Q-Life
วิ่งออกกำลังต้องระวังเข่าหรือไม่
ช่วงนี้เห็นทีว่ารองเท้าใส่วิ่งจะขายดีเป็นพิเศษ เพราะอานิสงส์จากโครงการก้าวคนละก้าว ที่พี่ตูน บอดี้สแลม ออกวิ่งจากใต้จรดเหนือเพื่อหาเงินให้โรงพยาบาล 11 แห่ง ความจริงการวิ่งออกกำลังกายกลายเป็นกระแสมาหลายปีก่อนหน้าจากการโปรโมตการวิ่งมาราธอนจนทำให้ผู้คนนิยมวิ่งมากขึ้น แต่คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า การวิ่งจะนำมาซึ่งอาการข้อเสื่อมหรือไม่ก็ข้ออักเสบ เนื่องจากแรงกระแทกจากการลงน้ำหนักเท้า หลายคนจึงสงสัยว่า การวิ่ง การจ็อกกิ้งดีหรือไม่ดีกันแน่ มีคำเฉลยจากนักวิชาการน่าเชื่อถือหลายท่านดังนี้
ศาสตราจารย์เจมส์ ไฟรส์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย ใช้เวลาถึง 20 ปีในการวิจัยเรื่องนี้ และจากการศึกษาคนที่วิ่งต่อเนื่องเป็นประจำสม่ำเสมอ พบว่า เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงในการเป็นข้ออักเสบจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่วิ่งเลย
ดร.เกรซ เซี่ยว เหว่ย โล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบเลอร์ ทำการวิจัยกลุ่มตัวอย่าง 2,600 คน พบว่า การวิ่งไม่ว่าช่วงไหนของชีวิต ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นข้อเสื่อมแต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ด้วยซ้ำ อีกทั้งคนที่วิ่งเป็นประจำ ความเสี่ยงในการเจ็บเข่ากลับพบว่าลดลง
จอห์น บริเวอร์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเซนต์แมรี่ในอังกฤษอธิบายว่า ร่างกายมนุษย์ออกแบบมาเพื่อการวิ่งเพราะในสมัยโบราณ มนุษย์ต้องวิ่งหาอาหาร วิ่งหนีสัตว์ป่า การวิ่งจึงเป็นการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติของมนุษย์
ซาแมนต้า มอส นักกายภาพบำบัดประจำ Nuffield Health ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยซึ่งไม่ปรากฏพบหลักฐานที่ระบุการวิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อม แต่กลายเป็นว่าการวิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากเวลาวิ่ง แรงกดทับจะทำให้กระดูกปรับตัวและเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงทำให้กระดูกแข็งแรง
ยังไม่พอ ล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Applied Physiology โดยแมท ซีลีย์ นักวิจัย BYU (Brigham Young University) ทำการศึกษาผู้วิ่ง 15 คน อายุระหว่าง 18-35 ปี โดยการนำตัวอย่างเลือดและน้ำในเข่าของกลุ่มตัวอย่างไปตรวจจาก 2 สถานการณ์คือ หลังปล่อยให้วิ่งบนลู่วิ่งเป็นเวลา 30 นาที และหลังจากอยู่นิ่งๆ ไม่ได้วิ่ง พบว่า เมื่อตรวจน้ำในเข่าไม่พบโมเลกุลที่กระตุ้นการอักเสบ ที่สำคัญปริมาณสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบกลับลดลงหลังจากที่ออกกำลังด้วยการวิ่ง 30 นาที
ส่วนสาเหตุที่เวลาวิ่งแล้วเกิดอาการเจ็บนั้น อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ไม่ได้ศึกษาเทคนิคการวิ่งอย่างถูกต้อง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่สมดุล สวมรองเท้าไม่เหมาะสมกับการวิ่ง วิ่งนานโดยไม่พัก การวิ่งเพื่อออกกำลังกายควรอยู่บนพื้นฐานของความพอดี และไม่ว่าอย่างไร การวิ่งเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างน้อยก็มีประโยชน์เมื่อเทียบกับการไม่ออกกำลังกายเลยแม้แต่น้อย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี