Finanace

ประพันธ์ เจริญประวัติ LiVE Exchange กระดานที่ 3 สำหรับ SMEs และ Startups

 

     ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 34.7% ของ GDP รวมของประเทศ นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต แต่ด้วยสถานการณ์ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19  ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีซึ่งนำไปสู่ Disruption ในการทำธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) และ Startups แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯดูจะเป็นเรื่องใหญ่และไกลตัว เพราะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางขึ้นไปทั้งสิ้น แต่เมื่อวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ To Make the Capital Market "Work" for Everyone ต้องการพัฒนาตลาดทุนให้มีประโยชน์กับทุกๆ คนในประเทศ ดังนั้น ตลาดกระดานที่ 3 LiVE Exchange ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะเป็นแหล่งในการเข้าถึงตลาดทุนของบริษัทเล็กอย่าง  SMEs และ Startups สามารถเข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ควบคู่ไปกับ LiVE Platform  แหล่งเรียนรู้และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการก้าวสู่การระดมทุนใน LiVE Exchange

 

 

     ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เล่าถึง LiVE Exchange ว่าเป็นวิธีคิดใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากดูตัวเลขบริษัทจดทะเบียนใน SET จะพบว่ามีประมาณ 500 กว่าบริษัท ขณะที่บริษัทจดทะเบียน mai มี 183 บริษัท แต่ผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยมีถึง 3 ล้านราย ดังนั้น จึงยังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ LiVE Exchange จึงออกแบบมาเพื่อให้คนตัวเล็กๆ ได้มีโอกาสระดมทุน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ  ด้วยการผ่อนกฎเกณฑ์หลายประการ

     ทั้งนี้  ประพันธ์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพกฎเกณฑ์ทั้ง 3 กระดาน ได้แก่ SET,  mai และ LiVE Exchange ว่าในแง่สถานะแน่นอนว่าต้องเป็นบริษัทมหาชน แต่หากดูที่ทุนจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ SET จะต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไป mai  50 ล้านบาทขึ้นไป แต่สำหรับ LiVE Exchange แล้วไม่กำหนดในเรื่องนี้

     ขณะเดียวกันในด้านรายได้ ด้วยความที่ต้องการบริษัทที่มีโอกาสเติบโต จึงกำหนดว่าต้องเป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางตามนิยามของ สสว.(สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) คือภาคบริการมีรายได้ 50 ล้านบาทขึ้นไป และภาคการผลิตมีรายได้ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นกลุ่ม Startups ที่กำลังเติบโต ก็ต้องอยู่ในช่วง Post-Series A ซึ่งมี Venture Capital หรือ Private Equity มาร่วมลงทุนแล้ว  

     นอกจากนี้ เพราะอยากให้ SMEs และ Startups ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนให้มากที่สุด ในการทำงบ PAEs หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับ LiVE Exchange จะให้ทำงบ PAEs แค่ปีเดียวก็สามารถยื่นเข้าระดมทุนได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เพราะปกติแล้วถ้าจะเข้าตลาด mai ต้องทำ PAEs 3 ปี ก่อนจะยื่นเข้าตลาด ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อยถึง 4 ปี

 

 

     อย่างไรก็ตาม การผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ในฝั่งของนักลงทุนนั้น ต้องเลือกเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่สามารถดูแลตัวเองได้  มีความรู้ความสามารถในการลงทุน โดยจะแบ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ และกลุ่มคนคุ้นเคยกับบริษัท นั่นคือกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท เป็นต้น

     “LiVE Exchange มีกระดานเหมือน mai แต่ต่างกันคือผู้ลงทุนในตลาดนี้จำกัดประเภทผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการลงทุน โดยพิจารณาจากฐานะการเงิน ความรู้ และประสบการณ์ในการลงทุน รวมทั้งมีความเข้าใจในความเสี่ยงในหลักทรัพย์ที่จะลงทุน ทำให้ตลาดนี้มีผู้ลงทุนน้อยราย จึงให้ซื้อขายทุกวันได้วันละ 1 รอบแบบ Auction และตลาดนี้ต้องซื้อขายเงินสด ฉะนั้นคนซื้อต้องมีเงินอยู่ในบัญชี และคนที่จะขายหุ้นก็ต้องมีหุ้นอยู่ในบัญชีด้วย เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเก็งกำไร”

      “กระบวนการระดมทุนใน LiVE Exchange  เริ่มตั้งแต่ส่ง Filling เข้ามา ถัดจากนั้นเราจะเปิดโอกาสให้มีการ Public Opinion โดยจะให้นักลงทุนส่งคำถามหรือส่งข้อมูลเข้ามาในบอร์ดเว็บไซต์ เพื่อที่จะให้ข้อมูลกับนักลงทุนรายอื่นๆ ด้วย โดยบริษัทก็มีหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามเหล่านั้นให้ครบถ้วน ในสเตปนี้จะใช้ระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นจะเป็นสเตป Cooling Off ก็คือให้นักลงทุนได้ย่อยข้อมูลเหล่านั้นอีก 14 วัน แล้วจึงเสนอขายหุ้น ผ่าน ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ (Underwriter) ให้กับนักลงทุน  และการแต่งตั้งนายทะเบียน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ”

 

 

     ประพันธ์ กล่าวต่อไปว่ามากไปกว่านั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพัฒนา LiVE Platform แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้บน www.live-platforms.com สำหรับเข้าไปเรียนรู้การทำธุรกิจ เข้าไปเพื่อสร้างทักษะต่างๆ และมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งในขณะนี้เครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนกว่า 28 ราย จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธนาคาร และ สถาบันต่างๆ ที่พร้อมบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และใช้บริการได้ฟรี โดย LiVE Platform ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ Education Platform และ Scaling up Platform เพื่อให้สามารถเติบโตไปสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ สู่การเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

     “Education Platform ห้องเรียนผู้ประกอบการที่รวมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นผ่านการเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งห้องเรียนออนไลน์ (e-Learning) บทความ อินโฟกราฟฟิก e-learning คลิปเรียนรู้ต่างๆ กว่า 500 ชิ้นงานครอบคลุมความรู้และทักษะด้านการทำธุรกิจ อาทิ การจัดการธุรกิจและนวัตกรรม การจัดการการเงินและการระดมทุน การจัดการด้านบัญชี   ส่วน Scaling up Platform จะสนับสนุนการเติบโตธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 1.Advanced Education หลักสูตรอบรมเชิงลึกในรูปแบบของ e-Learning 2.Enterprise System ระบบงานสำคัญๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ระบบบัญชี ERP, Back Office ,การตรวจสอบภายในหรือ Internal Control  3. Business matching เปิดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างบริษัทใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก 4.Business Coaching คลินิกที่ปรึกษาทางธุรกิจ บริการเอกสารสัญญา บริการคำแนะนำทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้จะประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมีปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดทุน ซึ่ง LiVE Platform จะช่วยได้”

     จากการเคลื่อนไหวของ Live Exchange ซึ่งจะเปิดบริการในเดือนเมษายนนี้ ประกอบกับ LiVE Platform ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เชื่อว่าจะทำให้ SMEs และ Startups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านเครื่องมือในตลาดทุนได้ เสร้างการเติบโต เพื่อจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย

     ผู้ที่สนใจอยากศึกษา ติดตามข่าวสารของ LiVE Exchange และ LiVE Platform สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.live-platforms.com และเฟซบุ๊ก facebook.com/LiVE.Platform.SET

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup