Q-Life

เที่ยวเมืองจันท์ ย้อนวันวาร





 

     หลายครั้งของการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ นอกจากภาพปัจจุบันที่ปรากฏต่อหน้าแล้ว ยังมีภาพอดีตทับซ้อนให้เรานึกถึงวันวารที่ผ่านมาเสมอ โดยเฉพาะวันวารของเมืองนี้...เมืองจันท์ หรือ จันทบุรี

     เมืองจันท์ เป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของจังหวัดจันทบุรี เมืองทางฝั่งตะวันออกที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ เท่าใดนัก เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเรื่องเล่าขานมากมาย ทั้งงดงามและล้ำค่า คือดีต่อใจ ทุกครั้งเมื่อได้เดินทางมาสัมผัสเมืองต้องห้ามพลาดอย่างเมืองนี้
 

     ปักหมุดแรก ย้อนอดีตกาล ณ โบราณสถานค่ายตากสิน

     แม้แดดบ่ายจะร้อนแรงเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถลดทอนความจดจ่อรอชมความงามของโบราณสถานค่ายตากสิน จุดหมายแรกของทุกคนลงได้ โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเพิ่งได้รับการบูรณะใหม่จนสดใสสวยงามอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เอง  

     กล่าวถึงพระนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลายคนคงรำลึกตรึกตรองถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ในยุครอยต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ดี ชื่อค่ายก็บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงเคยยกทัพมาตั้งมั่นที่นี่ เพื่อเตรียมกู้ชาติหลังไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 โดยก่อนเข้ายึดพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งมั่น มีเรื่องเล่าของการทุบหม้อข้าวหม้อแกงเพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับทหารในการต่อสู้เข้ายึดเมืองจันท์ในครั้งนั้นสืบต่อกันมา แต่จะเป็นแค่ “เรื่องเล่า” เท่านั้นหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า พระองค์ทรงมีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และพระปรีชาสามารถในการทหารอย่างมาก จนในที่สุดก็กู้ชาติไทยจากพม่าได้สำเร็จ





     เหตุการณ์สำคัญต่อมา คือสมัย ร.ศ.112 หรือ พ.ศ.2436 ยุคตะวันตกล่าอาณานิคม ค่ายตากสินได้ถูกทหารฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองและตั้งเป็นศูนย์บัญชาการทหารของตนเอง รวมทั้งใช้เป็นคลังเก็บกระสุนดินดำ คลังพัสดุ อาคารที่พักทหารรักษาการณ์ และอาคารคุมขังทหาร หลังจากฝรั่งเศสทำการยึดเมืองจันท์ได้ ด้วยเหตุผลว่า ค่ายตากสินเป็นหนึ่งในจุดที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ในเวลานั้นจึงมีการก่อสร้างอาคารสไตล์ฝรั่งเศสขึ้นมาหลายหลัง กาลเวลาผ่านไป 10 ปี ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกไปจากค่ายตากสิน โดยแลกกับไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอกให้ ตามพระราชกุศโลบายของรัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ไทยต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนั่นเอง

     หมุดหมายแรก ณ โบราณสถานค่ายตากสินจึงนับว่ามีร่องรอยแห่งวันวารอันฮึกเหิมและเจ็บปวดคละเคล้ากันไป สิ่งที่หลงเหลือไว้วันนี้นอกจากบทเรียนที่มีค่าให้เรียนรู้และก้าวต่อไปข้างหน้าแล้ว ก็เป็นบรรดาอาคารสไตล์ฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน โดยก่อนได้รับการบูรณะสภาพโบราณสถานชำรุดทรุดโทรมมาก มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมร่วมกับกรมศิลปากรก็เลยดำเนินการสำรวจและวางแผนชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงเค้าโครงความงามตามแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส ตลอดจนร่องรอยต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เราได้ศึกษากันอย่างละเอียดลออ

     แสงแดดสาดส่องต้องอาคารโบราณสถานค่ายตากสินเป็นเงาสะท้อนบนทางเดินที่ก้าวผ่าน คล้ายนำเราย้อนไปสู่วันวารอันเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย ตั้งแต่การรบพุ่งอันน่าตื่นตระหนก การแย่งชิงต่อรองอันแสนเจ็บปวด และภูมิทัศน์ของเมืองอันสวยงามและอุดมสมบูรณ์ ภาพเหล่านี้ผ่านไปไม่หวนคืน ทว่าก็ควรค่าแก่การจดจำ
และทำให้เวลานี้ ตรงนี้ อดีตกาลของโบราณสถานค่ายตากสินกลายเป็นปัจจุบันที่ทุกคนต้องห้ามพลาดมาเยือน...
 

     ปักหมุดที่สอง ณ หนองบัว ชุมชนขนมแปลกท่ามกลางบ้านอนุรักษ์

     หนองบัวเป็นหนึ่งในสถานที่ต้องปักหมุดมาย้อนเวลาชมความงามเมื่อ 100 กว่าปี ด้วยเสน่ห์ของอาคารบ้านเรือนไม้ที่อนุรักษ์ไว้อย่างยาวนาน ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สังเกตได้จากหลังคา หน้าต่าง ประตู ช่องลม และลวดลายฉลุ โดยเฉพาะบ้านเลขที่ 38 ของตระกูลคนเมืองจันท์เก่า ที่รักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้เกือบหมด จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น


    

     นอกจากความเป็นชุมชนเก่าแก่แล้ว ที่นี่ยังตั้งอยู่ริมคลองหนองบัว ชาวบ้านดั้งเดิมมีอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพพลอย ส่วนสภาพพื้นที่แต่ก่อนเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีฝูงนกเหยี่ยวแดงบินว่อน ซึ่งตอนนี้หากล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติยามเย็นก็ยังจะได้พบกับความงามและสัมผัสกับความเย็นสบายคล้ายสมัยก่อน สำหรับพื้นที่ตลาดซึ่งมีเรือนไม้เก่าแก่วางตัวเรียงรายทั้งสองข้างทางนั้น เป็นถนนคนเดินที่เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไม่นาน โดยมีถนน 4 สายตัดมาเชื่อมกันเป็นศูนย์กลางบริเวณสี่แยก ชวนให้เพลิดเพลินกับการเดินชมบ้านชมเมือง ไปพร้อมๆ กับลิ้มลองขนมอร่อยๆ ที่ขึ้นชื่อว่าแปลก จนเป็นที่มาของชื่อ “ชุมชนขนมแปลก” เพราะเต็มไปด้วยขนมโบราณแปลกๆ หากินยาก เช่น ขนมติดคอ ขนมตังก๊วย ขนมต้ม เป็นต้น และที่เลื่องลือสุดๆ ก็คือ ขนมควยลิง ขอย้ำไม่ใช่คำหยาบหรือไม่สุภาพ แต่ชาวตลาดเรียกชื่อขนมเช่นนี้จริงๆ  





     ขนมควยลิงเป็นทั้งขนมแปลกและโบราณ เล่ากันว่าแต่เดิมขนมนี้ไม่มีชื่อ ทว่าบ้านคุณยายลิเจ้าของขนมต้นตำรับปั้นขนมซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำเป็นเส้นเล็กๆ แล้วค่อยนำไปต้มสุก คลุกมะพร้าว และโรยน้ำตาลผสมงาดำกินกันเองภายในครอบครัว บังเอิญระหว่างปั้นมีลูกลิงจากป่าแสมฝั่งตรงข้ามโผล่ออกมาพร้อมจู๋ และลักษณะขนมที่ปั้นคล้ายๆ กัน คุณยายจึงเรียกขนมนี้ว่า ขนมควยลิง แบบตรงไปตรงมาเสียเลย  





     เห็นไหม...ทั้งแปลกทั้งอิ่มเอมกับตำนานเล่าขานความเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรืออาคารบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชุมชนหนองบัวก็เลยเป็นจุดพักที่เนืองแน่นตลอดเวลา 


     ปักหมุดที่สาม ทอดน่อง ท่องเมือง ณ ชุมชนริมน้ำจันทบูร  

     จากบ่ายต้นสู่บ่ายคล้อยจนใกล้เย็นย่ำ เสน่ห์แห่งเมืองจันท์ยังไม่หมดสิ้น สถานที่อีกแห่งที่ชวนให้ย้อนวันวาร จะเป็นที่ไหนไม่ได้ นอกจากชุมชนริมน้ำจันทบูร (หรือแม่น้ำจันทบุรี) ชุมชนเก่าแก่อีกแห่งของเมืองแห่งนี้ หากมาเมืองจันท์แล้วไม่แวะเยือน เท่ากับมาไม่ถึงจริง...

     ชุมชนริมน้ำจันทบูรตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ที่บริเวณบ้านลุ่มเช่นเดียวกับโบราณสถานค่ายตากสิน กินอาณาพื้นที่จากย่านท่าหลวงถึงตลาดล่าง กลุ่มคนรุ่นแรกที่มาอาศัยเป็นชาวจีนและญวน อพยพมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณ 300 ปีที่แล้ว ก่อนจะพัฒนาชุมชนตรงนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีอัตลักษณ์เฉพาะทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งสัมผัสได้นับแต่แรกเดินท่องอยู่บนถนนที่เต็มเปี่ยมด้วยเงาอดีตอันงดงาม จากจุดเริ่มต้นที่วัดจันทร์ถึงสะพานนิรมลที่พาเราไปสู่โบสถ์พระแม่มารีอาฯ





     ความโดดเด่นของชุมชนริมน้ำจันทบูร อยู่ตรงเอกลักษณ์ของบ้านเรือนทั้งแบบบ้านไม้ บ้านปูน และบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตกผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ท่ามกลางกลิ่นอายของคืนวันเก่าๆ บ้านแต่ละหลังจะหันหน้าออกสู่ถนนและหันหลังให้กับสายน้ำ ถนนเส้นนี้เดิมเรียกว่าถนนท่องนที ต่อมาเทศบาลเปลี่ยนเป็นชื่อถนนสุขาภิบาล คั่นกลางบ้านสองฟากฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะทำมาค้าขาย เปิดเป็นร้านอาหารบ้าง ร้านกาแฟบ้าง ร้านไอศกรีมบ้าง ร้านขนมบ้าง เลยมีของกินของอร่อยให้เลือกชิมไม่แพ้ชุมชนหนองบัว อย่างเช่น น้ำมะปี๊ด (ส้มจี๊ด) ขึ้นชื่อของร้านกาแฟเฉลิมจันท์ ไอศกรีมตราจรวดหรือไอติมกระเบื้องเจ้าเก่าแก่สูตรโบราณ เป็นต้น สำหรับบ้านที่สวยงามเป็นที่กล่าวถึงมีอยู่หลายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านหลวงราชไมตรี บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร และโบสถ์พระแม่มารีอาฯ

     บ้านหลวงราชไมตรี เป็นบ้านแห่งประวัติศาสตร์ แบบครึ่งไม้ครึ่งปูน สไตล์บริติช โคโลเนียน อายุ 150 ปี ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยม แต่ตอนนี้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมในลักษณะ Historic Inn เมื่อปี พ.ศ.2557 โดยทายาทเจ้าของรุ่นปัจจุบันอนุญาตให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโรงแรม ด้วยการลงขันซื้อหุ้นโรงแรมตามกำลังที่มี พูดง่ายๆ คือดำเนินการในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้บ้านหลังนี้ยิ่งมีคุณค่าขึ้นไปอีก แขกที่มาพักจะได้เสพซับทั้งความงามของบ้าน คุณค่าแห่งอดีต และหลักคิดของการแบ่งปัน นอกจากนั้น ยังมีการจัดเก็บเรื่องราวและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เกี่ยวกับหลวงราชไมตรีและบ้านเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกด้วย   

     ไม่ไกลกันนักเราก็มาถึงบ้านกึ่งพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่เลขที่ 69 ซึ่ง “คณะกรรมการพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร” รวมกลุ่มกันอนุรักษ์ และตั้งชื่อว่า “บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร” เจ้าของเดิมคือ ขุนอนุสรสมบัติ ส่วนเจ้าของปัจจุบันคือ คุณป้าบุญพริ้ม ปฏิรูปานุสร ได้กรุณาเปิดให้ใช้บ้านเพื่อเป็นประโยชน์ต่องานชุมชน มาตั้งแต่ พ.ศ.2553 และมอบหมายให้อาจารย์ประภาพรรณ ฉัตรมาลัย เป็นผู้ดูแล มาเยือนที่นี่ก็เลยได้รับความรู้ทั้งความเป็นมาและวิถีชีวิตของผู้คนสมัยก่อนอย่างเต็มอิ่ม ผ่านภาพถ่ายบรรยากาศของชุมชนริมน้ำจันทบูรในอดีต ภาพเก่าหายากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงฝรั่งเศสยึดจันทบุรี เป็นต้น  

     เข้าสู่ยามเย็นแดดราแสงไปนานแล้ว เราจึงเร่งฝีเท้ามายังสะพานนิรมลที่ทอดสู่โบสถ์คาทอลิกที่สวยที่สุดในประเทศนั่นคือ โบสถ์หรืออาสนวิหารพระแม่มารีอาปฏิสนธินิรมล เรียกกันทั่วไปว่า โบสถ์พระแม่มารีอาฯ จุดศูนย์รวมศรัทธาของชาวคริสต์ไม่เฉพาะคนเมืองจันท์เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั่วทั้งฝั่งตะวันออกเลยทีเดียว

     โบสถ์พระแม่มารีอาฯ แห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ตัวโบสถ์ปัจจุบันนับเป็นหลังที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2449 มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคซึ่งจำลองแบบมาจากโบสถ์น็อตเตอร์ดามในฝรั่งเศส คือมีหน้าต่างโค้ง และประดับด้วยลายฉลุโดยรอบ รอบโบสถ์มีหอด้านหน้าสองข้าง แต่เดิมยอดแหลมของหอได้รื้อออกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันมิให้เป็นที่หมายตาในการโจมตี ไล่เรื่อยสายตาขึ้นมาด้านหน้าอีกนิดมีสวนหย่อมเล็กๆ อยู่ 2 ข้าง และประติมากรรมพระแม่มารีอยู่ทางขวามือ แค่ด้านนอกตัวโบสถ์ก็ทำให้รู้สึกดั่งต้องมนต์สะกดแล้ว ตรงเข้าไปด้านในยิ่งพบกับความสงบงามไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความโอ่โถงยิ่งใหญ่ของโบสถ์ ความวิจิตรของภาพนักบุญองค์ต่างๆ บนผนังสองข้าง หรือความตระการตาของช่องแสงที่ประดับตกแต่งด้วยกระจกสี ทั้งหมดทั้งมวลสวยงามเหลือเกิน เป็นความสวยงามจากวันวารมาถึงวันนี้...
 
     นี่เองทำให้เมืองจันท์ หรือจันทบุรี เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ต้องมาปักหมุดเพื่อย้อนพาเราไปพบกับวันวารอันทรงคุณค่าที่หาชมจากสถานที่ใดๆ ได้ยากยิ่งนัก
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี