Q-Life
ความลงตัวของธรรมะ-ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
เพราะมีความฝันให้ต้องคว้า ผมจึงออกเดินทางจากหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ หมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบและโอบล้อมด้วยธรรมชาติมายังเมืองกรุงเพื่อทำงานที่รักอย่างการเปิดบริษัทเล็กๆ ที่ให้คำปรึกษาเรื่องดีไซน์ สไตล์ และการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหาร การเกษตร และงานตกแต่งโดยเน้นความเรียบง่ายและความยั่งยืน การเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และการทำงานอาสาสมัครในมูลนิธิโครงการหลวง รวมถึงงานจิตอาสาต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อมีเวลาว่างจากงานที่ทำจะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเสมอ โดยเวลาที่กลับมาอยู่บ้านมักเดินไปพูดคุยกับชาวบ้านและพระภิกษุ ทำให้ได้พบมิตรภาพ ได้ยิ้มอย่างสุขใจ และได้รับพลังดีๆ ทำให้ค้นพบว่า สิ่งที่สำคัญของชีวิต คือ ความสุขในการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่คุ้นเคย จึงเกิดความคิดนำบ้านไม้อีสานเก่าแก่ที่ครอบครัวอาศัยอยู่มาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชนในชื่อ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่คุ้นเคย มีพื้นที่โดยรอบประมาณ 3 ไร่ แต่ละพื้นที่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
เรือนไม้อีสานเก่าแก่อายุกว่า 60 ปีถูกรีโนเวตใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น โดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อชาวอีสานและชาวไทย มุมห้องตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษ และอีกฝั่งของบ้านที่เชื่อมติดกันเป็นครัวอีสานสมัยก่อนที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่น้อย ด้านหลังของครัวปรับเป็นมุมรับแขก คุมโทนด้วยสีขาว สีเขียว และสีน้ำตาล
Green Activity
ลานอเนกประสงค์ที่เน้นทำกิจกรรมสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ชุมชนในเชิงบูรณาการแบบยั่งยืน มีงานจักสาน งานหัตกรรม และผ้าทอให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับ นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีให้ศิลปินและนักออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาแลกเปลี่ยนผลงานหรือเป็นวิทยากรแนะนำการสร้างมูลค่าสินค้าจากชุมชนด้วยงานดีไซน์
ตลาดชุมชนพอเพียง
เปิดให้คนในชุมชนนำอาหารและพืชผลทางการเกษตรมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวในทุกวันเสาร์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและมีความสุข สนุกสนานไปกับการพบปะกัน ทั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้เชิญชวนให้คนอีสานสวมใส่เสื้อสีขาวกับผ้าซิ่นไหมโบราณของตระกูลหรือโสร่งมาเดินตลาดด้วย สำหรับจุดเด่นของตลาด คือ การตกแต่งด้วยโคมไฟสุ่มไก่ ภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีที่เล่าถึงวิถีชีวิตคนในชุมชนอีสาน โดยฝีมือของศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และพื้นที่จัดกิจกรรมกลางแจ้งของชุมชนอย่างเมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมามีการเดินแบบของผู้คนในชุมชน การฟ้อนรำวงปีใหม่รอบสวนยางพารา การรดน้ำดำหัวแบบวิถีดั้งเดิม รวมถึงการตักบาตรข้าวเหนียว ประเพณีดั้งเดิมของชุมชน
ลานศิลปะ
ลานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ตอนนี้ได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สร้างพื้นที่ศิลปะโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยได้จัดทำโครงการประติมากรรมเพื่อสังคม “จากมิลานสู่บึงกาฬ” โดยนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรประติมากรรมเพื่อสังคม
วัดโพธิ์ศรีมงคล
วัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ติดทุ่งนาและอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 20 เมตร มีพระสงฆ์จำพรรษาเพียง 4 รูป มีศาลาอเนกประสงค์ไว้ทำกิจของสงฆ์ และมีกุฏิร้างที่ปล่อยทิ้งไว้นาน แต่ด้วยสภาพอาคารที่ยังพอปรับปรุงได้ จึงบูรณะซ่อมแซมเป็นกุฏิเผยแพร่พุทธหัตถศิลป์อีสานที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ และตายของชาวอีสาน
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รีโนเวตเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ และตอนนี้ได้มีการพยายามผลักดันโครงการท่องเที่ยว 1 วันในอำเภอโซ่พิสัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่รายล้อมด้วยธรรมะและธรรมชาติ เน้นคอนเซ็ปท์การออกค้นหาความสุขทางใจในรูปแบบธรรมะคือธรรมชาติ ซึ่งในแต่ละตำบลมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัดป่ามากมาย หนึ่งในนั้นคือ วัดป่าดานวิเวก ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี