Q-Life
Burnout Syndrome คืออะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว Burnout Syndrome เป็นภาวะเครียดจากงานที่สะสมมายาวนาน อาจจะใช้เวลาหลายปีจนทำให้คนคนหนึ่งเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย ทั้งทาง กาย ใจ และอารมณ์ เรียกว่าเพลียทุกด้านกระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกหมดหวัง สิ้นเรี่ยวแรง พ่ายแพ้ หมดใจ หมดพลัง ไม่อยากทำอะไรอีกต่อไป ทัศนคติของคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้ก็ประมาณว่า มองทุกๆ วันเป็นวันที่แย่ การทำงานหรือการใช้ชีวิตหรือก็ช่างไร้ความหมาย
หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าข่าย Burnout Syndrome หรือไม่ ให้ใช้หลักเกณฑ์ PAINT พิจารณาดูทีละข้อว่าเป็นไปตามสัญญาณเหล่านี้หรือไม่
Pain สัญญาณที่แสดงออกทางกายหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ
Anger รู้สึกโกรธและหงุดหงิดง่าย
Indifferent ขาดแรงจูงใจ แรงขับ หรือความสนใจในสิ่งต่างๆ
Negative มองโลกในแง่ร้าย เย้ยหยันทุกอย่างรอบข้าง
Tired เหนื่อยทั้งกายและใจ
วิธีต่อสู้กับอาการ Burnout Syndrome ก็อาจทำได้หลายวิธี รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อหันเหจากความเครียด การเจริญสติ วันละสัก 10-15 นาที เป็นการฝึกจิตให้นิ่ง การนอนหลับ โดยเฉพาะช่วงวันหยุด นอนเสียให้พอ เป็นการปิดสวิตช์ทุกอย่าง การพูดคุยกับคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัว และ การเลือกรับประทานอาหาร เนื่องจากอาหารมีผลต่ออารมณ์และระดับพลังงานในร่างกาย ลดกาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่ออารมณ์ เน้นอาหารดีมีประโยชน์ และเลี่ยงอาหารแปรรูปทั้งหลาย
สาเหตุของอาการ Burnout Syndrome ส่วนใหญ่มาจากการทำงาน เช่น งานท่วมท้นจนทำไม่ทัน มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี ได้รับมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับความถนัดหรือความสามารถ อึดอัดกับระบบการทำงาน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน จัดสมดุลให้ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้ ไม่สนุกกับงาน เป็นต้น
สำหรับคนที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Burnout Syndrome ประกอบด้วย คนที่บริหารเวลาไม่เป็นจนไม่สามารถจัดสรรระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัวได้ คนประเภท Perfectionist ที่ไม่อาจยอมรับกับความบกพร่อง คนที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนรอบข้างพึงพอใจ คนที่ทำงานในสาขาอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น งานบริการ งานสาธารณสุข หรืองานที่ปรึกษา คนที่เวลาทำงานแล้วรู้สึกไม่สามารถควบคุมงานที่ทำได้ คนที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันน่าเบื่อ
Burnout Syndrome เป็นภาวะที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่บำบัด ยิ่งจะทำให้เลวร้ายลง หากมั่นใจว่าตัวเองเข้าข่ายภาวะนี้ ก็ต้องหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เครียด เมื่อระบุสาเหตุได้ ลำดับต่อไปคือ การแก้ไขที่ต้นเหตุไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม การปรับเปลี่ยนคนรอบข้างเป็นเรื่องยาก จะดีกว่าถ้าหันมาเปลี่ยนที่ตัวเอง ทั้งในด้านทัศนคติและพฤติกรรม เช่น หัดปฏิเสธ หัดตอบโต้ เมื่อลองหาทางออกแล้วไม่ได้ผล ความเครียดยังไม่หายไป การพบจิตแพทย์ดูจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ควรดำเนินการ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup