Finanace
3 กฎเหล็ก พร้อมรับมือกระแสเงินสดขาดมือ
ความน่าปวดหัวของการไม่มีเงินมาใช้จ่ายในการทำธุรกิจ หรือชักหน้าไม่ถึงหลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้อย่างตรงเวลา พลาดการชำระหนี้จนต้องเสียดอกเบี้ยหรือค่าปรับเพิ่ม และอีกหลายต่อหลายเหตุผล ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจหลายต่อหลายแห่งต้องปิดกิจการลง แล้วเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะระมัดระวังตัวไม่ให้กระแสเงินสดต้องสะดุดตัวลงได้อย่างไร มาดูกลวิธีเหล่านี้กัน
1. มองหาแหล่งเงินกู้สำรองฉุกเฉิน
แม้ว่าในปัจจุบัน กระแสเงินสดของเราจะยังไม่ติดขัด แต่การทำธุรกิจย่อมไม่ราบเรียบเสมอไป ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำการบ้านโดยการหาข้อมูลและรายละเอียดแหล่งเงินกู้ประเภทต่างๆ เอาไว้เผื่อมีเรื่องให้ต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน จะได้สามารถแก้ปัญหาให้กับธุรกิจได้ทันท่วงที วิธีนี้เปรียบเสมือนการเตรียมแผนรับมือเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งย่อมดีกว่าเราไม่มีแผนอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเงื่อนไขหรือสัญญาลับของการกู้ยืมเงินฉุกเฉินให้ดี เพราะผู้ให้กู้ยืมเงินบางแห่งปล่อยเงินกู้ง่าย แต่ดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขการชำระเงินก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน
2. ทำธุรกิจด้วยนโยบายเชิงรุก
เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการหาลูกค้า ส่งสินค้าไปขาย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่ามีคุณค่ามากกว่าการมานั่งสนใจหรือคอยดูแลกระแสเงินสด เพราะเรามักให้เวลาและความสำคัญกับการทำธุรกิจมากกว่านั่นเอง แต่หากมองในมุมกลับ เราจะมีสมาธิทำธุรกิจได้อย่างไร หากต้องคอยแก้ปัญหาการเงินที่รุมเร้าไม่หยุดหย่อน
ดังนั้น หากธุรกิจของเรายังไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดขาดมือ ควรรีบดำเนินธุรกิจในเชิงรุก หาโอกาสในการขาย หาช่องทางในการทำเงิน เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร เพราะไม่ว่าเราจะมีพนักงาน 1 คน หรือ 1,000 คน ธุรกิจอย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยเงินอยู่ดี ไม่ใช่นั่งทำงานเงียบๆ ในออฟฟิศอย่างเดียว รอเวลาประชุม สั่งงาน และรอดูผลงาน
3. รู้จักทางเลือกของตัวเอง
ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์จะรู้ดีว่าหากธุรกิจขนาดเล็กขาดเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ หรือกระแสเงินสดเริ่มขาดมือเกิน 3 เดือน ก็เตรียมตัวสะกดคำว่า “เจ๊ง” กันได้เลย แต่ก่อนที่จะถึงจุดวิกฤต เรายังมีทางเลือกในการช่วยแก้สถานการณ์ได้ 3 ทาง ดังนี้
3.1) เสนอส่วนลดให้ผู้ขาย หรือผู้แทนจำหน่าย หากรู้ตัวว่าเงินสดในมือเริ่มร่อยหลอ อาจเพราะติดช่วงเทศกาล หรือหยุดยาว ทำให้คนสั่งของน้อย ตัวแทนจำหน่ายก็ทำการตลาดไม่รุ่ง หรือขายได้ไม่ค่อยดี ลองปรับกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการมอบส่วนลดพิเศษ 10 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายที่ชำระเงินทันทีที่สั่งสินค้าจากเรา หรือหากชำระเงินก่อนครบกำหนดในใบส่งของ (Invoice) จะลดราคาสินค้าให้ 2-5 เปอร์เซ็นต์
3.2) วงเงินสินเชื่อทางธุรกิจ ในกรณีที่มีโอกาสขยายตัวทางธุรกิจ แต่เงินไม่พอ วงเงินสินเชื่อทางธุรกิจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจซึ่งจะช่วยให้เราบริหารจัดการเงินได้คล่องตัวขึ้น
3.3) ใช้บริการแฟ็กทอริ่ง (Factoring) แฟ็กทอริ่ง หรือ แฟ็กทอริ่งคอมพานี (Factoring Company) คือ การซื้อ-ขายลูกหนี้ทางการค้า โดยเราส่งมอบใบกำกับสินค้าให้กับ Factoring Company ซึ่งปกติแล้ว Factoring Company จะจ่ายเงินสดให้กับเราล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง และเมื่อ Factoring Company ทวงติดตามการชำระเงินกับลูกหนี้ได้ครบแล้วจึงจะให้เงินอีกส่วนกับเราโดยหักค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนไป วิธีนี้เราไม่ต้องเหนื่อยทวงเงินเอง แถมยังได้เงินส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายให้เกิดสภาพคล่องให้กับองค์กรได้ด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี