Finanace

คำนวณต้นทุนอย่างไร เมื่อคิดอยากปรับกลยุทธ์หรือขยายตลาด  

 

     การคำนวณต้นทุน เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายๆ ราย มักมองข้าม หรือมักคำนวณผิดพลาด หากเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป การคิดต้นทุนก็จะไม่ยากและไม่ซับซ้อนเท่ากับธุรกิจที่มีการผลิตต่อรอบ ต้องนำมาคิดเป็นเดือน กว่าจะคำนวณเป็นต้นทุนต่อชิ้นได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงนิยม “ประมาณ” เอา โดยหารู้ไม่ว่า บางครั้งราคาสินค้าที่ตั้งนั้น ได้กำไรไม่เท่าที่คิดไว้ บางครั้งไปตั้งราคาโปรโมชั่น ก็อาจขาดทุนได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักลืมคิด “ค่าแรงของตัวเอง” เอาเป็นว่าลองมาดูวิธีการคำนวณต้นทุนการผลิตที่ซับซ้อนแต่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากกันดีกว่า

     สมมติเราทำการผลิตลูกชิ้นปลา ในแต่ละวันใช้เนื้อปลาสด 200 กิโลกรัม และวัตถุดิบอื่นๆ เช่น แป้ง เกลือ ผงชูรส ตามสัดส่วน จึงจะได้ลูกชิ้นปลา 300 กิโลกรัม โดยเราสามารถแยกต้นทุนออกเป็น 3 ส่วนได้ ดังนี้

 

 

     1. วัตถุดิบ ได้แก่ เนื้อปลา แป้ง ถุงพลาสติกไนลอน ฉลากสติ๊กเกอร์

          - วัตถุดิบหลักคือ เนื้อปลากับแป้ง โดยเนื้อปลาสด 200 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 80 บาท (200 x 80 = 16,000 บาท) และวัตถุดิบอื่นที่เป็นส่วนผสม คือ แป้ง เกลือ ผงชูรส มีต้นทุนในการผลิตต่อวันอยู่ที่ 600 บาท ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดสามารถผลิตเป็นลูกชิ้นปลาได้ 300 กิโลกรัม

         - ถุงพลาสติกไนลอนขนาด 500 กรัม ราคาใบละ 2 บาท แปลว่า ลูกชิ้นปลา 300 กิโลกรัม สามารถนำมาบรรจุใส่ถุงได้ 600 ใบ

         - ฉลากสติ๊กเกอร์ ดวงละ 3 บาท

     2. ค่าแรง แบ่งเป็นค่าแรงพนักงาน และค่าแรงตัวเอง

         - ใช้พนักงานรวมตัวเอง เป็นจำนวน 3 คน x 300 บาท = 900 บาท

         - พนักงานบรรจุเนื้อปลาใส่ถุง (ในกรณีที่บรรจุด้วยมือ) ราคาถุงละ 2 บาท เป็นเงิน 600 ถุง x 2 บาท = 1,200 บาท

     3. ค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่ต่างๆ

         - ค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 3,000 บาท ผลิต 1 วัน = 100 บาท

         - ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร สมมติว่าเราซื้อเครื่องผลิตลูกชิ้น กับเครื่องซีลสุญญากาศมา รวมเป็นเงิน 200,000 บาท โดยอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 5 ปี ต้องคำนวณออกมาเป็นเดือน (อยู่ที่เดือนละประมาณ 3,333 บาท) แล้วบวกเป็นต้นทุนเพิ่มเข้าไปด้วย

     จากนั้นนำตัวเลขที่ได้ มาคำนวณต้นทุนต่อกระปุกได้ ดังนี้

     เราจะได้ค่าต้นทุนการผลิตลูกชิ้นปลาในถุง 500 กรัม เท่ากับ 36.44 บาท หากเราตั้งราคาขายเอาไว้ที่ 40 บาท ก็เท่ากับว่าแทบไม่ได้กำไรอะไรเลย หากต้องจัดส่งสินค้าไปวางจำหน่ายที่อื่นไกลๆ โดยจ่ายค่าน้ำมันด้วยตัวเอง จะคุ้มค่าหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคำนวณเอาไว้อย่างชัดเจน ตั้งราคาลูกชิ้นปลาเอาไว้ที่ 60-70 บาท หรือราคาที่ใกล้เคียงกับตลาด เวลาต้องตัดสินใจด้านโปรโมชั่น เพิ่มช่องทางการจำหน่าย หรือขยับขยายตลาด ก็จะทำได้สะดวกขึ้น เพราะมีช่องว่างของต้นทุนกับกำไรที่ห่างกัน จึงไม่ต้องวิตกกังวลอะไรมาก

 

 

     สิ่งที่ยังขาดไปในการคำนวณต้นทุนอย่างง่ายๆ ก็คือ ค่าการตลาด หากเป็นแบรนด์ใหญ่ต้องใส่เข้าไปด้วย เช่น ในหนึ่งปี คิดว่าจะทำการตลาดผ่านเฟซบุ๊ก เป็นเงิน 36,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะอยู่ที่ 3,000 บาท หรืออยู่ที่วันละ 100 บาท เป็นต้น   

     สิ่งสำคัญในเรื่องของการคำนวณต้นทุนก็คือ ต้องพยายามจำไว้เสมอว่าเราไม่มีทางคำนวณต้นทุนออกมาได้ตรงกับความเป็นจริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่ได้คำนวณออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง และพยายาม “ประมาณ” จากความรู้สึก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup