Q-Life
ปรุงอาหารอย่างไรให้ Healthy
สำหรับใครหลายคน การเข้าครัวทำอาหารถือเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพเพราะสามารถเลือกวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่คิดว่าดีที่สุดมาใช้ การทำอาหารเองเป็นเรื่องดีแต่ก็มีหลายสิ่งที่ควรระวังเพราะอาจมีผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความเคยชินหรือความไม่รู้ก็ตาม ไปดูกันว่าการปรุงอาหารแบบไหนบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง
ปรุงมากเกินไป คนจำนวนมากติดเครื่องปรุง เช่น ผัดผักแค่จานเดียวแต่ประเคนใส่ทั้งน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสน้ำมันหอย และผงปรุงรส เครื่องปรุงเหล่านี้มีส่วนผสมที่เป็นเกลือ ยิ่งใส่เยอะร่างกายก็ได้รับโซเดียมเยอะตามไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย การทำอาหารโดยใช้เครื่องปรุงให้น้อยที่สุดแต่ยังคงความอร่อยนั้นสามารถทำได้ด้วยการเลือกวัตถุดิบสดใหม่ วัตถุดิบหลายอย่างมีรสอูมามิหรือรสความอร่อยกลมกล่อมอยู่ในตัว เช่น เห็ด มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า เนื้อสัตว์ และชีส เวลาใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในการประกอบอาหารจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรุงหรือซอสต่างๆ มากมายแต่อย่างใด
เลือกใช้แต่สินค้า “ไขมันต่ำ” พอเห็นคำว่า Low-Fat จะเกิดความรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า ไขมันต่ำ = ไม่อ้วนและดีต่อสุขภาพ แต่ความจริงอาหารที่ติดข้อความนี้บนฉลาก หากอ่านข้อมูลโภชนาการมักพบว่า มีไขมันต่ำก็จริงแต่แป้ง น้ำตาลสูง แถมยังใช้วัตถุปรุงแต่งมากเนื่องจากไขมันเป็นสิ่งที่ช่วยชูรส เมื่อตัดไขมันออกจึงต้องชดเชยด้วยอย่างอื่น นอกจากนั้น ไขมันไม่ได้เป็นตัวร้ายเสมอไป ประโยชน์ของมันก็มี เช่น ให้พลังงาน ปกป้องอวัยวะภายใน และช่วยดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค แต่ต้องรู้จักเลือก ไขมันดีจากปลา หรือผลอาโวคาโด อันนี้มีประโยชน์จริง บริโภคได้สบายใจ
ดิบหรือสุกปรุงอย่างไร เราได้รับการรณรงค์ให้ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือก่อนกิน” จึงเป็นการปลูกฝังว่าอาหารต้องปรุงให้สุก ยิ่งสุกก็ยิ่งปลอดภัย ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ อาหารที่ผ่านความร้อนมาจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง 15-55 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย แต่วัตถุดิบอย่างผักหลายอย่างรับประทานได้ทั้งสุกและดิบ ผักส่วนใหญ่เมื่อรับประทานสดจะให้สารอาหารสูงกว่า แต่บางอย่างก็เหมาะรับประทานสุก เช่น แคร์รอตเมื่อทำให้สุกและปรุงโดยใช้น้ำมัน ร่างกายดูดซึมวิตามินเอไปใช้ได้ดีกว่าแบบดิบ หรือมะเขือเทศเมื่อปรุงให้สุกหรือเคี่ยวจนเละจะได้สารไลโคปีนปริมาณมากกว่า แต่ถ้ารับประทานสดก็จะได้วิตามินซีสูง เป็นต้น
ผัดและทอดด้วยน้ำมันเดียว น้ำมันแต่ละชนิดมี Smoke Point หรือจุดเกิดควันไม่เท่ากันจึงควรเลือกใช้ให้ถูกประเภท เช่น น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันมะกอกมีจุดเกิดควันต่ำ ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ทอดหรือผัดด้วยไฟแรงจัด เนื่องจากไม่ทนความร้อนและเสี่ยงต่อการปล่อยสารก่อมะเร็ง ควรแยกระหว่างน้ำมันสำหรับผัด ทอด และน้ำมันผสมในอาหาร เช่น น้ำสลัด เพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมสารเคมีในร่างกาย ควรเลือกซื้อน้ำมันสลับชนิดกัน ไม่ควรใช้น้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งประจำอย่างเดียว
ทิ้งเปลือกผักผลไม้เป็นประจำ วิตามินและคุณค่าทางอาหารกระจุกอยู่ตามเปลือกก็มาก น่าเสียดายที่หลายคนทิ้งส่วนนี้ไปโดยไม่ไยดี หลายอย่างรับประทานทั้งเปลือกได้ เช่น มันฝรั่ง แคร์รอต แอปเปิล ฝรั่ง ลูกแพร ซึ่งหากไม่ชอบ ไม่อยากฝืน ครั้งต่อไปเมื่อล้างและปอกเปลือกผักและผลไม้ ให้รวบรวมเปลือกเหล่านั้นใส่ถุงแช่ช่องฟรีซเก็บไว้ ต้มน้ำซุปเมื่อไรก็ใส่เปลือกผักผลไม้ลงไปเคี่ยวด้วย นอกจากได้ประโยชน์ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup