Q-Life
ออกกำลังกายลดอาการซึมเศร้าได้จริงหรือ?
จากที่ไม่เป็นที่รู้จัก ช่วงหลายปีมานี้มีการพูดถึงโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น อย่างซีรีส์ Project S The Series : SOS Skate ซึมซ่าส์ ที่ออกอากาศทางช่องทีวีดิจิทัล GMM 25 ก็นำเสนอเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผ่าน “บูรณะ” ตัวละครที่เป็นเด็กมัธยมคนหนึ่ง บูรณะเกิดความสงสัยว่า การเล่นสเกตบอร์ดช่วยรักษาโรคซึมเศร้าที่เขากำลังทุกข์ทนได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่มีงานวิจัยในหัวข้อ การออกกำลังกายกับโรคซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ทางฝั่งตะวันตกจำนวนมากวางแนวทางการรักษาด้วยการเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน
การศึกษาวิจัยที่ยืนยันผลทางการรักษานี้ ระบุการออกกำลังกายสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้เพราะร่างกายสามารถเพิ่มระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ เซโรโทนิน เช่นเดียวกันกับที่มีการพูดว่า การออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งก็คือสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ระงับปวดคล้ายกับมอร์ฟิน แต่เอ็นเดอร์ฟินตัวนี้มักอยู่ในกระแสเลือด และมีผลต่อสมองน้อยกว่าและอยู่ไม่นานก็หมดไป จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์บางรายเชื่อว่า มีผลต่อการรักษาโรคซึมเศร้าได้น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ทำให้คนเราอารมณ์ดีขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวยืนยันว่า การออกกำลังกายที่จะมีผลต่อการรักษาโรคได้นั้น จะต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 10 วันขึ้นไป เพื่อให้ร่างกายสามารถเพิ่มระดับเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า สามารถลดระดับอาการโรคซึมเศร้าได้ ผลทางอารมณ์ที่ได้จากการออกกำลังกาย ได้แก่ ลดความเครียด ป้องกันอาการวิตกกังวล และความรู้สึกซึมเศร้า เพิ่มความนับถือในตนเอง ส่วนผลทางกายภาพที่ได้จากการออกกำลังกาย คือ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ลดความดันเลือด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และลดไขมันส่วนเกิน ฯลฯ
การออกกำลังกายและกิจกรรมที่ช่วยเรื่องซึมเศร้า ไม่ควรหักโหมเกินไป และเป็นกิจกรรมที่มีความสนุก เพลิดเพลิน อาจจะเป็นแบบกลุ่มหรือแบบเดี่ยวก็ได้ เช่น ปั่นจักรยาน เต้นรำ ทำสวน ทำความสะอาดบ้าน ว่ายน้ำ แบดมินตัน เดินเร็ว เรียกได้ว่ากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ผู้ป่วยทำแล้วมีความสุข
เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักเผชิญกับปัญหาในชีวิตที่รุมเร้าเป็นเวลาหลายปี เขาพบว่าตัวเองเข้าข่ายโรคซึมเศร้า เด็กหนุ่มคนนี้เริ่มบำบัดตัวเองด้วยการอ่านหนังสือที่สนใจ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมที่ชอบ นั่นคือการเข้าฟิตเนสโดยมีวัตถุประสงค์ 2 อย่างคือ เพื่อออกกำลังกายอย่างจริงจัง และเพื่อหากลุ่มเพื่อนใหม่ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน ภายหลังเด็กหนุ่มอาสาเป็นเทรนเนอร์ให้กับเพื่อนๆ จนได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ นอกจากเข้าฟิตเนสแล้ว เด็กหนุ่มผู้นี้ยังออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ทำให้ได้เข้ากลุ่มใหม่ที่มักชวนกันปั่นจักรยานทางไกล ปัจจุบันนี้ภาวะซึมเศร้าที่เคยเป็นหายปลิดทิ้ง
นอกจากยาที่หมอสั่งจ่าย การออกกำลังกาย และการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่สนใจในสิ่งเดียวกันจนเกิดการยอมรับ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงการมีตัวตนและไม่โดดเดี่ยว เหล่านี้จะเร่งบำบัดให้อาการซึมเศร้าสลายได้เร็วยิ่งขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี