Q-Life

โอเคแค่ไหนถ้า “ขับถ่าย” ไม่ทุกวัน


Text : Morning Dew




Main Idea
 
  • ความถี่ในการขับถ่ายขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและไลฟ์สไตล์แต่ละคน รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งจากการประเมินของแพทย์ ถ้าขับถ่ายน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือว่าท้องผูก
  • อยากรู้ว่าท้องผูกหรือไม่ เช็คได้จากจำนวนการขับถ่ายในแต่ละวัน อาหารและยาที่รับประทาน มีอาการลำไส้ขี้เกียจหรือเปล่า หรือมีพฤติกรรมชอบอั้นอุจจาระเป็นประจำ      



     ความถี่ในการขับถ่ายขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ เช่น อาหารและยารักษาโรคที่กิน ซึ่งจากการประเมินของแพทย์ถ้าขับถ่ายน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ จึงถือว่าท้องผูก

     ดูเหมือนอาการอย่างหนึ่งที่หลายคนกำลังเผชิญจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพก็คือ “ท้องผูก” เราถูกสอนมาว่าคนเราควรถ่ายท้องทุกวันเพื่อระบายของเสียออกจากร่างกาย บทความในเว็บไซต์สุขภาพ Healthline.com ระบุการขับถ่ายที่เป็นปกติจะมีความถี่ตั้งแต่วันละ 3 ครั้งไปจนถึงวันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ เช่น อาหารและยารักษาโรคที่กิน
               
     แล้วที่ว่าท้องผูกนั้น ประมาณไหนจึงเข้าข่ายท้องผูก จากการประเมินของแพทย์ถ้าขับถ่ายน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ย้ำ! ว่าหากยังรับประทานแบบปกติแล้วทั้งสัปดาห์ไม่ขับถ่ายหรือขับถ่ายไม่ถึงเกิน 2 ครั้ง ก็ต้องมาตั้งคำถามแล้วว่าทำไม? และควรต้องหาสาเหตุ บางคนอาจมีปัญหาเรื่องลำไส้ เช่น อาการลำไส้ขี้เกียจจนไม่ยอมบีบรัดกล้ามเนื้อเพื่อไล่กากอาหารไปยังส่วนปลายของลำไส้ หรือการกินยาบางชนิดก็ทำให้เกิดอาการท้องผูก ไปจนถึงพฤติกรรมชอบอั้นอุจจาระเป็นประจำ      
               
     เคยมีข่าวที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ของอังกฤษที่รายงานมีหญิงสาวคนหนึ่งเสียชีวิตจากการไม่ขับถ่ายเป็นเวลานานถึง 8 สัปดาห์ สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากกากอาหารที่สะสมในลำไส้มีจำนวนมากเกินไปจนทำให้ลำไส้ขยายตัวและไปกดทับอวัยวะภายใน ส่งผลให้หัวใจวาย
               
     ดังนั้น นอกจากทิ้งช่วงในการขับถ่ายแล้วก็ควรต้องสังเกตอาการตัวเองด้วย เพราะจะมีการส่งสัญญาณจากร่างกาย เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนจะปวดท้องเข้าห้องน้ำแต่พอไปนั่งก็ถ่ายไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อึดอัด ถ้ามีอาการต่างๆ เหล่านี้ควรหาทางแก้ไขในทันที

     ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องการขับถ่ายแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะเล่าถึงพฤติกรรมการใช้ชักโครก มีข้อมูลระบุว่าในแต่ละวัน คนเราเข้าห้องน้ำอย่างน้อย 5 ครั้ง และมีสิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวหลังเสร็จกิจในห้องน้ำ นั่นคือ...การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝา ซึ่งมีการศึกษาและเผยแพร่สู่สาธารณะมานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ก็มีงานวิจัยระบุว่า เมื่อทำการกดชักโครกโดยไม่ปิดฝา แบคทีเรียจากโถชักโครกจะฟุ้งขึ้นสู่อากาศและลอยกระจายทั่วห้องน้ำ ไปติดตามผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ของใช้ในห้องน้ำ รวมถึงแปรงสีฟันที่วางอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 เมตร
               
     ที่สำคัญแบคทีเรียเหล่านั้นสามารถอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศได้นานถึง 6 ชั่วโมง สำหรับวิธีป้องกันการฟุ้งกระจายของแบคทีเรียจากชักโครก ก่อนกดชักโครกจึงควรปิดฝาทุกครั้ง เมื่อต้องการใช้ชักโครกจึงค่อยเปิดฝาออก วิธีนี้จะช่วยลดการขยายตัวของแบคทีเรีย ส่วนแปรงสีฟันให้หาวัสดุปิดคลุมอย่างกล่องเก็บแปรงสีฟัน ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อของแบคทีเรีย และผ้าเช็ดตัวเมื่อใช้แล้วก็ไม่ควรแขวนในห้องน้ำ เพราะความชื้นของผ้าเช็ดตัวจะช่วยเร่งการขยายตัวของแบคทีเรียให้เติบโตเร็วยิ่งขึ้น
                 
     เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่อะไรที่ป้องกันได้ก็ควรทำ เพราะมีโอกาสที่วันใดวันหนึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เมื่อนั้นเราอาจถูกโจมตีจากแบคทีเรียในห้องน้ำก็ได้



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup