Q-Life
Hej Stockholm ราชินีแห่งทะเลบอลติก
แรกเห็นดูเคร่งขรึมแลคลาสสิกรุ่มรวยอารยะตามแบบฉบับยุโรปทั่วไป แต่หากได้รู้จักกันแล้วจะเห็นว่าสตอกโฮล์มมีความเฟี้ยวแฝงไว้ในทุกอณู หากจะเปรียบสตอกโฮล์มน่าจะเป็นชายผมแซมสีเทา ที่ไม่ยอมร่วงโรยตามวัย กลับเลือกดูแลตัวเองอย่างดีทุกกระเบียด แต่งตัวเรียบโก้แฝงดีเทลเต็มไปด้วยสไตล์ ยิ่งพินิจพิเคราะห์ยิ่งเห็นความประณีตในรายละเอียด เป็นฮิปสเตอร์ที่ไม่มีวันหมดอายุเลยทีเดียว
สตอกโฮล์ม (Stockholm) เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ตั้งอยู่ในยุโรปเหนือ หรือแถบสแกนดิเนเวียดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1795 และด้วยความสวยเด็ดจึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งทะเลบอลติก ทั้งเมืองเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกผสมผสานโมเดิร์นกลมกลึงลงตัวอัดแน่นในทุกซอกมุม ท่ามกลางอากาศสะอาดสดชื่นไร้มลพิษสูดเข้าไปได้เต็มปอดอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะเมืองหลวงเก่าแก่แห่งนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย เกาะใหญ่น้อย 14 เกาะที่โอบล้อมด้วยทะเลบอลติก (Baltic Sea) ทะเลสาบมาลาเร็น (Lake Malaren) ด้วยลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้จึงทำให้สตอกโฮล์มมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี
เมื่อได้เวลาทำความรู้จัก ความงามของสตอกโฮล์มค่อยๆ เผยตัวออกมาให้ประจักษ์แก่สายตา สองขาพาเดินลัดเลาะซอกแซกตามตรอกซอกซอยผ่านถนนปูอิฐแบบโบราณเส้นเล็กเส้นน้อย ท่ามกลางบรรยากาศตึกรามบ้านช่องเก่าแก่ยุคกลางในเขตเมืองเก่า Gamla Stan ที่เรียกง่ายๆ แบบไทยๆ ว่า กัมลาสถาน ซึ่งพอเรียกแบบนี้ปุ๊บคนไทยอย่างเราจะจำได้ทันที ย่าน Gamla Stan เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีสะพานทอดตัวเชื่อมมาแต่ทว่าคึกคักเสียจนลืมไปว่าที่นี่ไม่ได้เป็นแผ่นดินเดียวกับอีกฝั่ง ซึ่งที่นี่เองคือ จุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองสตอกโฮล์ม เสน่ห์ของเมืองเก่าตรึงจิตใจชวนหลงทางให้เดินวกวน ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ดูลึกลับเชื้อเชิญให้เข้าไปค้นหา หากเดินถลำลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะพบกับใจกลางของเมืองเก่า คือจัตุรัส Stortorget ที่มีตึกสีเหลืองแดงโดดเด่นสดใสตัดกับสีเสื้อผ้าที่ดูเคร่งขรึมที่คนส่วนใหญ่สวมใส่ ณ จัตุรัสแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ Nobelmuseet พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติเอาไว้เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2444
ถัดจากย่านเมืองเก่าออกไปไม่ไกลคือ ศาลาว่าการกรุงสตอกโฮล์ม หรือ Stadshuset ในภาษาสวีดิช อาคารอิฐสีแดงที่ภายนอกดูทรงพลังน่าเกรงขาม แต่เมื่อก้าวผ่านประตูเข้ามาแล้วกลับให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นมิตรแก่ผู้มาเยือน ภาพลานกว้างแต่งแต้มด้วยเถาไม้เลื้อยกำลังเปลี่ยนสีแดงเหลืองเพื่อเตรียมผลัดใบในหน้าหนาวแผ่กิ่งใบโอบกอดตัวกำแพงอิฐแข็งแกร่งได้อย่างอ่อนหวานทว่าแฝงท่วงท่าสง่างาม ลมเย็นจากเวิ้งน้ำเบื้องหน้าชวนเชิญให้เดินตามออกไปดื่มด่ำทิวทัศน์ที่สายน้ำกางกั้นระหว่างอาคารแห่งนี้กับเมืองเก่าที่เราเพิ่งผ่านมา ความสำคัญของอาคารแห่งนี้ นอกจากจะเป็นศาลาว่าการของเมืองแล้ว ยังเป็นสถานที่ซึ่งจัดพิธีมอบรางวัลโนเบลเป็นประจำทุกปี รางวัลนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของ อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ที่รู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการทำลายล้างคร่าชีวิตมนุษย์ เขาจึงมอบทรัพย์สินเกือบทั้งหมดมาเป็นเงินทุนในรางวัลโนเบล 5 สาขา คือ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ และฟิสิกส์ สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์นั้นเพิ่มเข้ามาในภายหลังไม่ได้เป็นดำริแรกเริ่มจึงไม่ได้ใช้เงินทุนส่วนนี้มอบเป็นเงินรางวัล โดยการมอบรางวัลโนเบลจะจัดเป็นประจำทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ที่ห้องโถง Blue Hall หรือ Blå hallen ณ ศาลาว่าการกรุงสตอกโฮล์มแห่งนี้ ยกเว้นเพียงรางวัลในสาขาสันติภาพ ซึ่งสาขาเดียวที่จัดพิธีมอบรางวัลที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์
สายน้ำนำพาเราไปสู่ประวัติศาสตร์อีกหน้าของเมืองหลวงแห่งนี้ บนเกาะ Djurgarden เป็นที่ตั้งของ Vasamuseet หรือพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงวอซ่า ซึ่งผู้มาเยือนทุกคนล้วนอยู่ในอาการตกตะลึงเมื่อเข้าสู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ สายตาปะทะกับเรือรบโบราณตรงหน้าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตั้งตระหง่านอลังการทักทายผู้คน ใครจะเชื่อว่าเรือสุดวิจิตรสมัยศตวรรษที่ 17 ลำนี้เคยจมอยู่ใต้ทะเลนานถึง 333 ปีจึงถูกกู้ขึ้นมาอวดโฉมให้เราได้ยล ตามประวัติของเรือถึงแม้จะได้ชื่อว่าเรือรบ แต่เรือกลับไม่เคยได้ออกไปรบอย่างที่ตั้งใจ เรือรบหลวงวอซ่าถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2169 ใช้เวลาสร้าง 2 ปีจึงเสร็จในปี พ.ศ.2171 ตามพระประสงค์ของกษัตริย์สวีเดนในขณะนั้น ซึ่งก็คือกษัตริย์กุสตาฟ ที่ 2 (Gustav II Adolf) ในช่วงสงครามบอลติก ระหว่างเดนมาร์ก-รัสเซีย และโปแลนด์ ที่ต้องการสร้างเรือรบสุดยิ่งใหญ่ ทรงอานุภาพ และสวยงามที่สุดในเวลานั้น โดยตั้งชื่อเรือตามตราประจำตระกูลวอซ่าของกษัตริย์นั่นเอง ในวันที่ปล่อยเรือรบหลวงสุดตระการตาลำนี้ออกสู่อ้อมกอดทะเลบอลติกอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ แต่เรือกลับแล่นออกไปได้เพียงพันกว่าเมตรเท่านั้นก็ค่อยๆ เอียงและจมลงในที่สุด ท่ามกลางสายตาประชาชนที่มารอดูอย่างมากมาย ปิดฉากลงอย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่าตำนานของเรือไททานิก เรือถูกทิ้งให้ดำดิ่งจมโคลนใต้ทะเลอย่างไม่ไยดีอยู่ถึง 333 ปี กระทั่ง Anders Franzén เป็นผู้ค้นพบและนำเรือกลับคืนสู่ผิวน้ำอีกครั้งในปี พ.ศ.2047
ยามพระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ ลมเอื่อยจากทะเลพัดมาเป็นระยะ ความหนาวเย็นเริ่มแทรกผ่านเสื้อผ้าเข้ามากระทบผิวคนเมืองร้อนอย่างเราให้ได้ลิ้มรสอากาศหนาวที่ยากจะสัมผัสในกรุงเทพฯ ก่อนตะวันจะลาลับขอบฟ้า นักท่องเที่ยวหลายคนเลือกที่จะไปเก็บภาพแสงสุดท้ายของวันบริเวณสะพาน Skeppsholmsbron ที่ซึ่งจะได้เห็นภาพ Gamla Stan เมืองเก่าของสตอกโฮล์มระยิบระยับทอดตัวอยู่ท่ามกลางแสงสีทองก่อนอาทิตย์จะนิทรา เมื่อเดินไปจนถึงกลางสะพานจึงได้พบกับมงกุฎสีทองอร่าม ที่ได้พานพบกันมาแล้วครั้งหนึ่งในโปสเตอร์จากร้านขายของที่ระลึก เพิ่มความสวยงามให้ภาพตราตรึงในความทรงจำมากขึ้นไปอีก
หากสังขารยังมีแรงค่ำคืนนี้ก็ยังอีกยาวไกล เพราะเมโทรที่สตอกโฮล์มเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง อีกกิจกรรมที่เป็น A Must ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ การมุดใต้ดินนั่งเมโทรเก็บแต้มถ่ายรูปตามสถานีต่างๆ ที่สวยงามขึ้นชื่อจนติดอันดับโลกอย่างไม่อายใคร หากแต่ไม่ใช่แค่สวยแบบดาษดื่น แน่นอนว่าเมโทรที่อยู่ใต้เมืองสุดชิกแห่งนี้ต้องมีดีไซน์แสนเก๋สุดอาร์ตเป็นธรรมดา แต่ละสถานีมีศิลปินบรรจงสร้างงานศิลปะชั้นยอดให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้ชื่นชมเสพศิลป์จนอิ่มใจ แม้เพียงเดินผ่านอย่างไม่ตั้งใจ ยังสามารถสร้างรอยยิ้มจนอดใจหยิบกล้องคู่ใจออกมาถ่ายรูปไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าตั้งใจรังสรรค์งานศิลป์ฝีมือจัดจ้านสมกับเป็นเมืองแห่งดีไซน์ สำหรับคนที่มีเวลาน้อยจะเลือกเก็บแค่บางสถานีก็ได้ แต่ 3 สถานีสายสีฟ้าต่อไปนี้บอกเลยว่าห้ามพลาด คือ Kungsträdgården, T-Centralen และ Rådhuset นอกจากนี้ ยังมีสายสีแดงอีก 2 สถานีคือ Tekniska högskolan และ Stadion บอกเลยว่าเป็น A Must ที่ไม่ได้ไปถือว่ามาสตอกโฮล์มไม่จริง เพราะแต่ละสถานีสวยจัดจนติดอันดับโลก
How to Get There
จากสนามบิน Stockholm Arlanda Airport (ARN) สามารถเดินทางเข้าเมืองสตอกโฮล์มได้หลายวิธี ที่นิยมก็คือการนั่งรถไฟด่วน Arlanda Express ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที และการนั่งรถบัส Flygbussarna ซึ่งราคาประหยัดกว่าเท่าตัว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45-60 นาทีขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร รถออกทุกๆ 10-15 นาที ทั้ง 2 วิธี นั่งยาวๆ ไปลงที่ Stockholm City ซึ่งเป็นสถานีรถไฟกลางเมืองสตอกโฮล์ม ที่มีสถานีเมโทร T-Centralen เชื่อมต่อไปยังเมโทรสายต่างๆ ได้อย่างสะดวก และไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนก็มีส่วนลดสำหรับการจองล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชัน
การท่องเที่ยวในเมืองสตอกโฮล์ม มีบัตรเบ่ง Stockholm Pass ใบเดียวเที่ยวได้ทุกที่ รวมทั้งค่าเดินทางและค่าเข้าสถานที่ต่างๆ เอาไว้แล้ว เริ่มต้นที่ 595 SEK สำหรับ 1 วัน แต่สำหรับคนที่คิดว่าไม่คุ้ม จะเลือกซื้อแบบเหมาเฉพาะค่าเดินทางอย่างเดียวก็ได้ นั่นก็คือ Stockholm Travelcard ที่สามารถขึ้นรถลงเรือกี่เที่ยวก็ได้ เริ่มต้นที่ 120 SEK สำหรับแบบ 24 ชั่วโมง
Where to Stay
ย่านสถานีรถไฟกลางของสตอกโฮล์มหรือเมโทรสถานี T-Centralen มีที่พักให้เลือกมากมายสามารถเลือกตามงบประมาณในกระเป๋าได้เลย ข้อดีของการพักในย่านนี้ก็คือไปไหนมาไหนสะดวก ทั้งเที่ยวในตัวเมือง หรือจะต่อรถไฟไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ในยุโรป หรือแม้แต่การเดินทางไปสนามบินก็สะดวกมาก
เราเลือกที่พักราคาประหยัดที่ Mosebacke Hostel ในย่าน Mosebacke ซึ่งเป็นย่านการค้า ทั้งถนนเต็มไปด้วยร้านค้าชวนให้ช้อปปิงดึงดูดเงินในกระเป๋ายิ่งนัก แต่พอพระอาทิตย์ลับฟ้าย่านนี้จะกลายเป็นย่านกินดื่มเต็มไปด้วยผับบาร์ให้ปาร์ตี้มากมาย สถานีเมโทรที่ใกล้ที่สุดคือ Slussen ซึ่งห่างจาก T-Centralen เพียง 2 สถานี หากสนใจลองเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของทางโฮสเทลได้ที่ www.mosebackehostel.se
Where to Eat
ไปถึงสตอกโฮล์มทั้งที ห้ามพลาดอาหารสวีดิช เราแนะนำร้าน Stockholms Gästabud ชิมเมนูท้องถิ่นของชาวสวีดิช จานเด็ดขึ้นชื่อของร้านที่สั่งกันทุกโต๊ะเลยก็คือ มีทบอลสไตล์สวีดิช เสิร์ฟคู่กับมันบดเนื้อเนียนละเอียดและแยมเบอร์รี อีกอย่างที่อยากให้ลองก็คือ แซลมอนชิ้นโต เสิร์ฟพร้อมกับมันฝรั่งลูกกลมๆ เล็กๆ และซอสมายองเนสสูตรเด็ดของที่ร้าน ปิดท้ายด้วยของหวานอย่างแอปเปิลครัมเบิลที่มาพร้อมซอสวานิลลาเข้มข้นหอมเนียน เป็นการจบมื้ออาหารท้องถิ่นแบบสวีดิชที่ฟินมาก ที่สำคัญราคาไม่แรงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพสุดโหดของที่นี่
Stockholms Gästabud ตั้งอยู่ในย่าน Gamla Stan ร้านสีเหลืองหาไม่ยาก พิกัดตามนี้ Osterlanggatan 7, Stockholm 111 31, Sweden เนื่องจากเป็นร้านเล็กๆ แต่คนเยอะ ควรเผื่อเวลาในการรอประมาณครึ่งชั่วโมง ทางร้านมีการบริหารจัดการดี จึงไม่ต้องรอนานมาก หากใครไม่อยากรอ ควรโทรศัพท์ไปจองโต๊ะเอาไว้ก่อนที่เบอร์ +46 8 21 99 21
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี