Q-Life

ศรีนาป่าน...หมู่บ้านชากลางผืนป่าเมืองน่าน





     หุบห้วยสายเล็กตรงหน้านั้นไหลพึมพำปลายฤดูฝน เสียงแมลงกรีดปีก วงล้อมแห่งป่าเขาสีเขียวปกปิดพื้นที่โบราณของพวกเขาไว้ในความเขียวชื่นรื่นเย็น

     เราสืบเท้าตามกันไปในทางดอยเล็กๆ ป่าเขาหลากระดับห่มคลุมสวนชาโบราณ มันต่างเหนี่ยวนำให้คนที่นี่หลายต่อหลายรุ่นเดินขึ้นไปหาวิถีชีวิตเก่าแก่กลางขุนเขามาเนิ่นนาน
               
     เรากำลังอยู่ในร่มเงาไม้ใหญ่กลางขุนเขาเมืองน่าน เหยียบยืนอยู่เหนือเนื้อดินที่ชาพื้นเมืองหยัดยืนกลางผืนป่าธรรมชาติ


     
     เนื้อดินเดียวกันนี่เอง ที่เป็นแรงชักจูงให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเลือกหมู่บ้านเชิงเขาแห่งนั้นเพื่อยังชีพและหล่อหลอมตัวตนขึ้นเคียงข้างกำแพงธรรมชาติสูงตระหง่านมาเนิ่นนานยาวไกล

     ทางหลวงชนบท 3038 พาเรามาถึงเชิงเขาในเขตตำบลเรือง ห่างออกจากอำเภอเมืองน่านมาไม่กี่กิโลเมตร กำแพงขุนเขาที่โอบล้อมเมืองมีเสน่ห์แห่งนี้เต็มไปด้วยซอกมุมของผู้คนและพืชพรรณที่ซุกซ่อนอยู่หลบเร้น และภูเขาก็อุ่นเอื้อเสมอเมื่อใครก้าวเข้าขึ้นไปหา
               
     สองฟากถนนรายล้อมอยู่ด้วยบ้านเรือนเรียบง่ายของชาวบ้านบ้านศรีนาป่าน บ้านไม้โบราณ แม่เฒ่าสวมซิ่นลายสวย ก๋วยสานเก่าคร่ำที่พวกเขาใช้ยังชีพเชื่อมโยงกับป่าโบราณ
                
     “เฮาอยู่กันมาเมินละ คนบ้านตาแวนก็แตกกันออกไปจากศรีนาป่าน” พ่อหลวงสนั่น วิสมก๋า เล่าสบายๆ หลังต้อนรับเราด้วยชาร้อนๆ ชาที่พวกเขาเก็บมาจากป่าเขาหลังบ้าน


     
     ทางดินลูกรังทอดยาวไปในความเขียวรื่น สองฟากด้านคือพื้นที่การเกษตร ณ ที่ราบ ข้าวนึ่งเริ่มแตกรวงเป็นสีเขียวอ่อน สวนกล้วยสลับกับการจางหายไปของไร่ข้าวโพด ทางดินพารถคันเก่าไปสิ้นสุดใกล้ริมห้วย ควันธูปโชยเป็นลำสวย ใครหลายคนไปถึงที่ตรงนั้นล่วงหน้า
               
     อย่างเคารพนบน้อม หอเจ้าหลวงที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายริมห้วยหลวงดูศักดิ์สิทธิ์เมื่อเราทำพิธีบอกกล่าวเพื่อจะเข้าไปในเขตป่าเขา ทุกอย่างตกทอดมาเนิ่นนานตามการตั้งหมู่บ้านและใช้ชีวิตหากินเคียงข้างผืนป่าที่เป็นรอยต่อระหว่างน่านกับพะเยาผืนนี้
           
     ค่อยๆ เดินตามกันไปตามสันดอย สะพานไม้ข้ามลำห้วยหลวง ห้วยสาขาของลำน้ำน่าน ผ่านนาข้าวโบราณที่พวกเขาเรียกกันว่า “ป๋างไท” ตรงหน้าคือผืนนาข้าวเล็กๆ ในหุบดอยที่กำลังแตกกอสมบูรณ์ หากมากไปกว่านั้น มันคือพื้นที่โบราณที่ตกทอดมาทั้งเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ชุมชน
                
     “แต่เดิมบรรพบุรุษของเราเป็นไทยลื้อ นานวันเข้าภาษาพูดไม่เหลือ กลายเป็นคนพื้นเมือง แต่พิธีกรรม ความเชื่อต่างๆ ยังอยู่ชัด” พ่อหลวงทบย้อนเรื่องราวของตนไปในอดีต
                
     
     จากหลักฐานที่ตกทอดเป็นบันทึกพื้นบ้านของพ่ออุ๊ยหนานอโนชัย วงศ์ราช แห่งเมืองบ้านตาแวน ที่จากไปในปี พ.ศ.2400 เนื้อในนั้นกล่าวถึงรุ่นปู่ย่าตาทวดของคนศรีนาป่านและตาแวนว่า อพยพโยกย้ายมาจากแถบสิบสองปันนา จากเหตุผลทางศึกสงคราม การกวาดต้อนเชลย คมดาบคมหอกผลักดันให้เลือกป๋างไทในแดนดอยเมืองน่านเป็นถิ่นที่อยู่ ทักษะในการผลิตอาวุธของบรรพบุรุษทำให้ที่นี่เป็นแหล่งผลิตหอกและดาบส่งมอบให้เจ้าทองทิพย์ของเมืองน่านเพื่อใช้ในการศึกต่างๆ

     ไหล่ดอยเขียวชื่นไปด้วยป่าใช้สอย ชาอัสสัมที่ตกทอดมาตามวัฒนธรรมการซื้อ-ขาย และปลูกชาที่หลั่งไหลไปทั่วอุษาคเนย์จากครั้งอดีตกลายเป็นป่าเมี่ยงเก่าแก่นับร้อยปี
               
     สวนเมี่ยงหรือชา ไล่เรียงตัวเองอยู่ในใต้ร่มป่าธรรมชาติ พวกเขาเดินหายเข้าไปหลังพุ่ม ปลายนิ้วสวมอะลูมิเนียมคล้ายแหวนที่มีส่วนของใบคม ปลิดลิดยอดและใบชาอ่อนลงในก๋วยอย่างคล่องแคล่ว
               
     “เมี่ยงนั่นละ เลี้ยงคนที่นี่มา” พ่อหลวงว่าป่าแถบตีนดอยหลวงราว 5,000 กว่าไร่นั้น เต็มไปด้วยป่าเมี่ยงและไม้ใหญ่ที่ผ่านการอนุรักษ์ดูแลมาเคียงคู่กันโดยไม่ต้องพึ่งพากฎเกณฑ์ใดๆ มาเป็นแรงผลักดัน
               
     “เมี่ยงกับป่ามันแยกกันไม่ได้ ไม่มีทั้งคู่ เราก็ไม่มีอะไรทำกิน” ดูเหมือนการกสิกรรมโบราณจะหล่อหลอมตัวตนของพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกับทิวดอยมาเนิ่นนาน มันถูกหล่อหลอมและปกปักรักษาผ่านประเพณีต่างๆ มาแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่การเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยง ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หรือการสักการะพระเจ้าทองทิพย์ และสืบทอดบริวารของเจ้าหลวงป่าเมี่ยง
                
     “ป่าดอยหลวงเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ เราไม่เข้าไปทำผิดหรือลบหลู่ จะเข้าป่า คนโบราณเขาให้นมัสการพระพุทธรูป ขอพรเจ้าหลวง ไม่พูดสิ่งไม่ควร ไม่ออกนอกเส้นทาง” ความเชื่อที่พ่อหลวงสนั่นบอกแทรกซ่อนกุศโลบายโบราณที่ให้ชาวบ้านเคารพรักษาป่าอันเป็นแหล่งทำกินไว้ในการดำเนินชีวิต
                
     เหยียบย่างตามกันไปในเส้นทางป่า ผ่านไม้ใหญ่ราว 13 คนโอบ แม่เฒ่าเก็บผักกูดตามริมธาร ตัดหน่อไม้เตรียมทำน้ำพริก เด็ดยอดชาอ่อนลงก๋วย
               
