Finanace

​5 กับดัก ฉุดรั้งธุรกิจจนไม่เหลือกำไร

Text : เจษฎา ปุรินทวรกุล


 

    ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจคงอยู่ได้คือสิ่งที่เรียกว่า “กำไร” แต่เชื่อหรือไม่ว่า ธุรกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่มักปิดตัวลงภายในไม่กี่ปีแรก เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้มีกำไรได้เพียงพอ การขาดทุนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ตลกหรือน่าหัวเราะเยาะ เพราะแม้แต่ธุรกิจที่มีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างดีก็ยังมีโอกาสประสบปัญหาเรื่องการขาดทุนหรือผลกำไรน้อยกว่ารายจ่ายได้ โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้เราไม่มีกำไรเหลือเลยก็คือ
 
    1. ตั้งราคาต่ำ
     การตั้งราคา นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในการทำธุรกิจของเราเอง ซึ่งการตั้งราคาจะสามารถกำหนดความสำเร็จในอนาคตได้ด้วย แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักตั้งราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินคู่แข่ง เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของตนเองมากกว่า โดยลืมคิดเรื่องต้นทุนของตัวเองว่า จริงๆ แล้วสูงกว่าคู่แข่งหรือไม่ แถมผู้ประกอบการบางคนยังตั้งราคาต่ำเกินไปจนเหลือกำไรน้อยมาก ดังนั้น ก่อนที่จะตั้งราคาจึงควรพยายามคำนวณต้นทุนอย่างระมัดระวัง และไม่ต้องกลัวที่จะตั้งราคาสินค้าที่มีคุณภาพและการบริการที่ดีในราคาที่สูง เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิ่งที่มีคุณภาพมากกว่า

    2. ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป
     ใครๆ ก็อยากให้ธุรกิจและภาพลักษณ์ขององค์กรออกมาดี แต่การลงทุนที่มากเกินไปย่อมทำให้เกิดค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณเพิ่งเริ่มธุรกิจด้วยพนักงาน 3 คน แต่กลับต้องการออฟฟิศบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่มาใช้ ทั้งๆ ที่สามารถซื้อขนาดเล็กแต่มีคุณภาพเหมาะสมต่อกำลังการผลิตในปัจจุบัน หรือแทนที่จะเช่ารถในการขนส่งสินค้าแต่กลับซื้อรถป้ายแดงมาใช้แทน หรือแม้แต่การตกแต่งออฟฟิศจนสวยหรูด้วยเงินผ่อน ตลอดจนการตั้งเงินเดือนที่สูงเกินไปของพนักงานและของตัวเราเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เรามีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงมากๆ เพราะฉะนั้นพยายามคิดให้รอบคอบเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย และอะไรที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เพราะหากค่าใช้จ่ายสูงก็ไม่ต่างกับเราขุดหลุมฝังธุรกิจของตัวเองทั้งเป็น

    3. ถูกค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นเล่นงาน 
     ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นคือ ค่าวัสดุสิ้นเปลืองในสำนักงาน ดินสอ ปากกา และค่าหมึกพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีค่าภาษีรายปี ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ค่าสินค้าเสียหาย เช่น ผลิตมาได้ 100 ชิ้น แต่ระหว่างขนส่งจนถึงช่องทางจำหน่ายสุดท้ายก่อนถึงมือลูกค้า สามารถนำไปวางขายได้เพียง 90 ชิ้น โดยอาจเสียหายตั้งแต่กระบวนการผลิต ระหว่างการขนส่ง สินค้าชำรุด และสุดท้ายสูญหายจากการถูกขโมยที่ร้านค้า ทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นสามารถดูดกำไรเราไปได้อย่างมหาศาล

    4. การแข่งขันที่รุนแรง
     บางครั้งเราก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้และมีกำไรเหลือในระดับหนึ่ง แต่วันหนึ่งโชคกลับไม่เข้าข้างเราเมื่อต้องมาเจอกับคู่แข่งที่มีเงินลงทุนสูงกว่า ซึ่งสามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า แถมยังขายสินค้าราคาต่ำกว่าเราโดยคุณภาพใกล้เคียงกัน หรือคู่แข่งผลิตสินค้าออกมาขายในราคาเท่ากับเรา แต่ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่า ไม่ต้องบอกก็คงจะพอรู้ผลลัพธ์ว่าในระยะยาว ใครจะมียอดขายสูงกว่ากัน วิธีการแก้ไขคือ พยายามสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพ วัตถุดิบ และประสบการณ์ด้านบริการ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงความแตกต่างอยู่เสมอ  

     5. ไม่มีใครรู้จักสินค้าของเรา
     ก่อนหน้านี้ประมาณ 10 กว่าปีก่อน ไม่มีใครรู้สรรพคุณของชาเขียว และผู้ประกอบการรายแรกที่ผลิตน้ำชาเขียวขึ้นมาขายก็ต้องพบกับความเหน็ดเหนื่อยในการสร้างการรับรู้ (Perception) ให้ความรู้ตลาด (Educate) ว่า ชาเขียวคืออะไร มีข้อดีหรือสรรพคุณอย่างไร ตลอดจนพยายามสร้าง Story ของชาเขียวต่างๆ นานา ซึ่งกว่าเจ้าชาเขียวจะติดฮอตฮิตติดตลาดได้ก็ใช้เวลาขับเคี่ยวอยู่นานพอสมควร เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าสินค้าของเราจะดีเลิศแค่ไหน ราคาเหมาะสมกับลูกค้า แต่ถ้าตลาดไม่รู้จัก ก็จะไม่กล้าซื้อ หรือซื้อน้อย ส่งผลให้เกิดกำไรที่น้อยตามไปด้วย เราจึงจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องการตลาดและการโฆษณา เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
 
     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเรามีกำไรน้อยลง เพราะในความเป็นจริงยังมีปัญหาในการทำธุรกิจอีกหลายแง่มุมที่พร้อมจะพลิกกำไรให้กลายเป็นขาดทุนอยู่ตลอดเวลา เช่น กำหนดกลุ่มเป้าหมายผิด ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปจนรับมือไม่ทัน เราจึงควรมีแผนธุรกิจ และแก้ปัญหาไปทีละข้อๆ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี