ในการดำเนินธุรกิจเมื่อผู้ประกอบการได้ดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว เริ่มมองถึงการเติบโตในอนาคตก็คงจะต้องเริ่มพิจารณาว่าควรจะจดทะเบียนบริษัทหรือยัง ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทมีประโยชน์อย่างไร และจะเหมาะสมกับธุรกิจที่มีลักษณะแบบไหน ยุ่งยากหรือไม่ finbiz by ttb ได้รวบรวมข้อมูลมานำเสนอเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง
จดทะเบียนบริษัทดีอย่างไร?
การจดทะเบียนเป็นบริษัทจะสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1. ความน่าเชื่อถือ การจดทะเบียนบริษัทจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรได้ โดยมีสถานะเป็น “นิติบุคคล”
2. คุ้มครองความรับผิดชอบของเจ้าของธุรกิจ เพราะความรับผิดชอบจะเป็นของบริษัท เช่น ในกรณีที่เป็นหนี้สินของกิจการ เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้นได้
3. ความได้เปรียบด้านภาษี
- มีโอกาสเสียภาษีต่ำกว่า เพราะสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริง
- ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีที่ขาดทุน
- ได้รับการยกเว้นภาษีในกำไร 3 แสนบาทแรก
- อัตราภาษี 15% ในกรณีที่กำไรไม่เกิน 3 ล้านบาท
4. ความได้เปรียบด้านการสนับสนุน มีโอกาสที่ในการพิจารณาสินเชื่อได้ดีกว่า เพราะในภาพรวมนิติบุคคลจะได้เปรียบกว่าบุคคลธรรมดา และได้รับการสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐฯ
ธุรกิจควรเป็นบริษัทเมื่อไหร่?
แม้ว่าการจดทะเบียนบริษัทจะได้เปรียบในมิติต่าง ๆ ก็ตาม แต่ก็ควรจะจดทะเบียนบริษัทเมื่อมีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนในการก่อตั้งบริษัท ดังต่อไปนี้
1. มีรายได้มากกว่า 750,000 บาทต่อปี
2. เริ่มมีผู้ร่วมลงทุนหลายคน
3. ต้องการสร้างเครดิตทางบัญชี สร้างความน่าเชื่อถือ
4. คาดการณ์แล้วว่าอนาคตจะเติบโตอย่างแน่นอน
5. พร้อมในการจัดทำเอกสาร หรือ มีตัวช่วยในการทำเอกสารที่เชื่อถือได้
6. พร้อมสำหรับภาระภาษีที่ต้องนำส่งหน่วยงานรัฐทุกเดือน หรือมีตัวช่วยที่เชี่ยวชาญ
หากพิจารณาแล้วว่า องค์กรมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนบริษัทได้ ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การจดทะเบียนบริษัทเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
จดทะเบียนบริษัทยุ่งยากจริงหรือไม่?
ประเด็นที่มักถูกเข้าใจผิด เกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1. จดบริษัทแล้วมีโอกาสหลบภาษียากขึ้น เริ่มต้นจากแนวคิดว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะมีโอกาสถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรน้อยกว่า และสามารถใช้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบเหมาได้ด้วย ข้อเท็จจริงคือ การตรวจสอบของกรมสรรพากรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่รูปแบบของธุรกิจว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท (นิติบุคคล) แต่ขึ้นอยู่กับประเด็นความผิดหรือความสงสัยที่ถูกตรวจพบมากกว่า และหากพิจารณาในรายละเอียดของข้อกฎหมายต่างๆ และแนวทางการตรวจสอบของกรมสรรพากรแล้ว พอสังเกตได้ว่า การทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดานั้นอาจมีโอกาสถูกตรวจสอบมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากกรมสรรพากรเองก็ทราบดีว่าบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจนั้น มีโอกาสหลบเลี่ยงและหนีภาษีได้ง่ายกว่า ประกอบกับเงื่อนไขและความซับซ้อนของการทำบัญชีที่บริษัท (นิติบุคคล) นั้นต้องมีการทำบัญชีและนำส่งงบการเงินรวมถึงส่งข้อมูลต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่บุคคลธรรมดานั้นถูกกำหนดให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามแนวทางของกรมสรรพากรเท่านั้น
2. จดบริษัทแล้วต้องจัดการเอกสารต่างๆ วุ่นวายมากมาย ข้อเท็จจริง คือ เอกสารต่าง ๆ จะมากกว่าเป็นบุคคลธรรมดาจริง แต่เอกสารเหล่านั้นนำประโยชน์ด้านอื่น ๆ มาให้ การเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องมีเอกสารมากมาย การหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบเหมา ถ้าจดบริษัทแล้วเอกสารต่าง ๆ ก็จะย่อมจะมากขึ้น แต่ในมุมของ “สินเชื่อ” และ “การเงิน” เนื่องจากความยุ่งยากวุ่นวายของการเตรียมเอกสารที่ว่านั้นทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ง่ายกว่า และมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา
นอกจากโอกาสทางด้านสินเชื่อแล้ว ถ้าหากมองไปถึงโอกาส “การเงิน” ในการลงทุนต่อยอด เช่น การขยายธุรกิจ การเติบโต ความโปร่งใสต่างๆ รวมถึงความสนใจของนักลงทุน เมื่อธุรกิจมีข้อมูลที่ละเอียดและตรวจสอบได้ ก็เป็นการสร้างโอกาสเติบโตได้อีกช่องทางหนึ่ง และการจดทะเบียนบริษัทยังทำให้ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ที่มี มาช่วยวางแผนในการตัดสินใจทางด้านการเงินต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน และถ้าหากมองไปยังประเด็นทางด้าน “ภาษีเงินได้“ การเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีน้อยกว่าการเป็นบุคคลธรรมดา เพราะอัตราภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนั้นมีอัตราที่ต่ำกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็ต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง ดังนั้น หากธุรกิจมีข้อมูลที่ถูกต้อง ย่อมจะส่งผลดีต่อการเงินและการวางแผนภาษีของธุรกิจอีกต่อหนึ่ง
3. จดทะเบียนบริษัทแล้วต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ข้อเท็จจริง คือ ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือว่าบริษัท (นิติบุคคล) ก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน เมื่อมีรายได้ที่กฎหมายกำหนด คือ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องของการตั้งราคาขายที่รวม หรือไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นอาจถูกกรมสรรพากรเรียกทั้งเบี้ยปรับ ค่าปรับ เงินเพิ่มต่าง ๆ ที่ธุรกิจต้องจ่ายย้อนหลัง
ดังนั้น หาก SME อยากเติบโตได้อย่างมั่นใจ มีโอกาสทางด้านสินเชื่อ เงินลงทุน ประหยัดภาษี และมีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจ การตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทน่าจะตอบโจทย์มากกว่าการเป็นบุคคลธรรมดา และหากมองว่าธุรกิจของเรามีโอกาสเติบโตแน่ และมีโอกาสไปได้ไกลกว่านี้ ก็อย่าให้เรื่องภาษีหรือว่าความกลัวมาเป็นข้อจำกัดของธุรกิจอีกต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup