Finanace

วางแผนดี ก็มีทางไปต่อ! เปิดตำราจัดการหนี้เมื่อธุรกิจสะดุด ให้ทุกอย่างราบรื่น

   เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังพ่นพิษต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้หลายธุรกิจต้องสะดุดมีปัญหา ยอดขายลดลง เก็บเงินจากลูกหนี้ไม่ได้ ส่งผลให้กระแสเงินสดของธุรกิจชะลอตัว แต่ขณะเดียวกันค่าใช้จ่าย และภาระหนี้ กลับกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้ธุรกิจยังคงรอดเดินต่อไปได้การบริหารจัดการหนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และนี่คือแนวทางบริหารจัดการภาระหนี้ที่จะมาแนะนำให้ได้รู้กัน




 
 
1.ประเมินรายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน รวมถึงหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมด 


     การประเมินการใช้จ่ายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ค่าวัสดุ ค่าแรงลูกจ้าง เพื่อคำนวณหาต้นทุนทางธุรกิจทั้งหมด ที่จะช่วยให้รู้ว่าในอนาคตจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และลดต้นทุนที่สามารถลดได้ 


     ประเมินรายได้คงเหลือ แน่นอนว่ายอดขายสินค้าที่ลดลง อาจทำให้ต้องหาทางเร่งรัดหาวิธีเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุดจากลูกค้าใหม่ รวมถึงหาทางเสริมสภาพคล่องด้วยการบริหารสินค้าค้าง และระบายสินค้าในสต็อกออกไป โดยอาจจะใช้โปรโมชั่น เพื่อได้เงินสดมาถือไว้ในมือ 


     ประเมินทรัพย์สิน เป็นทางออกสำหรับปัญหาขาดสภาพคล่อง เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจของเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เช่น รถยนต์ บ้าน ที่ดิน เป็นต้น แล้วดูว่าทรัพย์สินอะไรที่จะสามารถเอาไปแปลงเป็นเงินสดได้บ้าง จะได้รู้ว่าจะมีเงินชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน สินทรัพย์อะไรที่จะสามารถใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ ที่จะได้นำมาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่วิกฤตนี้ไปได้ หรือเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ทางไหนได้อีกบ้าง 


     ประเมินยอดหนี้ทั้งหมด มีหนี้สินอะไรบ้างแล้วหนี้นั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมของภาระหนี้จริงๆ และเห็นเป้าหมายการลดภาระหนี้ได้ว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าไร นอกจากนี้ยังให้เรารู้ลำดับความสำคัญว่าควรจัดการหนี้ส่วนไหนก่อนหลัง


     การประเมินทั้งหมดนี้ นอกจากจะได้เห็นภาพรวมของรายรับ รายจ่าย ยอดหนี้แล้ว ยังสามารถนำมาวางแผนในการชำระหนี้ได้ถูกต้องอีกด้วย


 

2. เจรจากับเจ้าหนี้การค้าเพื่อชะลอการชำระเงิน  


     เมื่อกระแสเงินสดได้รับผลกระทบ การชะลอการชำระเงินก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการชะลอการชำระเงินนี้เราอาจจะเจรจาต่อรองเพื่อขอขยายกำหนดเวลาการชำระเงินกับซัพพลายเออร์ออกไป ซึ่งถ้าที่ผ่านมาเรามีประวัติการจ่ายตรงเวลา บรรดาซัพพลายเออร์ก็อาจจะเลื่อนเวลาการจ่ายเงินให้เพิ่ม เพื่อยืดเวลาในการผ่อนชำระให้นานขึ้น จะได้ให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ
 
 
3.ปรึกษาธนาคาร ถ้าวันนี้ยังหาทางออกให้กับธุรกิจไม่ได้

     การเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันกับธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนหนักให้เป็นเบาก็ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ ดังนั้นเมื่อคิดว่าเริ่มจะไม่ไหวแล้วให้รีบติดต่อเจรจากับธนาคารทันที ไม่ควรปล่อยให้ธุรกิจมีปัญหานานจนยากจะแก้ไข จนนำไปสู่การเป็นหนี้เสียที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ในอนาคต แต่หากเป็นหนี้เสียแล้ว ก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมได้ ทั้งนี้ ก่อนเข้าไปเจรจาให้เตรียมคิดแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่เหมาะกับเราเอาไว้ และควรเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ไว้ดังนี้
 
-ยืดระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อช่วยให้ภาระการผ่อนสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง   

-พักชำระเงินต้น ช่วยลดภาระการผ่อนชั่วคราว แต่การผ่อนแบบนี้เงินต้นจะไม่ลดลงในช่วงพักชำระเงินต้น จึงส่งผลให้ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในช่วงท้าย หรือทำให้ต้องเป็นหนี้และมีภาระดอกเบี้ยยาวนานขึ้น

-ลดอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ทำให้ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากขึ้น และเมื่อเงินต้นลด ภาระดอกเบี้ยก็จะลดลง  

-ขอยกเว้นหรือขอผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทั้งนี้ไม่ควรปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระต่อเนื่อง 

-เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องและสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน  

-เปลี่ยนประเภทหนี้ จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า  

-ปิดหนี้ด้วยการเพิ่มเงินหรือเพิ่มความถี่ชำระหนี้ ลูกหนี้ที่ยังพอมีกำลังจ่ายไหวถ้ามีเงินก้อนสามารถนำไปชำระหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อลดภาระดอกเบี้ย 

-รีไฟแนนซ์ ปิดสินเชื่อจากที่เดิม ย้ายไปใช้สินเชื่อที่ใหม่เพื่อใช้สินเชื่อมีเงื่อนไขที่ดีกว่า  



 
 
4.ใช้ประโยชน์จากมาตรการความช่วยเหลือ 


     อย่าลืมมองหาความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานี้ มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนช่วยเหลือภาคธุรกิจอยู่หลายมาตรการ ลองสำรวจดูว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่เหมาะกับธุรกิจและปัญหาของเรา เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการจากประกันสังคม มาตรการทางการเงิน เป็นต้น
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup