็ด ซึ่งก็จะมีก้อนเพาะสำเร็จรูปขาย 3.ผู้ขายดอกเห็ด 4.คนที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และสุดท้ายคือ ผู้แปรรูป ถามตัวเองว่าเราอยากที่จะอยู่จุดไหน เราไม่ต้องการต่อเชื้อ เราไม่ต้องการทำก้อนเพาะ เราต้องการแค่เปิดดอก ดังนั้น เราก็ไปหาแหล่งที่มีก้อนเพาะสำเร็จรูป ที่มีหัวเชื้อดีๆ ให้ดอกได้ตามที่เราต้องการ แล้วซื้อแบบนั้นมาขึ้นชั้นแขวง หลังจากนั้นความรู้ที่เราต้องมี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เห็ดเจริญเติบโต คือ 1.เห็ดต้องการความชื้น ไม่ใช่ความแฉะ 2.เห็ดต้องการแสงรำไร ไม่ใช่แสงสว่างจ้า 3.เห็ดต้องการอากาศที่ถ่ายเท และ4.เห็ดต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม"


 



"บรรยากาศที่เห็ดชอบ เราจะใช้คำว่า ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่ฝนตกใหม่ๆ เราจะรู้สึกว่าตัวมันเหนี่ยวๆ ชื้นๆ นั่นคือ บรรยากาศที่เห็ดชอบ บางท่านเขาใช้เครื่องวัดความชื้น อย่างเราเองตอนทำใหม่ๆ ก็มีอุปกรณ์ทุกอย่างหมดเลยนะ  ตัวตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ วัดความชื้นในอากาศ ความชื้นสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรรู้ไหม พี่ต้องทำงานทั้งวัน ไม่หยุดเลย ถามว่าทำไม เพราะบ้านเราลมพัดเร็ว แรง พอลมผ่านมาวูบหนึ่ง ความชื้นก็หาย เครื่องก็เลยทำงาน จริงๆ แล้วไม่ต้องอย่างนั้น ปัจจุบันที่สถานีเห็ด เราใช้ระบบไทม์เมอร์ คือ ตังตั้งเวลาอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตอบโจทย์เราทุกอย่าง ถ้าฝนตกมา ก็ตั้งรดน้ำน้อย ฝนตกน้อย ตั้งรดน้ำบ่อย อากาศร้อนมาก เปิดรดน้ำบ่อยๆ อากาศหนาว ก็ต้องรดน้ำบ่อยเช่นกัน เพราะว่าอากาศมันแห้ง ให้คิดว่าเห็ดเหมือนผิวเรา ถ้าโดนแดดจัด แต่ความความชื้นไม่มี ผิวมันก็จะแตกและแห้ง การเพาะเห็ดเขาไม่ต้องการความแฉะ เขาต้องการแค่ความชื้น ใช้วิธีที่เราเรียกว่า รดน้อยๆ แต่ว่ารดบ่อยๆ บ่อยของเราคือ 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง หรือ 4 ชั่วโมง รดครั้ง ขึ้นอยู่สภาพอากาศและฤดูกาล”


 




นอกจากนี้ อุนารินทร์ยังให้ความรู้กับผู้มาเยือนเพิ่มเติมอีกด้วย โดยเฉพาะการแนะนำให้รู้จักกับ “ถั่งเช่า” 
    
“ปัจจุบันคนเริ่มหันมาสนใจถั่งเช่าสีทองและเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น โดยเห็ดถั่งเช่า คือราแมลง ที่ต้องกินแมลงเป็นอาหาร ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง เลียนแบบธรรมชาติ โดยเพาะบนอาหารที่มีการปรุง ให้มีโปรตีนเหมือนแมลง หรือใช้แมลงเป็นอาหารเพาะเลี้ยง เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติ ที่มีผลในการบำรุงร่างกายให้มากที่สุด สิ่งสำคัญสำหรับการเพาะถั่งเช่าคือ ต้องมีสถานที่เพาะก่อน ขนาดห้องสักประมาณ 12 ตารางเมตร แล้วก็ต้องมีแอร์ 9,000 BTU สัก 2 เครื่องเพื่อเปิดสลับกัน เนื่องจากถั่งเช่า เป็นเห็ดเมืองหนาว"



 



"จากนั้นก็ต้องมีชั้นสำหรับวาง จะเห็นได้ว่าการเพาะในสถานีเห็ดจะเป็นระบบปิด โดยจะเพาะอยู่ในขวดแก้ว โดยเราจะปิดห้องให้มืด 15 วัน เมื่อเส้นใยเจริญเติบโตเต็มวัสดุเพาะ ก็จะเป็นสีขาว และพอเส้นใยเจริญเติบโตได้ที่ เราจึงจะเริ่มให้แสงและกระตุ้นความเย็น จากแอร์ที่เคยเปิดในอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส ก็จะลดต่ำลงไปอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ประมาณ 7-10 วัน ก็จะเริ่มขึ้นตุ่มดอก จากนั้นเราก็เริ่มให้ความชื้นในห้อง หลังจากนั้นก็จะมีการงอกใช้เวลาโดยรวมประมาณ 2เ ดือนถึง 2 เดือนครึ่ง ก็จะเก็บเกี่ยวได้ แต่เราไม่ควรจะเก็บเกินอายุ 75 วัน เพราะจะทำให้สารออกฤทธิ์ทางยาลดลง"

 



"ปัจจุบันถั่งเช่าเริ่มเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงมาก อาจจะทำให้คนเข้าไม่ถึงทั้งหมด เราจึงมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภค มีโอกาสในการที่จะซื้อไปใช้ตามความเหมาะสม อย่างสถานีเห็ดของเราก็สนับสนุนให้คนหันมาเพาะถั่งเช่า และก็มีการรับซื้อ หากเป็นเกรดเอ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5,500 บาท ส่วนเกรดบี คือตัวที่ไม่งอกออกมาเป็นดอกยาวๆ จะอยู่ที่ 3,500 บาทต่อกิโลกรัม หากเทียบกับเห็ดสดธรรมดาๆ จะเห็นว่าราคาค่อนข้างต่างกันมา ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนก็ย่อมต้องสูงกว่าแน่นอน ยกตัวอย่าง ในหนึ่งห้องถ้าเราลงทุนพร้อมอุปกรณ์ จุดคุ้มทุนที่จะทำให้มีกำไร คือ 2,000 ขวดขึ้นไป โดยต้นทุนหนึ่งขวดอยู่ที่ 60 บาท ดังนั้น ในหนึ่งรอบการผลิตต้องใช้เงิน 120,000 บาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าอุปกรณ์ในห้องอีกราวๆ 100,000 บาท กรณีนี้คือมีห้องอยู่แล้ว ฉะนั้นในเบื้องต้นต้องมีเงินทุน ว่า 200,000 บาทเป็นอย่างน้อยในการที่จะเริ่มต้นเพาะถั่งเช่า”

เรียกได้ว่า การมาครั้งนี้ นอกเหนือจากความรู้ในเรื่องของการเพาะเห็ด เพื่อหวังจะนำไปเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้นแล้ว ยังได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมกลับไปอีกด้วย 


ขอขอบคุณ 
คุณอุนารินทร์ กิจไพบูลทวี
สถานีเห็ด
www.mushroomstation.com

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี