Starting a Business
GOODERY VILLE มากกว่าแค่น้ำสลัด
Text : กฤษณา สังข์วงค์
Photo : Otto
หลายครั้งที่ผักมักหมดก่อนน้ำสลัด ครั้นจะเก็บน้ำสลัดไว้ก็ไม่รู้จะรับประทานกับอะไรจึงจะเหมาะ แต่น้ำสลัดแบรนด์ Goodery Ville ของศิลปินหนุ่ม ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ และนักธุรกิจไฟแรง แคน-กรัณย์ แจ้งเจนกิจ นั้นต่างออกไป เพราะรับประทานกับอะไรก็อร่อย
“ด้วยความที่ผมกับพี่ตู่อยากทำธุรกิจ ในหัวเลยมีตัวเลือกเยอะมาก จนวันหนึ่งมีโอกาสได้ชิมน้ำสลัดฝีมือคุณแม่ของรุ่นน้องที่รู้จัก เราก็เห็นตรงกันว่าอร่อย รสชาติแปลก และไม่มีใครทำขาย อีกทั้งผมกับพี่ตู่เคยอยู่ที่อเมริกา เคยเห็นซอสศรีราชาวางขายในซูเปอร์ และกระจายไปทั่วโลก เราเลยมานั่งคิดกันว่าจะทำน้ำสลัดรสชาติไทยแท้และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แม้จะคิดการณ์ใหญ่ แต่การคิดแบบนี้ทำให้รู้เป้าหมายที่ชัดเจนว่าคืออะไร และเกิดความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึง” แคนกล่าว
เพราะน้ำสลัดสูตรแรกโดดเด่นที่รสชาติไทยแท้ จึงตั้งชื่อว่า เจ้าพระยา ที่ไม่จำกัดว่าต้องรับประทานเฉพาะกับสลัด หากแต่รับประทานกับเฟรนช์ฟรายส์ ชีสทอด ปลาหมึกทอด และเมนูอื่นก็ได้ โดยตู่บอกว่า ต้องการสร้างสินค้าใหม่ในตลาดจึงเรียกน้ำสลัดเจ้าพระยาว่า Food Dressing สินค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างคำว่าน้ำสลัดและซอส เพราะหากพูดถึงซอสหลายคนอาจนึกถึงซอสมะเขือเทศหรืออะไรที่ข้นๆ และหากบอกว่าน้ำสลัด คนก็มักนึกถึงสิ่งที่รับประทานกับสลัดได้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีน้ำสลัด Very Berry ที่มีส่วนผสมของเบอร์รี่ 3 ชนิด ได้แก่ สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และบลูเบอร์รี่มากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ให้ความรู้สึกสดชื่นและได้รสชาติเบอร์รี่เต็มๆ
“ต้องเลือกงานที่จะไปออกบู๊ธด้วยไม่ใช่งานไหนก็จะไป เพราะหากเจอร้านที่ขายถูกกว่าจะลำบาก จะขายยาก แต่เราก็เชื่อว่าเราขายไม่เกินราคาเพราะใช้แต่วัตถุดิบคุณภาพดี แม้จะเคยพยายามหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้สินค้าราคาต่ำลง เช่น ลดเครื่องเทศ แต่เมื่อลดเครื่องเทศ รสชาติน้ำสลัดก็เปลี่ยน ซึ่งไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่เมื่อมองอีกมุม ลูกค้าคุ้มที่จะจ่ายเพราะน้ำสลัดของเรารสชาติไม่เหมือนเจ้าอื่นในท้องตลาด” ตู่กล่าว
สำหรับอีกสิ่งที่ทำให้ Goodery Ville ได้รับการตอบรับดีคือ สินค้าออกมาในช่วงที่เทรนด์สุขภาพกำลังบูม โดยตู่บอกกับเราว่า จริงๆ แล้วไม่ได้คิดจะทำ Goodery Ville ตามเทรนด์ หากแต่อยากกระจายสิ่งที่ตนและหุ้นส่วนเชื่อว่ามันอร่อยและไม่เหมือนใครออกไปยังท้องตลาด เพราะต้องมีใครอีกหลายคนที่ชอบในรสชาตินี้ ครั้นถามถึงแผนธุรกิจ แคนกล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยทำธุรกิจ แต่ขาดความใส่ใจและขยันไม่พอ ธุรกิจที่ทำจึงล้ม แต่เมื่อทำธุรกิจนี้ ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยเกิดก็นำมาเป็นบทเรียนเพื่อจะไม่ทำอีก และแม้ตอนนี้น้ำสลัดจะมีเพียงสองรสชาติ แต่ก็เป็นข้อดีเพราะช่วยให้โฟกัสเรื่องการตลาดได้ชัดเจนว่า ควรเดินไปในทิศทางไหน ต่างจากการมีสินค้าหลายตัว จะทำให้คิดเยอะว่าต้องทำการตลาดแบบใดจึงจะครอบคลุมสินค้าทุกตัว และทำให้ไม่มีเวลาดูแลสินค้าแต่ละตัวได้เต็มที่
“สำหรับคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ากำลังขายอะไร และต้องสร้างความชัดเจนให้คาแร็กเตอร์ของแบรนด์ ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ ขั้นตอนต่อไปคือดูว่าวัตถุดิบที่ใช้มีอะไรบ้างและหาได้จากที่ไหน ต้องหาข้อมูลให้เยอะและรอบคอบ เพราะหากวันหนึ่งวัตถุดิบเกิดหายไป แม้จะเพียงหนึ่งอย่างแต่ก็ทำให้ธุรกิจชะงักและขาดช่วงได้ เมื่อคิดจะกลับมาก็ทำได้ยาก นอกจากนี้ ก่อนตั้งราคาควรดูราคาของเจ้าอื่นเปรียบเทียบด้วยว่าเขาตั้งราคาเท่าไร ให้ปริมาณเท่าไร” แคนกล่าว
แม้จะวางแผนธุรกิจไว้อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดปัญหา แต่กระนั้น ปัญหาต่างๆ ก็เข้ามาเรื่อยๆ แต่ทั้งตู่และแคนก็ไม่คิดถอดใจ ซึ่งตู่บอกว่า ธุรกิจไม่มีคำว่าสิ้นสุด หากคิดว่าเรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้วจะทำให้ธุรกิจไม่มีวันโต การทำธุรกิจมักเจอปัญหาที่ไม่คาดคิดเสมออย่างเคยสั่งขวดจากโรงงานนี้ แต่ผลิตขวดไม่ทันก็ต้องเปลี่ยนโรงงานกะทันหัน จากปัญหานี้ทำให้รู้ว่า ต้องมีแผนสำรองให้กับทุกสิ่งที่ทำ เช่น ต้องติดต่อกับโรงงานผลิตขวดอย่างน้อย 2 โรงงาน เพราะหากโรงงานแรกผลิตขวดไม่ทันก็ยังเหลือโรงงานที่สอง
“แม้ปัจจัยภายนอกจะควบคุมไม่ได้ หรือต้องเจอปัญหาแทบทุกวัน หากต้องการให้ธุรกิจไปรอด ใจต้องสู้ เพราะนอกจากเงินทุน ความขยัน และความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจแล้ว ใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ธุรกิจเล็กๆ ที่ไปไม่รอดส่วนใหญ่เพราะใจไม่สู้ เมื่อเจอปัญหาก็คิดแต่จะล้มเลิก แล้วจะมองเห็นความสำเร็จได้อย่างไร” ตู่กล่าวปิดท้าย
Facebook : Goodery_Ville
Instagram : Goodery_Ville
Line : Gooderyville
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)