     บ่ายวันนั้นหลังออกจากป่าดอยหลวง เราอิ่มหนำจากยำยอดชา กินแนมกับแกงหน่อไม้ ใบชาทอดกรอบ เป็นมื้อเรียบง่ายที่ผู้คนตัวเล็กๆ เพียรพยายามจะบอกว่า ชีวิตของพวกเขานั้นเป็นเช่นไร
                
     
     เป็นชีวิตที่พันผูกกับพืชพรรณ ขุนเขา และการเปลี่ยนผ่านของแต่ละฤดูกาลอย่างอ่อนน้อมประนีประนอม
                
     ยามบ่ายที่ศรีนาป่านเต็มไปด้วยการงานที่ซุกซ่อนอยู่ในแต่ละบ้าน
               
     ฝนพรำสลับแดดจัด ไม่มีใครยี่หระเอากับอากาศในเขตเงาฝน พวกเขารู้ว่านาทีนี้ควรจะทำอะไร
               
     ตามหลังบ้านคือเตาที่ก่อด้วยอิฐและดินมาแต่โบราณ ใบเมี่ยงสดๆ ถูกนำลงมาจากไหล่ดอย มันเต็มไปด้วยภาพร่างของการงานเก่าแก่ที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ



     หมู่บ้านค่อนข้างเงียบ หลังลงจากสวนเมี่ยง ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจมอยู่กับการทำเมี่ยง ดองเมี่ยง มันถือเป็นพืชเก่าแก่ที่เป็นรายได้หลักของคนที่นี่ ทั้งส่งขายในตลาด และมีคนมารับไปต่างถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพะเยาและแพร่

     ใบเมี่ยงที่เก็บมาได้จากในสวนที่ส่วนใหญ่มักปลูกกันตามไหล่เขาถูกนำมา “หลิม” หรือลิดก้านออก จากนั้นก็แยกเป็นมัดๆ เอาไปนึ่งในถังไม้สูงราว 3 ฟุต สัก 3 ชั่วโมง ใบจะสุก นิ่ม ลำเลียงลงกระสอบ ก็เตรียมส่งขายในเมือง

     หมู่บ้านเก่าแก่ดำรงตนมาคล้ายคืนวันการก่อตั้งอย่างไม่แตกต่าง ที่ชาวบ้านมักปล่อยให้บ้านเรือนไม้แสนสวยเหลือเพียงเด็กและคนแก่ การปลูก เก็บ ตลอดจนเรื่องราวการนำพามันลงไปสู่เบื้องล่างนั้นชัดเจนอยู่ในชีวิตและทุกอณูแห่งป่าเขาเช่นในอดีต

     กลางขุนเขาอันยิ่งใหญ่โอบล้อม ผู้คนและหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน สิ่งใดจะเปี่ยมค่าไปกว่าการได้เห็นชีวิตอีกหลายรุ่นแตกยอด เติบโต และหล่อหลอมอยู่ด้วยใบไม้ใบเล็กๆ ที่แผ่กระจายอยู่ตรงหมู่บ้าน ณ เชิงเขา
               
     “คนที่นี่เติบโตมาด้วยเมี่ยง ว่าอย่างนั้นเลยก็ได้” ระหว่างยกชาแดงขึ้นจิบหลังมื้อเทียง พ่อเปล่ง มโนวร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีนาป่าน-ตาแวน บอกเล่าตัวตนผ่านคืนวันของคนแถบเชิงดอยหลวงไว้ง่ายๆ ทว่าชัดเจน
เมี่ยง หรือชา เดินทางผ่านประวัติศาสตร์ชุมชนและบ้านเมืองมาเคียงข้างขุนเขา ขณะที่คืนวันปัจจุบันเดินทางมาคลี่คลุมหมู่บ้านพร้อมรูปแบบชีวิตใหม่ๆ หลายอย่างคล้ายปะทะและเฟ้นหาหนทางอยู่รอดกลางหุบเขา คนบ้านศรีนาป่านกลับพบว่า ใบไม้ใบเล็กๆ ที่หล่อหลอมพวกเขามานั้นแตกยอดออกไปได้อย่างน่าชื่นชม

     “เราถือกันว่า เมี่ยงคือวิถีชีวิต ชาคือเศรษฐกิจ และป่าคือตัวเชื่อมทั้งสองให้อยู่ด้วยกันค่ะ” ขวัญใจ มโนวร ลูกสาวของพ่อเปล่งเทน้ำลงล้างถ้ำชา ก่อนจะหยิบชาเขียวขยุ้มหนึ่งโปรยลงไป หลังน้ำร้อนสกัด กลิ่นละมุนของชาจากป่าศรีนาป่านก็ล่องลอย

     แม้ทุกวันนี้ เมี่ยงดองและใบสดจะค่อยๆ ลดการบริโภคลงตามยุคสมัย ทว่าทางออกของอาชีพโบราณกลับถูกผู้คนตัวเล็กๆ เชิงดอยค่อยๆ หาที่อยู่อันเหมาะสมให้กับมัน พวกเขาลองผิดลองถูกในการพัฒนาชาอัสสัมสู่การปรุงชาแบบสากล พัฒนาทั้งชาแดง ชาเขียว จัดสร้างโรงบ่มโรงคั่ว ผลักพาผลิตภัณฑ์ทีพนา (TEAPhanaa) ของชุมชนเล็กๆ ตีนดอยเชิงป่าผืนใหญ่ออกไปสู่การรับรู้ภายนอก


     
     ประเพณี การเคารพขุนเขา ความคิดความเชื่อในเรื่องการเก็บและดูแลสวนชาโบราณในป่าเขาที่เชื่อมโยงอยู่กับเจ้าหลวงป่าเมี่ยงส่งผลให้คนบ้านศรีนาป่านและบ้านตาแวนเข้าใจภูเขาเป็นอย่างดี พวกเขาเก็บชาเมื่อได้อายุเต็มที่ ถากถางวัชพืช ลงข้าวลงกล้วยไว้เคียงข้าง ขณะเดียวกันก็จัดการกับป่าใช้สอยและป่าอนุรักษ์อันเป็นบ้านของพวกเขาอย่างเคารพนบน้อม

     “ยังมีชาให้เก็บ แปลว่ายังมีป่าให้อาศัยพึ่งพิง” พ่อเปล่งเองก็เช่นเดียวกับลูกสาว ที่ช่วยกันกับชาวบ้าน ทั้งเก็บเมี่ยงและดองแบบเก่า ขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจในการแปรรูปชาสู่การส่งขาย ไล่เลยไปถึงการช่วยกันพัฒนาให้หมู่บ้านเล็กๆ สามารถหารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่ง

     มันเป็นยามบ่ายที่น่าจดจำ เราร่วมดื่มด่ำเครื่องดื่มจากขุนเขาที่เหล่าชาวบ้านค่อยๆ ทำความเข้าใจโลกใบเก่าที่กำลังหมุนเคลื่อนซ้อนทับไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันใหม่

     ขวัญใจรินชาลงจอกไม่รู้กี่รอบ เสียงพูดคุยไถ่ถามจากผู้เฒ่าผู้แก่คละเคล้าไปในบ่ายฉ่ำฝน ขณะพืชพรรณและผืนดินบนดอยหลวงที่หลังหมู่บ้านกำลังอิ่มเอมหยาดฝน

     นาทีเช่นนั้น ราวกับหมู่บ้านที่อยู่ห่างตัวเมืองน่านราวสิบกว่ากิโลเมตรแห่งนี้ช่างอยู่ไกลแสนไกล
                 
     How to Get There
               
     จากอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 แล้วเลี้ยวขวาที่แยกเขาน้อย เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 3036 (บ้านเด่น-ห้วยลี่) จากนั้นใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3038 (นาซาว-บ้านเรือง) ถึงตำบลเรือง บ้านศรีนาป่าน ระยะทางราว 8 กิโลเมตร
 
     Where to Stay

     - โฮมสเตย์บ้านศรีนาป่าน ติดต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีนาป่าน-ตาแวน

     โทรศัพท์ 0-8996-56971, 08-1796- 6674 และ 08-7174-4419

     - น่าน ศรีปันนา ที่พักบรรยากาศดี โมเดิร์น โอบล้อมด้วยทุ่งนาสีเขียว

     โทรศัพท์ 0-5468-1625 และ 09-5681-5656 เฟซบุ๊ก : น่าน ศรีปันนา รีสอร์ท



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี