Finanace
3 บทเรียนความล้มเหลวทางการเงินของ Tech Startup ในวิกฤตโควิด
Main Idea
- โดยปกติสถานะทางการเงินของ Tech Startup ค่อนข้างที่จะเปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้นการเจอกับภาวะวิกฤตโควิด-19 จึงทำให้พบกับปัญหาทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น
- และนี่คือจุดอ่อนทางการเงินของ Tech Startup และข้อแนะนำในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้สร้างความเสียหายทางธุรกิจในเกือบทุกอุตสาหกรรม แม้กระทั่งกลุ่ม Tech Startup ช่วงที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการหลายรายที่ต้องปิดกิจการลงไป ทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างท่องเที่ยวหรือได้รับผลกระทบทางอ้อม แม้แต่ Tech Startup ที่ได้รับการระดมทุนจากนักลงทุนยังไม่พ้นภาวะล้มละลายหรือแม้กระทั่งต้องลดจำนวนพนักงานลง นั่นเป็นเพราะสถานะทางการเงินของ Tech Startup ค่อนข้างที่จะ “เปราะบาง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเจอกับภาวะวิกฤตยิ่งทำให้พบกับความล้มเหลวได้ง่ายกว่าเดิม
เราไปดูกันว่าที่ผ่านมาจุดอ่อนทางการเงินของ Tech Startup มีเรื่องอะไรบ้างและหลังจากนี้ควรต้องปรับตัวอย่างไร
1. กระแสเงินสดต่อเดือนมักจะติดลบ
การที่ Tech Startup ได้รับเงินทุนสนับสนุนมาจากนักลงทุนซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่ากระแสเงินสดต่อเดือนที่หมุนเวียนภายในกิจการ ทำให้ Tech Startup ส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลในการใช้เงินลงทุน ต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องรักษากระแสเงินสดต่อเดือนให้เป็นบวกเสมอเพราะแหล่งเงินทุนมีจำกัด บางรายต้องกู้เงินมาลงทุนซึ่งมีภาระดอกเบี้ย บางรายใช้ทุนของตัวเองที่มีอย่างจำกัด
การที่มีเงินทุนใช้อย่างเหลือเฟือทำให้ Tech Startup ส่วนใหญ่ละเลยการรักษากระแสเงินสดต่อเดือนให้เป็นบวก แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก รายได้ที่หายไป ทำให้ Tech Startup ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรักษากระแสเงินสดต่อเดือนให้เป็นบวกเสมอ เพราะไม่รู้ว่านักลงทุนที่สนับสนุนอยู่ยังจะใส่เงินทุนให้อีกหรือไม่ในอนาคต
2. เน้นมาร์จินที่บางเฉียบ สนใจวอลลุ่มมากกว่าอัตรากำไร
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ Tech Startup โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดได้ไม่นานคือการเข้ามาเพิ่มมาร์เก็ตแชร์หรือยึดครองตลาดให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะดึงกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้งานมาไว้กับตัวเอง เงินทุนที่ได้มาจากนักลงทุนจึงถูกใช้ไปกับการทำการตลาดหรือลดราคาเพื่อดึงผู้ใช้งาน ทำให้อัตรากำไรอยู่ในระดับที่ต่ำ
แต่สถานการณ์หลังจากนี้ไป Tech Startup น่าจะต้องปรับตัวใหม่หันมาสนใจกับอัตรากำไรมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังไม่มีอะไรที่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าลูกค้าที่เราทุ่มตลาดดึงเข้ามาจะเป็นลูกค้าที่จ่ายค่าสินค้าและบริการให้กับเราในระยะยาว
3. การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่เกินความจริง
Tech Startup ที่มีขนาดใหญ่แล้วมักจะใช้วิธีเทคโอเวอร์หรือซื้อกิจการคู่แข่งในตลาดเข้ามาให้กิจการมีขนาดใหญ่ขึ้น บางครั้งการตีมูลค่าของสินทรัพย์อาจจะสูงเกินความจริง ไม่สมดุลกับรายได้ที่เข้ามาหลังการซื้อกิจการ ทำให้การลงทุนดังกล่าวกลับกลายมาเป็นภาระที่ต้องแบกรับในเวลาต่อมาแทนที่จะช่วยให้เกิดรายได้เพิ่ม
เชื่อได้ว่าโลกของ Tech Startup ในยุคหลังโควิดน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นไปได้ว่าอาจหมดยุคของการทุ่มเงินลงไปใน Tech Startup จำนวนมากเพื่อยึดครองตลาดโดยไม่สนใจวินัยทางการเงินอีกต่อไป และหันมาทำธุรกิจโดยอยู่บนหลักความเป็นจริงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการ Tech Startup ทุกรายต้องปรับแนวคิดตัวเองใหม่รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup