Digital Marketing

เปิดกลยุทธ์ AUTOPAIR ทำยังไงถึงได้ทุนสนับสนุน Pre-Series A จากเครือซัมมิท ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในไทย




     นับว่าเป็นข่าวดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซาเมื่อ บริษัท Autopair Co. Ltd (Autopair) บริษัทให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์ (SaaS: Software-as-a-Services) ด้านการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ออนไลน์และระบบบริหารอู่ซ่อมรถยนต์แบบครบวงจร ได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ว่าบริษัทได้ระดมทุนในระดับ Pre-Series A สำเร็จ จากบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย การเข้าลงทุนนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี ได้เข้าลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยียานยนต์อีกด้วย


     โดยก่อนหน้านี้ Autopair ยังเคยได้ระดมทุนถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2561 ในรอบ Seed ที่จัดขึ้นโดยกองทุน KK Fund ซึ่งเป็น Venture Capital จากประเทศสิงคโปร์
 

     สันติ วจนพานิช ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของ Autopair ได้เปิดเผยว่า Autopair ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมหลังการขายกลุ่มยานยนต์ไปสู่รูปแบบดิจิทัล โดยใช้แพลตฟอร์มการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ออนไลน์ ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนสินค้า (SKUs) รูปแบบเสมือนมากกว่า 50,000 รายการ และให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์ของบริษัทใน 29 จังหวัดของไทย



 
     ผู้บริหารหนุ่มเปิดเผยต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ Autopair มุ่งเน้นการให้บริการแพลตฟอร์มการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ออนไลน์ประเภท B2B (ประเภทธุรกิจกับธุรกิจ) ใน 29 จังหวัดของไทย เงินทุนใหม่ที่ได้รับมานี้เพื่อช่วยให้อู่ซ่อมรถอิสระประมาณ 1,000 แห่ง เปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบบริหารอู่แบบครบวงจรที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ โดยการนำโซลูชั่น SaaS ที่มีระบบบริหารอู่ซ่อมรถยนต์แบบครบวงจร มีคุณลักษณะเด่น เช่น  “ระบบจัดซื้ออัจฉริยะ” (Smart Procurement) และ “ระบบอู่ซ่อมรถอัจฉริยะ” (Smart Workshop) ช่วยให้อู่ซ่อมรถทำงานแบบเป็นระบบดิจิทัล มาขยายขนาดและปรับใช้ ทำให้ Autopair สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการจัดซื้อและการบริหารค่าใช้จ่ายของอู่ซ่อมรถเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
 

    ถึงแม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศจะตกต่ำลงซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด -19 แต่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ก็ได้รับการชดเชยด้วยความต้องการการบำรุงรักษารถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอู่ซ่อมรถอิสระกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้อย่างเต็มที่เนื่องจากพวกเขาต่างดำเนินการกิจการในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในรูปแบบที่ยังล้าสมัยและขาดประสิทธิภาพ
 

     เพื่อช่วยให้อู่ซ่อมรถได้มุ่งเน้นไปที่การให้บริการบำรุงรักษาได้อย่างเต็มที่แทนที่จะเสียเวลาไปกับการจัดหาชิ้นส่วน บริษัท Autopair พยายามเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานไปสู่รูปแบบดิจิทัล โดยแพลตฟอร์มการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ออนไลน์นั้นทำหน้าที่เป็นคลังอะไหล่มากกว่า 50,000 รายการ ตลอดจนการบริการจัดส่งชิ้นส่วนแบบไร้สัมผัสภายใน 90 นาทีในกว่า 29 จังหวัดได้ในราคาย่อมเยา





     ในขณะที่ระบบบริหารอู่รถยนต์แบบครบวงจร ซึ่งเป็นโซลูชั่น SaaS ใหม่ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการจัดวางตารางนัดหมาย ติดตามการจัดส่ง และจัดการประสิทธิภาพการทำงานและอัตรากำไร ตลอดจนการบริการเครื่องมือเพื่อบริหารจัดการด้านสินค้าคงคลัง และด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เพื่อการประมาณการค่าใช้จ่ายและออกเอกสารให้แก่ลูกค้า  ด้วยการติดตั้งใช้งานโซลูชั่นนี้ที่ไม่ต้องมีสัญญาหรือค่าใช้จ่ายแอบแฝงใดๆ
 


     ผู้บริหารหนุ่มเผยต่อไปว่า Autopair มีอัตราการเติบโตประจำปี (CAGR) ที่สูงกว่า 385 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการแพลตฟอร์มกับคู่ค้าชั้นนำในอุตสาหกรรม อาทิ Bridgestone Corporation, Toyo Tyres, Nitto Automotive Inc. และ Nankang Tyres


     บริษัทฯ มุ่งหวังในการเร่งเป้าหมายในการให้บริการแก่อู่ซ่อมรถอิสระทั่วประเทศไทยให้ได้ถึง 10,000 แห่ง ภายในปี 2567 และวางแผนที่จะขยายไปยังตลาดยานยนต์ที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย


     “มูลค่าตลาดสำหรับการบำรุงรักษารถยนต์ของอู่ซ่อมรถ ถูกประมาณไว้ที่มากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา โดยปกติกลุ่มธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ประเภท Chain Store จะครองส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 10 แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในขณะที่อู่ซ่อมรถอิสระที่ครองส่วนแบ่งร้อยละ 80 ในปัจจุบันจะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาจะยังสามารถแข่งขันได้หากพวกเขามีสามารถที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี  มันจึงเป็นพันธกิจของ Autopair ในการจัดหาเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพวกเขา การสนับสนุนจากบริษัท ซัมมิท โอโต้บอดี้ อินดัสตรี เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของพันธกิจนี้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลังการขายของกลุ่มยานยนต์ของไทยไปสู่ยุคดิจิทัล”


      ด้านกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริษัท ซัมมิท โอโต้บอดี้ อินดัสตรี ได้เปิดเผยว่า “ในฐานะผู้นำของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตยานยนต์ในอาเซียน เราตระหนักถึงความจำเป็นในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างรวดเร็วและความต่อเนื่องของรูปแบบธุรกิจรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนในห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนในปัจจุบัน กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการร่วมเกาะไปกับกระแส disruption มากกว่าที่จะไปต่อต้าน  Autopair ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหลังการขายของกลุ่มยานยนต์เป็นรูปแบบดิจิทัลในปัจจุบันทำให้เราสามารถเชื่อมต่อเข้าถึงภาคอุตสาหกรรมและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี เราเชื่อว่าเราสามารถช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของ Autopair ให้ก้าวไปข้างหน้าได้”
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup