7 เหตุผลหลัก ที่ธุรกิจถูกปฏิเสธเงินกู้
การเริ่มต้นธุรกิจพร้อมกับคอยประคับประคองสถานะทางการเงินไปด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การทำความเข้าใจเรื่องการกู้เงิน โดยเฉพาะการกู้เงินครั้งแรกและจำเป็นต้องกู้ในช่วงเวลาที่เรามีปัญหานั้น ถือเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งกว่า เพราะถ้าเราไม่เตรียมพร้อม ไม่รู้ขั้นตอน ไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะปล่อยเงินกู้ที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นหนี้เสียอย่างแน่นอน
โดยจากผลสำรวจธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา พบว่า ธุรกิจ 45 เปอร์เซ็นต์ถูกปฏิเสธการกู้เงินมากกว่า 1 ครั้ง และอีก 23 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้ว่าทำไมธุรกิจของตนเองจึงถูกปฏิเสธ ดังนั้น เพื่อรับรู้ สร้างแนวทาง และเตรียมความพร้อม (ในกรณีที่จำเป็น) ในการกู้เงิน เรามาทำความเข้าใจสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจของเราถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินกันดีกว่า
1. ไม่มีแผนธุรกิจ
ถ้าเราเดินเข้าไปคุยกับธนาคารตัวเปล่าโดยปราศจากแผนธุรกิจ รับรองได้เลยว่าเราจะกลับมามือเปล่าเช่นเดียวกัน เพราะแผนธุรกิจสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงินลงทุนของเรา ธุรกิจวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายถูกต้องหรือยัง สินค้าและบริการจะตอบสนองความต้องการให้กับตลาดได้อย่างไร ธุรกิจตั้งเป้าหมายอย่างไร ช่องทางการจำหน่าย รวมถึงแนวทางการทำกำไรของเรา ยอดขายโดยประมาณซึ่งมีแนวโน้มว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ ไม่ขาดทุน และสามารถนำเงินมาคืนให้กับธนาคารได้มากน้อยแค่ไหน
2. ขาดเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ (Cash Flow)
นอกจากแผนธุรกิจแล้ว สิ่งที่ผู้ให้กู้ยืมเงินต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างละเอียดก็คือ ความสามารถในการชำระเงินคืนของเราในแต่ละเดือน ดังนั้น ถ้าดูแล้วธุรกิจของเรามีปัญหาสภาพคล่องด้านการเงิน มีเงินหมุนเวียนเพียงไม่กี่เดือน บริหารจัดการสินค้าไปขายไม่ได้ มีสินค้าในสต็อกเต็มไปหมด ซึ่งการมีสินค้าในสต็อกหมายความว่า ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรและเป็นเงินจม ก็มีโอกาสถูกปฏิเสธสูงตามไปด้วย
3. ขาดหลักประกัน
ยังคงเป็นเรื่องเงินอยู่ดี เพราะผู้ให้กู้ย่อมไม่เต็มใจเสี่ยงต่อการให้ยืมเงินแล้วปราศจากสิ่งยืนยันว่า เราจะสามารถชำระเงินคืนได้ ดังนั้น ผู้ให้กู้มักมองหาหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เช่น ที่ดิน บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม เป็นต้น หรือรวบรวมทรัพย์สินที่เป็นทั้งส่วนตัวและทรัพย์สินในการประกอบธุรกิจมานำเสนอเป็นหลักประกันก็ได้ ซึ่งการมีเอกสารหลักทรัพย์ค้ำประกันจะช่วยให้ธุรกิจของเรามีโอกาสกู้เงินได้ประสบความสำเร็จสูงขึ้น
4. ธุรกิจของเราเป็นน้องใหม่ หรือเพิ่งเริ่มต้นไม่กี่เดือน
ความจริงที่โหดร้ายของแวดวงธุรกิจก็คือ ผู้ที่ให้กู้เงิน ต้องการเห็นความต่อเนื่องของรายได้ เห็นความตั้งใจที่อดทนฟันฝ่าธุรกิจมาอย่างยาวนาน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีประสบการณ์อยู่ในตลาดมาบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นน้องใหม่ในวงการธุรกิจ โอกาสได้รับเงินทุนจะน้อยลงอย่างมาก อาจต้องมองหาการระดมทุนด้วยวิธีอื่น เช่น Crowdfunding เป็นต้น ยกเว้นว่าเราเป็นธุรกิจใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงที่ได้รับการจับตามองจากหลายๆ หน่วยงาน มีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ก็จะช่วยให้ภาษีและหน้าตาของธุรกิจเราดีขึ้น
5. มีหนี้สินพะรุงพะรัง
หากธุรกิจของเราหรือเจ้าของธุรกิจ มีหนี้สินอยู่มากมาย หรือเสียประวัติติดแบล็กลิสต์อยู่จนถึงปัจจุบัน ผู้ให้กู้เงินจะมีความกังวลเป็นอย่างมาก ดังนั้น พยายามบริหารและใช้เงินอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้องค์กรและตัวเองอยู่ในความเสี่ยง
6. เหตุผลในการกู้เงิน ไม่สมเหตุผล
คำถามหลักเลยก็คือ คุณกู้เงินเพราะอะไร เป็นเพราะคุณต้องการซื้ออุปกรณ์สำนักงานที่ฟุ่มเฟือย หรือสร้างบารมีให้กับตัวเองและพนักงานในองค์กรด้วย Apple Watch หรือเปล่า ในความคิดของเราอาจเป็นเรื่องดี อาจทำให้หลายๆ คนสนใจจนกลายเป็นกระแสทางโซเชียลมีเดีย แล้วยอดขายอาจจะตามมา แต่คำว่า “อาจ” ย่อมไม่สามารถใช้เป็นเหตุผล หรือแรงจูงใจในการอนุมัติเงินกู้ให้กับเรา เพราะผู้ให้กู้ยืมเงิน ต้องการมั่นใจเพียงแค่ว่าเราสามารถหาเงินมาคืนให้กับเขาได้หรือไม่เท่านั้นเอง
ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักในการกู้ยืมเงิน จึงควรเป็นเรื่องของการซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ ซื้ออุปกรณ์การผลิตที่สำคัญ เช่น เครื่องซีลสุญญากาศ หม้อนึ่งความดัน ซอฟต์แวร์ที่ช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการ เงินลงทุนบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เป็นต้น
7. ปัจจัยภายนอกมีความเสี่ยงสูง
เรื่องนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราแล้วละ เพราะบางครั้งเงื่อนไขภายนอก เช่น สภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินบาท หรือเราอาจทำบริการขนส่ง แต่ช่วงเวลานั้น ค่าเชื้อเพลิง และก๊าซที่ใช้สำหรับขนส่งกลับขยับราคาสูงขึ้นและมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และหากผู้ให้กู้เงินเห็นว่าไม่ควรให้กู้ในช่วงเวลาดังกล่าว คำขอของเราย่อมถูกปฏิเสธไปโดยปริยาย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup