Finanace

ให้มากกว่าทุน ECG Research คู่หูพันธ์ใหม่ของ Startup ที่พร้อมดันธุรกิจไทยโตในต่างประเทศ




     “เวลาเราไปเชียงใหม่เราผ่านจังหวัดหนึ่งมาตลอด 9 ปี วันนี้มีเส้นบายพาสบอกว่าไม่จำเป็นต้องผ่านจังหวัดเดิม ฉะนั้น กอง Private Equity ของ ECG Research จากที่เคยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว จึงขยับมาลงทุนกับ Startup” พัทธ์ชลิต กลิ่นหอม CEO อีซีจี-รีเซิร์ช กล่าวออกตัวเมื่อถามถึงเหตุผลที่เขาสนใจร่วมลงทุนกับ Startup ไทย ซึ่งหลังจากที่อีซีจี-รีเซิร์ช เริ่มเบนเข็มเข้ามาลงทุนกับ Startup เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามี Startup ตบเท้าเข้ามาเจรจาหาเงินทุนอย่างมากมาย โดยอีซีจี-รีเซิร์ช ตัดสินใจร่วมลงทุนกับ Startup ไทยรวม 10 ราย ตัวอย่าง เช่น Freshket, MyCloudFulfillment, Hungry Hub, Juzmatch และ N-SQUARED eCommerce เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 600 ล้านบาท และไม่เพียงเท่านั้น อีซีจี-รีเซิร์ชยังมองหา Startup ทั่วโลกเพื่อลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมกันอีกด้วย  
 




     เปิดกว้างลงทุนใน
Startup


     “เนื่องจากอีซีจี-รีเซิร์ช มีพันธกิจคือ Private Equity for Public Equality โจทย์ของกอง Private Equity คือทำอย่างไรที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ฉะนั้นเป้าหมายในการลงทุนของเราจึงไม่ใช่ผลตอบแทนมากที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นความยั่งยืนในระยะยาว ในขณะที่หลายคนบอกว่าเกิดวิกฤตให้เก็บเงินสดไว้ เราบอกว่ามันเป็นจังหวะที่ต้องลงทุนเพราะของไม่แพง ซึ่งด้วยความที่เราคิดแตกต่างจากตลาดจึงมีโอกาสที่เราจะชนะตลาดได้ ในขณะเดียวกันความคิดของคนในสังคมคือ จะไปว้าวกับสิ่งที่ไม่เข้าใจ เช่น ไปว้าวกับ Cryptocurrency กับ Machine Learning แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตรงกันข้ามถ้าสิ่งไหนที่เราไม่เข้าใจ อีซีจี-รีเซิร์ช จะไม่ว้าว ฉะนั้นจะเลือกลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ และจะทำให้เราชนะตลาดได้”



   

     หากจะอธิบายรูปแบบการลงทุนให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นของอีซีจี-รีเซิร์ช พัทธ์ชลิตบอกว่าง่ายๆ คือ อีซีจี-รีเซิร์ช จะเลือกลงทุนในธุรกิจอะไรก็ได้ที่สามารถให้ผลตอบแทนไม่ผันผวนในระดับที่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเขาจะเปิดเรดาร์ให้กว้างที่สุด ไม่ว่า Startup นั้นจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม


     “ยกตัวอย่างที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาคือ Startup ที่พัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่อังกฤษ ซึ่งเป็นรถแห่งอนาคตในการใช้พลังงานทางเลือก ถามว่าทำไมจึงต้องลงทุนกับ Startup รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มาจากอังกฤษ ก็เพราะว่ามันคือ Startup มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ดีที่สุดในโลก”



 

     อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกลงทุนใน Startup ไทยนั้น อีซีจี-รีเซิร์ชให้ความสนใจใน Startup ที่หลากหลายที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ ทั้ง อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ เฮลท์เทค พร็อพเทค ฯลฯ


     “เรามีระบบที่สนับสนุนการตัดสินใจในการเลือกลงทุน เราจะใช้ดาต้าเข้ามาช่วยว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุนในอะไร ระบบของเรามันฉลาดพอที่เมื่อเราใส่ข้อมูลลงไปแล้วจะประมวลออกมาเป็นสัญญาณบางอย่างให้กับเรา”
 





     ไม่ใช่แค่
VC แต่เป็น Value Creation 


     มากไปกว่าคำว่าเงินทุน อรศศิพัชร์ ศิริวรรณพร Business Development Director อีซีจี-รีเซิร์ช มองว่า การร่วมลงทุนใน Startup นั่นเสมือนการแต่งงาน ดังนั้น ในทุกการลงทุน อีซีจี-รีเซิร์ชจะกระโดดลงไปเป็น Co-founder กับ Startup ซึ่งด้วยกลไกที่มีของอีซีจี-รีเซิร์ช จะช่วยหาหนทางที่ดีที่สุดกับ Startup ได้


     “เราเป็นคนที่ชอบใส่รสชาติแปลกๆ ไปในงานที่ทำ ที่นี่เราไม่ใช่แค่ VC แต่คือ Value Creation ดังนั้น เราจะเป็นพาร์ตเนอร์กับ Startup เป็นทุกอย่างที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเรื่องเงิน การทำตลาดต่างประเทศ เราก็จะเป็นสปริงบอร์ดช่วยให้เขาไปต่างประเทศให้ได้”


    อย่างไรก็ตาม พัทธ์ชลิต  เชื่อว่า Startup คือ ฮีโร่ของสังคมที่แท้จริง การทำ Startup เป็นสงครามชีวิตที่ยาว ทุกคนคิดทุกคนทำงานหนัก และหวังว่า Startup ไทยจะสามารถเป็นยูนิคอร์นที่เป็นตัวอย่างตัวขึ้นมาให้ Startup เพื่อจะเกิดกระบวนการ Empower คุณค่าทางสังคม ซึ่งเขาคาดหวังสิ่งนี้กับ Startup ไทยมากกว่าจากคุณค่าทางการเงินด้วยซ้ำ


     “Mindset ของคนในประเทศตรงกันข้ามกับการ Empower  เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เทคโนโลยีใหม่จากการต่อยอดเทคโนโลยีเก่า นั่นคือกระบวนการ Empower แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้เทคโนโลยีใหม่จากการใช้เงินไปซื้อมันมาเมื่อนั้น Mindset ของคุณคือ Buyer ไม่ใช่ Maker แล้วเมื่อนั้นคุณจะต้องพึ่งพาต่างชาติอยู่ตลอดเวลา นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจลงทุนกับ Startup ไทย”
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup