Q-Life
ตะลอนเที่ยวแพมบก-แม่ละนา ชมวิถีข้าวของชาวไทยใหญ่
สะพานไม้ไผ่สับฟากลากเป็นเส้นสายไปทั่วนาข้าวที่กำลังแตกกอ ลำน้ำแพมไหลเร็วรี่กลางแดนดอยในเขตเขาอำเภอปาย หมู่บ้านชาวไทยใหญ่วางตัวเคียงข้างสายน้ำและขุนเขาโบราณ สีเขียวกลางขุนเขาบอกให้รู้ว่าที่ราบแห่งนี้เต็มไปด้วยชีวิตกสิกรรมอันแสนยาวนาน
หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ลึกหายเข้ามาในป่าเขา ตามสายน้ำแพมขึ้นมาถึงไร่นาและบ้านของชาวไทยใหญ่ที่บ้านแพมบก พี่น้องราว 288 คนของที่นั่นปลูกบ้านเรือน หรือ “เฮินไต” ขนาบไปตามไหล่ดอย ปล่อยให้ที่ราบเล็กๆ นั้นเขียวขจีอยู่ด้วยนาข้าวราวผืนพรมห่มฝน
ควันไฟจากก้อนเส้าเหนือลานไม้ไผ่สับฟากไหวเต้น อัจฉรีย์ หมื่นบุญตัน และเหล่าแม่บ้านตระเตรียมวัตถุดิบง่ายๆ เครื่องเทศอย่างหอมแดง กระเทียม มะเขือเทศ ถั่วเน่า ก่ายกอง ใครสักคนกุลีกุจอหุงข้าวไร่จากหุบดอย รวมไปถึงข้าวนึ่งที่พวกเขากินกันในชีวิตประจำวัน มันเป็นข้าวจากฤดูกาลที่แล้ว “ข้าวดี ไม่ดี ฝนฟ้า น้ำท่าจะบอกเรา” ผู้ใหญ่สุวรรณ แสงน้อย ก็อีกคนที่ละการงานในไร่นามาร่วมวงอยู่ตรงหน้า
ผู้คนไทยใหญ่อยู่เคียงข้างบ้านแพมบกมายาวนานนับ 200 ปี จากการเคลื่อนย้ายอพยพจากรัฐฉานในเมียนมา พวกเขากระจายกันปักหลักในหลายหมู่บ้านของแม่ฮ่องสอน มันปรากฏชัดอยู่ในหมู่บ้านและวัดศิลปะไทยใหญ่อันประณีตอ่อนช้อยด้วยเครื่องไม้และสังกะสีฉลุลาย
เราถูกเหนี่ยวนำลงไปในไร่นาที่เต็มไปด้วยพี่น้องไทยใหญ่ หญิงหลายคนสวมกุบทรงสวย มองไกลๆ คล้ายร่มหลายคันวางหยอดอยู่ในผืนนาเขียว ฝ่ายชายล้วนกำยำบึกบึน แดดสายฉายจับภาพตรงหน้าเป็นความงดงาม
ระหว่างรอมื้อเที่ยงแสนพิเศษ อัจฉรีย์นำเราลงไปเดินเหนือ “สะพานไม้โขกู้โส่” น่าแปลกที่พวกเขาเลือกให้เรารู้จักแปลงข้าวนึ่งในนาบนสะพานไม้ มันลากผ่านวนเวียนไปทั่วผืนนากลางหุบเขา มีศาลาพักระหว่างทาง ทอดตัวจากหมู่บ้านข้ามไปจนถึงวัดป่าห้วยคายคีรี ที่มีพระสงฆ์นักปฏิบัติประจำวัดอยู่สี่ห้ารูป
“โข คือขัว คือสะพาน กู้โส่ คือกุศลค่ะ เราสร้างและดูแลกันเอง ด้วยทุนรอนจากการบริจาคบ้าง หรือไม่ก็ด้วยเรี่ยวแรงของเราเอง” สะพานแห่งศรัทธาของชาวบ้านแพมบกเกิดขึ้นด้วยภาพเช่นนั้น มันวางตัวอยู่ในแอ่งเขาลึกเร้นในเขตอำเภอปาย เชื่อมโยงพระพุทธศาสนาเข้ากับหัวจิตหัวใจอย่างงดงาม
หมู่บ้านไทยใหญ่ปรับเปลี่ยนไปตามคืนวัน เฮินไตแบบดั้งเดิมถูกทดแทนด้วยบ้านไม้แข็งแรง และภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามบ้านยังคงงานจักสานอย่างไม้กวาดจากใบปุ๋มเป้ง พืชตระกูลปาล์มที่พวกเขาเลือกนำมันมาใช้อย่างชาญฉลาด “บ้านเราใช้ไผ่สับฟาก หากเป็นดอกหญ้า กวาดแล้วมันจะหลุดลุ่ย ใบปุ๋มเป้งดีกว่า” พ่อหลวงสุวรรณ เล่าสบายๆ อากาศเย็นชื่นห่มคลุม
บ่ายนั้นเราได้รู้ว่า อาหารของคนแพมบกนั้นอร่อยล้ำเพียงใด “คนไทยใหญ่ไม่นิยมกินสัตว์ใหญ่ เราเน้นหมู ไก่ รสไม่จัด ขาดไม่ได้เลยคือถั่วเน่า”
ข้าวส้มค่อยๆ ถูกคลุกเคล้า พวกเขาสลายวัตถุดิบหลักอย่างมะเขือเทศลูกเล็กพันธุ์พื้นเมือง ยีมันจนแหลกคล้ายซอสสีส้ม คลุกกับข้าวเจ้าที่ปลูกกันในไร่ เกลือ ได้ข้าวสีส้มหน้าตาน่ากิน “ของกินไทยใหญ่โดยทั่วไปเน้นสิ่งที่เราปลูกเราหาได้ตามนาตามไร่” อัจฉรีย์ว่า กระเทียมที่คนบ้านแพมบกปลูก ถั่วเหลือง ผักชี หอมแดง มันกลายเป็นน้ำพริกต่างไทยใหญ่แบบต่างๆ ที่หอมกระเทียมเจียว เผ็ดพอดีๆ “ขาดไม่ได้คืองาและถั่วเน่า” ใส่กันในทุกอย่าง
สักพัก “เน้อหมูจ๊อ” หน้าตาคล้ายฮังเลหมูกำลังสุกได้ที่ อาหารค่อนข้างมันสะท้อนการกินที่ต้องการการทนสู้ในฤดูหนาว “น้ำพริกอุ๊บไข่” และ “น้ำพริกคั่วทราย” ที่หอมกระเทียมเจียวเป็นตัวนำก็ทำเอามื้อมิตรภาพนั้นอิ่มหนำจุกแน่น “เรียกน้ำพริกครอบ (กรอบ) ก็ได้ มันกรอบหอมกระเทียมเจียว” พ่อหลวงสุวรรณเสริมขึ้นข้างๆ วงข้าว
สายนี้มีงานใหญ่ประจำหมู่บ้าน พี่น้องแวดล้อมมารวมตัวกันเพื่อรอรับผ้าห่มจากทางราชการ
อากาศหนาวเหน็บปกคลุมที่ราบกลางหุบเขาที่มีสายน้ำไหลลัดผ่านส่งผลให้ชีวิตเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ทางการเกษตร จากชื่อ “แม่ลัดนา” ที่หมายถึงแม่น้ำไหลผ่านจากขุนเขาลงสู่ที่นากลางหมู่บ้านสู่การเรียกเพี้ยนเป็นแม่ละนา หมู่บ้านไทยใหญ่แห่งหนึ่งของปางมะผ้าได้ปักหลักหยัดยืนในความเพียบพร้อมทั้งทรัพยากรน้ำ สัตว์ป่าอันเป็นแหล่งอาหารครั้งอดีต
ในแปลงนาหากเดินเลาะไปในหมอกจางๆ คือตะแหลวไม้ไผ่ แม่อุ๊ยไทยใหญ่บอกว่ามันคือ “ใจนา” ตะแหลวอันใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง มีตะแหลวเล็กทั้งสี่ด้าน บ่งบอกถึงผังในการปักดำข้าว มากไปกว่านั้นพวกเขาต้องดูวันดีคืนดีในการเริ่มทำนากลางขุนเขา บอกกล่าวผีไร่ผีนา ป้องกันไม่ให้ผีกะหลุกมาขโมยข้าวกิน
ถ้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของเมืองไทยถึง 12.6 กิโลเมตร อย่างถ้ำแม่ละนาอยู่ลิบลับถัดไปหลายขุนเขา ขณะเดียวกัน นาทีที่อยู่ในวงล้อมของผืนนาฉ่ำฝนและทิวเทือกหินปูน ชีวิตสุขสงบของคนบ้านแม่ละนาก็บ่งบอกเราว่า ข้าวและวัฒนธรรมที่ยังคงติดอยู่ในชีวิตของพวกเขานั้นล้วนน่าทำความรู้จักเพียงใด ไม่ไกลกันที่บนสันเขา ใครบางคนอาจยืนมองทะเลหมอกที่ห่มคลุมบ้านแม่ละนาอยู่ ณ บ้านจ่าโบ่ หมู่บ้านชาวมูเซอดำที่ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้าง
How to Get There
จากอำเภอแม่มาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 ผ่านอำเภอปาย เที่ยวแวะบ้านไทยใหญ่ที่บ้านแพมบก ต่อเนื่องไปถึงอำเภอปางมะผ้า จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1226 ไปเที่ยวบ้านแม่ละนา
Where to Stay-Eat
ทุกหมู่บ้านให้บริการที่พักโฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีชีวิต พร้อมอาหารพื้นถิ่นให้ลิ้มลอง
บ้านแพมบก ติดต่อคุณบุญอนันต์ (เจเจ) โทร. 06-31239022 Facebok : การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแพมบก
บ้านแม่ละนา ติดต่อคุณเทียนทอง พงษ์จักร์ โทร. 08-4481-6670 Facebook : การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแพมบก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี